ส่งออกข้าวไทยคึกคักส่งท้ายปี 2566 แต่ยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง

ส่งออกข้าวไทย
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : กฤชนนท์ จินดาวงศ์
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

สำนักข่าวต่างประเทศเพิ่งรายงานว่า ราคาข้าวเอเชียพุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 15 ปี สอดรับกับสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 ที่ยังมีภาพสดใส โดยมีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 132,290 ล้านบาท ขยายตัวถึง 24.6% (YOY) ปัจจัยดังกล่าวส่งผลดีต่อรายได้โดยรวมของผู้เล่นในตลาดข้าว ตั้งแต่เกษตรกร โรงสี, หยง (พ่อค้าคนกลางในการจัดหาข้าว) จนถึงผู้ส่งออก คำถามที่น่าสนใจ คือ ทิศทางการส่งออกข้าวในช่วงที่เหลือของปี 2566 ต่อเนื่องจนถึงปี 2567 จะเป็นอย่างไร แล้วในระยะข้างหน้าอุตสาหกรรมข้าวไทยยังมีความเสี่ยงอะไรบ้าง

คาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2566 การส่งออกข้าวไทยยังมีแนวโน้มที่ดี จากราคาข้าวขาว 5% ที่จะยังอยู่ในระดับสูงที่ราว 580-585 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายเดือนตั้งแต่ปี 2563-2565 ซึ่งอยู่ที่ 464 เหรียญสหรัฐต่อตัน

โดยมีปัจจัยหนุนจากนโยบายการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย และคาดว่าปริมาณส่งออกข้าวเฉลี่ยในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2566 จะอยู่ที่ 8 แสนตันต่อเดือน ซึ่งเป็นระดับปริมาณส่งออกที่สูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2563-2565 ซึ่งอยู่ที่ 5 แสนตันต่อเดือน

เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารของประเทศคู่ค้า ประกอบกับค่าเงินบาทซึ่งอยู่ในระดับที่อ่อนค่า จึงเอื้อให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันได้ ส่งผลให้ภาพรวมปริมาณส่งออกข้าวทั้งปี 2566 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10.2% YOY เป็น 8.5 ล้านตัน

นอกจากนั้นการส่งออกข้าวไทยยังได้รับผลดีจากปัญหาต้นทุนค่าขนส่งที่ผ่อนคลายลง โดยดัชนีค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ Shanghai Containerized Freight Index (SCFI) เฉลี่ยในเดือน พ.ย. 2566 อยู่ที่ 1,032 เหรียญสหรัฐต่อ TEU ลดลง 28.3% (YOY) และคาดว่า SCFI เฉลี่ยทั้งปี 2566 จะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2565 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการค้าระหว่างประเทศโดยรวมที่หดตัว อีกทั้งยังได้รับผลจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า

ส่วนในปี 2567 คาดว่าปริมาณส่งออกข้าวจะอยู่ที่ 8.6 ล้านตัน ใกล้เคียงกับในปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ราว 8.5 ล้านตัน จากอุปทานข้าวในตลาดโลกที่ยังตึงตัวจากปัจจัยเอลนีโญที่คาดว่าจะลากยาวไปจนถึงกลางปี 2567 ทำให้ประเทศคู่ค้าสำคัญยังคงมีการสะสมสต๊อกข้าว แต่คาดว่านโยบายจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดียที่ผ่อนคลายลง หลังจากสภาพอากาศในอินเดียที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ทำให้อานิสงส์จากการที่ผู้นำเข้าข้าวหันมานำเข้าข้าวไทยทดแทนอินเดียทยอยหมดลง

ส่วนราคาส่งออกข้าวขาว 5% ในปี 2567 World Bank ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 6% (YOY) เป็น 595 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากสต๊อกข้าวโลกที่ยังมีแนวโน้มลดลง และปัญหาความมั่นคงทางอาหาร อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามผลกระทบจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจทำให้ราคาส่งออกขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้

แม้ปัจจุบันอุตสาหกรรมข้าวไทยจะได้อานิสงส์จากปัจจัยด้านราคาชัดเจน แต่การพึ่งพิงปัจจัยดังกล่าวเพียงอย่างเดียวอาจไม่ยั่งยืน โดยหากในระยะข้างหน้าความกังวลในเรื่องความมั่นคงทางอาหารผ่อนคลายลง ก็อาจทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับลดลงอย่างรวดเร็ว

อีกทั้งข้าวไทยยังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างจากสายพันธุ์ข้าวที่เริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาดและผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่าคู่แข่ง กระทบความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงปัญหาการบริหารจัดการสต๊อกข้าวอย่างโปร่งใส แม่นยำ และมีประสิทธิภาพในการเป็นหลักประกันสินเชื่อ นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตข้าวของไทยที่สูงกว่าคู่แข่งทำให้แข่งขันด้านราคาลำบาก รวมถึงต้องเผชิญปัญหา Climate Change ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจนอาจส่งผลให้ผลผลิตข้าวในระยะต่อไปลดลง

ธุรกิจข้าวไทยควรมุ่งพัฒนาการผลิตข้าวยั่งยืนและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์เทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง รวมถึงปรับใช้เทคโนโลยีที่ช่วยในการบริหารจัดการผลผลิตให้มีประสิทธิภาพ เช่น การใช้เทคโนโลยี Smart Silo สำหรับเก็บข้าวเปลือกเพื่อติดตามคุณภาพและทราบปริมาณสต๊อกข้าวอย่างชัดเจน เพื่อให้การบริหารจัดการสต๊อกข้าวที่ใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อกับธนาคารสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ภาครัฐควรเป็นแรงขับเคลื่อนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในธุรกิจข้าว เช่น การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและระบบชลประทานที่เหมาะสม อีกทั้งผู้ประกอบการควรเน้นตลาดนำการผลิต โดยพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อยกระดับข้าวไทยไปสู่ตลาดข้าวคุณภาพมากขึ้นและอาจขยายฐานตลาดให้ใหญ่ขึ้นโดยแปรรูปให้เป็นสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น