ซื้อน้ำมันต้องได้เต็มลิตร

หัวปั๊ม
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตเมื่อมีการเผยแพร่ข่าวสถานีบริการน้ำมันแห่งหนึ่ง จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับผู้ซื้อไม่เต็มตามอัตราวัดของมาตรวัดต่อหนึ่งลิตร โดยสถานีบริการน้ำมันในฐานะผู้ขายน้ำมันอ้าง “อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด” +/- 25 มิลลิลิตร สำหรับการตรวจสอบเพื่อรับรอง และ +/- 50 มิลลิลิตร สำหรับการตรวจสอบระหว่างการเติมน้ำมันว่า หัวจ่ายดังกล่าวมีการจ่ายน้ำมันถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวงพาณิชย์ภายใต้ พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัดแล้ว

ขณะที่ลูกค้าผู้ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงที่จ่ายโดยหัวจ่ายดังกล่าวยืนยันว่า ตนเองได้รับน้ำมันไม่เต็มลิตร แต่ต้องจ่ายเงินค่าน้ำมันครบจำนวนลิตรตามที่ปรากฏอยู่บนตู้จ่ายน้ำมัน จนนำไปสู่ข้อสงสัยที่ว่า การได้รับน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เต็มลิตร โดยอ้างอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ที่เปิดช่องไว้ตามที่สถานีบริการน้ำมันหยิบยกขึ้นมาอ้างนั้น เป็นการจำหน่ายสินค้าและบริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยอ้าง พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัดได้หรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทำหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องมีสาระสำคัญ แม้กระทรวงพลังงานจะไม่ได้ควบคุมดูแลการจำหน่ายน้ำมันตาม พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด อันเป็นงานในหน้าที่ความรับผิดชอบของกรมการค้าภายในก็ตาม ได้รับปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เต็มลิตรตามจำนวนลิตรที่ได้จ่ายเงินค่าน้ำมันให้กับสถานีบริการน้ำมันนั้น ถือเป็นการไม่ถูกต้องและยังเป็นการเอารัดเอาเปรียบประชาชน พร้อมกับมีคำสั่งไปยังบริษัทผู้ค้าน้ำมันแห่งนั้นให้จ่ายน้ำมันให้เต็มตามจำนวนลิตรทันที

ทว่าในอีกด้านหนึ่ง กรมการค้าภายใน ในฐานะผู้รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด ก็ออกมาชี้แจงถึง “อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด” เอาไว้ไม่เกิน 1% นั้นเป็นหลักการและมาตรฐานเดียวกันกับที่ต่างประเทศใช้ ดังนั้นน้ำมันที่ขาดไปจากกรณีนี้จึงไม่ถือว่า “ผิดปกติ” เพราะยังอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด

พร้อมกับหยิบยกรายงานของเจ้าหน้าที่ที่ออกไปตรวจสอบสถานีบริการน้ำมัน 1,400 แห่ง จำนวน 180,000 หัวจ่าย พบ “เกินค่า” เผื่อเหลือเผื่อขาดจำนวน 29 หัวจ่าย จากจำนวนสถานีบริการ 14 แห่ง และตรวจพบมีค่า “ต่ำกว่า” ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด (1%) จำนวน 11 หัวจ่าย แค่ 5 สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งได้ทำการผูกบัตรห้ามใช้และได้ส่งดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว

ประกอบกับมีข้อสงสัยเกิดขึ้นมาอีกว่า สถานีบริการน้ำมันสามารถปรับแต่งหัวจ่ายให้จ่ายน้ำมัน “ต่ำกว่า” จำนวนเงินที่ผู้จ่ายจริง แต่ไม่ต่ำกว่าค่าอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด (1%) ได้หรือไม่ ในประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทั้ง 2 หน่วยงานจักต้องร่วมกันดำเนินการแก้ไข เพราะคำว่า เผื่อเหลือเผื่อขาดนั้น เป็นค่าอ้างอิงสำหรับการตรวจสอบเพื่อรับรองเครื่องมือมากกว่า จึงเป็นหน้าที่ที่ผู้จำหน่ายจะต้อง “เผื่อเหลือ” ปริมาณน้ำมันให้เต็มตามจำนวนลิตรที่ผู้ซื้อได้ชำระเงินไปแล้ว