จะเกิดปาฏิหาริย์เศรษฐกิจจีน ในปี 2024 ได้หรือไม่

เศรษฐกิจจีน
(Photo by WANG Zhao / AFP)
คอลัมน์ : ระดมสมอง
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Bnomics ธนาคารกรุงเทพ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังโควิด-19 ดูค่อนข้างจะน่าผิดหวังสำหรับใครหลายคน จนก่อให้เกิดความสงสัยต่อรากฐานของการเติบโตอย่างน่าทึ่งมานานหลายศตวรรษของจีน และนับจากนี้จีนกำลังจะต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบาก ว่าจะเลือกสร้างหนี้เพิ่ม หรือยอมให้เศรษฐกิจโตช้าลง ?

เดิมทีคนคาดหวังกันว่าเมื่อจีนยกเลิกกฎระเบียบป้องกันการแพร่ระบาดโควิดที่เข้มงวด ผู้บริโภคจะกลับเข้าไปช็อปปิ้งในห้าง การลงทุนจากต่างประเทศจะกลับมาอีกครั้ง โรงงานต่าง ๆ ฟื้นตัว การประมูลที่ดินและยอดขายบ้านจะโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น

แต่แล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น นักช็อปชาวจีนกำลังเก็บเงินไว้เผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉิน บริษัทต่างชาติพากันดึงเงินทุนออก ภาคอุตสาหกรรมเผชิญกับอุปสงค์ที่อ่อนแอลง ทางฝั่งตะวันตก รัฐบาลท้องถิ่นสั่นคลอน และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เกิดการผิดนัดชำระหนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่คนคลางแคลงในรูปแบบการเติบโตของจีนมาโดยตลอด โดยนักเศรษฐศาสตร์บางคนถึงกับมองว่าจีนอาจจะตามรอย “ทศวรรษที่สูญหาย” ของญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจเริ่มซบเซาตั้งแต่ทศวรรษ 1990

คนที่สงสัยในการเติบโตของจีน ก็มองว่ารัฐบาลปักกิ่งล้มเหลวในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ จากการพัฒนาที่มุ่งเน้นด้านการก่อสร้าง เป็นการเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่นั้น หนี้ได้เติบโตแซงหน้าการเติบโตของเศรษฐกิจ จนถึงระดับที่รัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทอสังหาริมทรัพย์ประสบปัญหาในการให้บริการ

ผู้วางนโยบายได้กล่าวว่าจะพยายามกระตุ้นการบริโภค ลดการที่เศรษฐกิจต้องพึ่งพาภาคอสังหาริมทรัพย์มากเกินไป โดยรัฐบาลปักกิ่งก็พยายามชี้นำให้ธนาคารปล่อยกู้ให้กับอุตสาหกรรมระดับบน ๆ และระมัดระวังในการปล่อยกู้ให้แก่ภาคอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น

แต่แผนระยะยาวในการกำจัดหนี้และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ยังเป็นเรื่องที่คลุมเครือและไม่ชัดเจนนัก อีกทั้งจีนยังต้องคำนึงถึงประเด็นสังคมสูงวัยและประชากรลดน้อยลง ไหนจะเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย

แล้วมันสำคัญอย่างไร ?

จีนมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ราว ๆ 5% ในปี 2023 โดยโตแซงหน้าเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม การเติบโตนี้อยู่ภายใต้ความจริงที่ว่าจีนลงทุนมากกว่า 40% ของ GDP ซึ่งมากกว่าสหรัฐถึง 2 เท่า สะท้อนให้เห็นว่ามีบางส่วนที่สำคัญที่ไม่เกิดประสิทธิผล

นั่นหมายถึงว่าคนจีนส่วนมากจะไม่รู้สึกถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยอัตราการว่างงานของวัยหนุ่มสาวพุ่งสูงถึง 21% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดก่อนที่จีนจะเลิกรายงานข้อมูลในส่วนนี้ไป

นักศึกษาที่เพิ่งจะเรียนจบมหาวิทยาลัยกำลังเผชิญกับปัญหาการทำงานต่ำกว่าระดับเพื่อหาเลี้ยงชีพ ในขณะที่หลายคนต้องถูกลดค่าจ้าง

แล้วในประเทศที่ความมั่งคั่งของครัวเรือนกว่า 70% อยู่ในอสังหาริมทรัพย์ สภาพเศรษฐกิจในขณะนี้ส่งผลให้คนที่มีบ้านอาจจะรู้สึกจนลง

หรือแม้แต่ในอุตสาหกรรมที่โดดเด่นไม่กี่แห่งของเศรษฐกิจในตอนนี้คือ “รถยนต์ไฟฟ้า” ก็ยังต้องเผชิญกับสงครามราคาที่กระทบทั้งซัพพลายเออร์และตัวพนักงานเองด้วย

นักวิเคราะห์หลายคนจึงมองว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะกำลังตกหล่มเหมือนกับที่ญี่ปุ่นเคยตกลงไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นอาจจะกระทบไปยังหลายส่วน เนื่องจากอุตสาหกรรมทั่วโลกส่วนใหญ่ก็พึ่งพาซัพพลายเออร์จากจีนค่อนข้างมาก อีกทั้งทางแอฟริกาและละตินอเมริกาก็
ยังต้องพึ่งพาการซื้อสินค้า และเงินทุนจากจีนสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศอยู่ดี

แล้วในปี 2024 นี้จะมีปาฏิหาริย์สำหรับเศรษฐกิจจีนหรือไม่ ?

ถ้าพูดกันจริง ๆ จีนคงเหลือเวลาไม่มากสำหรับแก้โจทย์สุดหินนี้ แม้ผู้วางนโยบายนั้นกระตือรือร้นที่จะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ แต่การปฏิรูปก็คงเป็นเรื่องยากสำหรับจีน

แล้วในตอนนี้จีนก็ดูเหมือนลังเลใจที่จะตัดใจยอมให้เศรษฐกิจโตน้อยลง แลกกับการได้ปฏิรูปเศรษฐกิจ เห็นได้จากการที่ที่ปรึกษารัฐบาลเรียกร้องให้ตั้งเป้าหมายการเติบโตในปี 2024 อยู่ที่ 5% สอดคล้องกับเป้าหมายในปี 2023 ซึ่งหากไปในทางนี้ก็อาจผลักให้จีนต้องเป็นหนี้มากยิ่งขึ้น

ไหนจะเรื่องการผลักดันสวัสดิการสังคมของแรงงานอพยพกว่าร้อยล้านคนในชนบท ซึ่งตามประมาณการจะช่วยเพิ่ม GDP ในบริโภคครัวเรือนได้อีก 1.7% หากคนกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะเหมือนประชากรที่อยู่ในเมือง แต่ในขณะนี้นโยบายนี้ยังหยุดชะงักอยู่ เนื่องจากความกังวลเรื่องเสถียรภาพทางสังคมและต้นทุนของนโยบาย

ประกอบกับความพยายามจะแก้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ของจีนและปัญหาหนี้สาธารณะ ก็ก่อให้เกิดความกังวลที่ตามมาคล้าย ๆ กันคือ

หากการลงทุนนั้นล้มเหลว ใครจะต้องรับภาระจ่ายเงิน ธนาคาร บริษัทที่รัฐเป็นเจ้าของ รัฐบาลกลาง ภาคธุรกิจ หรือประชาชน ?

แต่ไม่ว่าจะเป็นทางไหน ปลายทางก็คือเศรษฐกิจในอนาคตที่อ่อนแอลงอยู่ดี…