Telegram แพลตฟอร์ม ในแดนสงครามและความขัดแย้ง

Telegram
PIXABAY
คอลัมน์ : Tech Times 
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ฮามาสถูกหมายหัวว่าเป็นผู้ก่อการร้ายทั้งในอเมริกาและยุโรป ทำให้ไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียขนาดใหญ่อย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ในการกระจายข่าวสารได้

แต่มีแพลตฟอร์มหนึ่งที่ยังอนุญาตให้ฮามาสใช้ในการสื่อสารและเผยแพร่ข้อมูลได้ แพลตฟอร์มนั้นคือ Telegram

Telegram เป็นแพลตฟอร์มที่มีบทบาทสูงมากในสงครามรัสเซีย-ยูเครน เพราะเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลของทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านสงคราม

ชาวรัสเซียที่ต่อต้านสงครามใช้ Telegram เป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็น ในขณะที่ชาวยูเครนใช้มันเพื่อเตือนภัยและระดมทุนและขอความช่วยเหลือจากภายนอก

ที่สำคัญ Telegram ยังได้รับการยอมรับจากสื่อนานาชาติหลายสำนักในฐานะเป็น “หน้าต่าง” ที่เปิดให้ชาวโลกได้มีโอกาสเกาะติดสถานการณ์ในพื้นที่ในยามที่สื่อกระแสหลักโดนทางการเซ็นเซอร์อย่างหนัก

เหตุการณ์เดียวกันนั้นกำลังเกิดขึ้นในสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส

เพราะในขณะที่ถูกปิดกั้นจากแพลตฟอร์มอื่น กองพลน้อยอัล-กอสซัม (Al-Qassam Brigades) ของกลุ่มฮามาส ก็ใช้ Telegram เป็นสื่อกลางในการติดต่อกับสาวกและผู้สนับสนุน

จากรายงานของ Atlantic Council’s Digital Forensic Research Lab พบว่าตั้งแต่ปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลเริ่มขึ้น ช่องหรือแชนเนลของกลุ่มอัล-กอสซัม บน Telegram มียอดวิวคลิปเพิ่มขึ้นถึงสิบเท่า โดยยอดวิวเฉลี่ยต่อคลิปเพิ่มจาก 25,000 วิวเป็น 300,000 วิว ในขณะที่ยอดฟอลจากเดิมที่มีอยู่ 2 แสน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 6 แสน แต่ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มฮามาสทั้งหมด เพราะมีนักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยที่ฟอลกลุ่มนี้อยู่เพื่อเกาะติดสถานการณ์

ไบรอัน ฟิชแมน อดีตหัวหน้าทีมต่อต้านการก่อการร้ายของ Meta บอกว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ Telegram สามารถเป็นเครื่องมือสร้าง propaganda ที่มีประสิทธิภาพ เพราะสามารถกระจายข้อความได้อย่างรวดเร็ว และคนที่รับสารยังสามารถแชร์ต่อผ่านโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เช่นเดียวกับที่ ISIS ทำ

จุดเด่นของ Telegram คือ ไม่มีทีมกลั่นกรองเนื้อหา ไม่มีการใช้อัลกอริทึมเพื่อดันคอนเทนต์ และไม่มีโฆษณา ใครก็สามารถเปิดแชนเนลได้ ตราบใดที่ไม่ใช่สแปมหรือสื่อลามก

การเป็นแพลตฟอร์มที่ “เปิดกว้าง” และแทบไม่มีการกำกับดูแลใด ๆ ทำให้ Telegram กลายเป็นดาบสองคม ขึ้นกับว่า มองจากมุมของใคร

หากมองในมุมของนักเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการทั้งในอิหร่าน เบลารุส หรือฮ่องกง Telegram เป็นหนึ่งในไม่กี่ช่องทางที่สามารถใช้กระจายข่าวหรือสื่อสารได้

หรือมองในมุมของนักสิทธิมนุษยชน Telegram คือ เครื่องมือในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ประสบภัยในเขตสงครามหรือพื้นที่ที่มีการใช้ความรุนแรง

และหากมองในมุมของประชาชนที่เป็นเหยื่อสงคราม Telegram อาจเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่เปิดให้ใช้ขอความช่วยเหลือจากโลกภายนอก

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามองในมุมของรัฐเผด็จการ Telegram ก็สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อที่ทรงประสิทธิภาพได้เช่นกัน หรือกลุ่มผู้ก่อการร้าย ก็คงชอบใช้ Telegram เพราะสามารถขยายเครือข่ายได้ไม่จำกัด อีกทั้งยังสามารถเผยแพร่ลัทธิความเชื่อและเฟกนิวส์ได้ง่าย เพราะไม่มี content moderator คอยสอดส่อง

บทบาทของ Telegram ในสงครามหรือในประเทศที่มีความขัดแย้งสูง (ไม่เว้นแม้แต่อเมริกา ที่ Telegram ถูกใช้โดยฝ่ายขวาจัดคลั่งชาติอย่างแพร่หลาย) จึงมีความน่าสนใจในหลายมิติ

ทั้งนี้ Telegram ก่อตั้งโดยพาเวล ดูรอฟ หรือ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แห่งรัสเซีย” ในปี 2013 โดยมีสำนักงานใหญ่ในดูไบ

Telegram เริ่มเป็นที่นิยมของชาวรัสเซียในช่วงโควิด แต่พีกสุดช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีการเซ็นเซอร์สื่อและปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊ก/ทวิตเตอร์

แม้จะเป็นแพลตฟอร์มที่มีทีมงานไม่เกิน 30 คน Telegram มี active users กว่า 700 ล้านคนทั่วโลก และเจ้าของแชนเนลบางคน ยังทำหน้าที่แทน “สื่อ” ที่โดนแบนหรือเซ็นเซอร์ได้อย่างดีอีกด้วย เช่น “Rybar” หนึ่งในแชนเนลบน Telegram ที่รายงานข่าวสงครามอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแหล่งข้อมูลหลักของสื่อใหญ่อย่าง CNN หรือ Bloomberg และมีผู้ติดตามกว่า 1.2 ล้านคน

Telegram ระบุว่า ตัวเองเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นกลางและปฏิบัติกับทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางการเมือง นอกจากนี้ยังอ้างว่าตนเองมีบทบาทอย่างสูงในการเรียกร้องประชาธิปไตยในหลายประเทศ

และแม้จะโดนกดดันให้ปิดช่องของกลุ่มฮามาส แต่ “พาเวล ดูรอฟ” ได้โพสต์ว่า Telegram คือ ช่องทางที่ฮามาสใช้เพื่อเตือนให้ชาวบ้านหาที่หลบภัยก่อนมีการโจมตี พร้อมถามกลับว่า การปิดช่องทางสื่อสารนี้ไป จะช่วยหรือซ้ำเติมผู้คนกันแน่

อย่างไรก็ตาม ก็คงไม่มีรายงานว่าเขาได้รับคำตอบหรือไม่ เช่นเดียวกับที่โลกไม่เคยได้คำตอบจากผู้กระหายสงครามทั้งหลายว่า ทำไมต้องเป็นประชาชนที่เสียสละเลือดเนื้อทุกครั้ง พวกเขาได้อะไรจากสงครามเหล่านี้ นอกจากความสูญเสียและความตาย