คาร์บอนต่ำ กับต้นทุนที่ต้องจ่าย

คาร์บอนต่ำ
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

หลายคนอาจจะคิดว่าเรื่องการออกแบบธุรกิจให้ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องไกลตัว และยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องรีบปรับ

แต่คุณคิดผิด

เพราะทุกองศาเซลเซียสที่โลกร้อนเพิ่มขึ้น จะไม่ใช่แค่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นบนรีโหมด เหมือนการปรับแอร์ในห้อง แต่อุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียสที่้เพิ่มขึ้นจะทำให้โลกร้อนขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ขาดความมั่นคงทางอาหาร และราคาอาหารปรับสูงขึ้น

และยิ่งหากโลกร้อนขึ้น 2 องศาเซลเซียส น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ความสมดุลทางธรรมชาติหายไป มีผลต่อสัตว์น้ำในทะเล มีผลต่อพายุที่เกิดถี่ขึ้น อาจจะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วม น้ำแล้ง อาหาร สภาพชีวิตความเป็นอยู่ และลูกหลานเราในอนาคต

ที่ผ่านมา คำว่า “ภาวะโลกร้อน” ได้รับการพูดถึงเหมือนแฟชั่น แต่ตอนนี้สภาวะโลกร้อนนั้นได้แปรเปลี่ยนไปแล้ว สหประชาชาติประกาศภาวะใหม่ที่รุนแรงกว่า เรียกว่า “โลกเดือด” ซึ่งมาจากผลพวงของมนุษย์ที่ทำกิจกรรมหลายอย่างที่เป็นสาเหตุของการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น บางช่วงเวลาอยู่ในระดับ 1.5 องศาเซลเซียส จึงนำมาสู่การวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระยะแรก คือการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน หมายถึงปล่อยเท่าไรก็ต้องหาทางดูดกลับให้ได้เท่านั้น และเป้าหมายสูงสุดระยะถัดไป คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero )

โดยขณะนี้แต่ละประเทศได้เริ่มวางมาตรการเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ซึ่งสหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศแรกที่ประกาศนโยบาย European Green Deal และมีการออกกฎหมายต่อเนื่องมาประมาณ 13-14 ฉบับแล้ว และล่าสุดได้เริ่มบังคับใช้มาตรการที่เรียกว่า carbon border adjustment mechanism (CBAM) โดยกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้า 6 กลุ่มคือ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน ต้องแจ้งปริมาณสินค้าที่นำเข้ามาในอียู และปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในกระบวนการผลิตสินค้า หรือคาร์บอนฟุตพรินต์ ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2566-31 ธ.ค. 2568

จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 ผู้นำเข้าจะต้องซื้อ “ใบรับรอง CBAM” ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เช่นนั้นจะมีบทลงโทษ

มองอย่างตื้นเขินจะบอกว่า มาตรการนี้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ยังไม่กระทบกับไทย เพราะใช้บังคับแค่สินค้า 6 รายการ มูลค่าน้อยนิด เพียงแค่ 1.5% ของการส่งออกเท่านั้น

แต่ข้อเท็จจริงคือ ตอนนี้บริษัทเอกชนไทยโดยเฉพาะเอสเอ็มอีแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารายละเอียดของมาตรการเป็นอย่างไร

และในรายละเอียดยุ่งยาก ยุบยับ เช่น บางสินค้าแจ้งรายงานโดยตรง เฉพาะการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต แต่บางสินค้าต้องรายงานการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ เช่น ไนตรัสออกไซด์ และต้องรายงานทั้งการปล่อยทางตรงและทางอ้อมจากกระบวนการผลิต และทางอ้อมจากการใช้วัตถุดิบ หรือการใช้พลังงานที่นำมาจากแหล่งอื่น

นอกจากความยุ่งยากซับซ้อนแล้ว ยังมีอุปสรรคในเรื่องของต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการจ้างบริษัทผู้ตรวจรับรอการปล่อยคาร์บอน และการออกใบรับรองการปล่อยคาร์บอนฟุตปรินต์จะมีต้นทุนต่อชนิดสินค้า 1 ขนาดเป็นหลักแสนบาท แล้วอนาคตจะทำอย่างไร

แล้วที่ซับซ้อนไปกว่านั้นคือ สภาพยุโรปกำหนดว่า หากประเทศใดจะขอส่วนลดการออกใบอนุญาต CBAM จะต้องผ่านเกณฑ์เงื่อนไข 2 ข้อคือ ประเทศต้นทาง (ไทย) ต้องมีระบบการตลาดคาร์บอนภาคบังคับในระบบเดียวกับที่อียูใช้ในปัจจุบัน

และอียูใช้ราคากลางในตลาดคาร์บอนอียูที่คิดอยู่ที่ 3 ยูโรต่อตันคาร์บอน หรือไทยต้องมีการร่าง “กฎหมายเพื่อเก็บภาษีคาร์บอน”

แน่นอนว่าตอนนี้ไทยไม่มีสิทธิได้รับส่วนลด เพราะตอนนี้ไทยยังไม่มีการปฏิบัติทั้ง 2 เงื่อนไขเลย ตลาดคาร์บอนของไทยปัจจุบันเป็นตลาดซื้อขายเสรี เป็นแบบที่อียูยังไม่ยอมรับ จนกว่าใครจะมีการแก้ไขทั้ง 2 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเกี่ยวข้องกับกระทรวงถึง 4 หรือ 5 กระทรวง เช่น ถ้าจะทำเรื่องภาษีก็จะเกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง แต่ถ้าจะทำเรื่องการคำนวณมาตรฐานการปลดปล่อยคาร์บอนก็จะเกี่ยวกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือถ้าจะคำนวณเรื่องการลดภาษีนำเข้า หรือการเจรจาการค้า ก็จะเกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น

ไทยจึงเหลือเวลาเพียงแค่ 3 ปีเท่านั้นที่จะทำทุก ๆ เรื่อง และในช่วง 3 ปีนี้ไม่แน่ว่าอาจจะมีประเทศอื่นที่นอกเหนือจาก EU ประกาศใช้มาตรการคล้ายกัน เพราะขณะนี้สหรัฐหรือจีนก็เริ่มมีการส่งสัญญาณว่าจะใช้กฎหมายในลักษณะเดียวกันแล้ว

เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ยังอยู่ไกลมาก และยาวนาน จนคนที่วางมาตรการในวันนี้อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นความสำเร็จในวันนั้น แต่มากไปกว่าการคำนวณต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ว่าคุ้มค่าในเชิงธุรกิจหรือไม่ คือการส่งต่อโลกในอนาคตให้คนรุ่นถัดไป และอย่าลืมว่าเรามีโลกอยู่แค่ใบเดียว