ต้องแก้หนี้นอกระบบอย่างถาวร

คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยเปิดให้มีการลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบมาได้ 18 วัน ปรากฏมีประชาชนเข้ามาลงทะเบียนแล้ว 100,467 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวมกันถึง 6,085.977 ล้านบาท จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุดหนีไม่พ้นกรุงเทพมหานคร มีผู้ลงทะเบียน 6,322 ราย เจ้าหนี้ 5,523 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 511.824 ล้านบาท

ส่วนจังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุดในขณะนี้ ก็คือ จังหวัดสิงห์บุรี มีผู้ลงทะเบียน 364 ราย เจ้าหนี้ 238 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 13.679 ล้านบาท โดยการเปิดให้ลงทะเบียนครั้งนี้ก็เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชนรายย่อย

ล่าสุด คณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ได้จัดประชุมครั้งแรกเพื่อสรุปสถานการณ์ วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอ โดยพบว่า ลูกหนี้นอกระบบจะต้องแบกรับภาระ “ดอกเบี้ย” จนเกินอัตรา นำไปสู่การไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินต้นได้ ขณะที่เจ้าหนี้เมื่อไม่ได้รับการชำระตามกำหนดระยะเวลาก็มักจะใช้วิธีการข่มขู่ลูกหนี้และนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อไป

โดยคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ได้วางการดำเนินการในขณะนี้ไว้ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก การลงทะเบียน โดยผู้ลงทะเบียนจะได้รับ หมายเลขอ้างอิง (Reference Number) เพื่อใช้ติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับกระทรวงมหาดไทย ขั้นตอนที่ 2 จะเป็นการดำเนินการ “ไกล่เกลี่ย” กับ “ติดตามผล” ระหว่างผู้กู้กับผู้ให้กู้ และขั้นตอนที่ 3 การกำหนดระยะเวลาการดำเนินการ เป้าหมาย และดัชนีชี้วัดความสำเร็จในการแก้หนี้นอกระบบ

ส่วนมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้ ในทางปฏิบัติจะใช้ 3 มาตรการ คือ การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ ด้วยการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาทำการไกล่เกลี่ยภายใต้กลไกการปกครองระหว่างตำรวจกับอัยการ หากไกล่เกลี่ยสำเร็จจะมีการทำบันทึกประนีประนอมไว้เป็นหลักฐาน

Advertisment

มาตรการที่สอง การบังคับใช้กฎหมาย จะดำเนินคดีกับเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ “ประทุษร้ายลูกหนี้” และมาตรการที่สาม การให้ความช่วยเหลือทางการเงินด้วยการปล่อยวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขน้อย มีระยะเวลาปลอดการชำระคืนเงินต้น

แต่ดูเหมือนว่า ยังมีสิ่งที่รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการอย่างครบวงจรในการแก้หนี้นอกระบบ นั่นก็คือ จะทำอย่างไรไม่ให้ลูกหนี้ที่เข้าระบบแล้วกลับมาเป็นหนี้นอกระบบอีก ในส่วนนี้รัฐบาลจะต้องจัดทำโครงการฟื้นฟูศักยภาพและความรู้ทางการเงินเพื่อให้ลูกหนี้นอกระบบสามารถหารายได้ หาอาชีพที่จะดำเนินชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องกู้

กับอีกด้านหนึ่ง ทำอย่างไรจะให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ อาทิ การประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ที่จะถูกควบคุมการปล่อยสินเชื่อตามกฎหมาย หากมีการดำเนินการทั้ง 2 ส่วน เชื่อได้ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างถาวร