ชั่งน้ำหนักนโยบายพลังงาน วางอนาคตประเทศ

พลังงาน
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

เมื่อสัปดาห์ก่อน 3 ผู้ทรงคุณวุฒิด้านพลังงาน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับนโยบายพลังงานของรัฐบาล จากการใช้นโยบายประชานิยม ทั้งการตรึงราคาดีเซล 30 บาท การลดราคาน้ำมัน การไม่ยอมให้ปรับราคาน้ำมันยูโร 5 การปรับโครงสร้างราคา Pool Gas เสี่ยงว่าสิ่งที่ได้จะไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไป

“ภาคประชาชน” ออกมาแย้งทันทีว่า 3 ผู้ทรงคุณวุฒิกำลังเลือกข้าง “กลุ่มทุนพลังงาน” ทำให้ ข้อถกเถียงเรื่องการใช้นโยบายพลังงานแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน

เมื่อพบหน้าแหล่งข่าวอดีตกรรมการกลุ่ม ปตท. และผู้บริหารระดับสูง ปตท.รายหนึ่ง ก็แสดงความกังวลไปในทิศทางเดียวกับกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ โดยอธิบายว่า สิ่งที่เป็นภาระอยู่วันนี้เป็นวิกฤตพลังงานไฟฟ้ามาจากนโยบายพลังงาน พร้อมสะท้อนมุมมองว่าการให้การช่วยเหลือดูแลราคาพลังงานสามารถทำได้ แต่ “อย่าหว่าน” ควรวางงบฯช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางตามฐานข้อมูลที่รัฐมีอยู่แล้ว

“วันนี้ ตรึงดีเซล คนใช้รถเบนซ์ก็ใช้ดีเซล 30 บาท เหมือนรถขนส่ง แต่กองทุนน้ำมันติดลบ 9.3 หมื่นล้านบาท เกือบแสนล้านบาทแล้ว หรือจะลดค่าไฟทั้งหมดก็ได้ ให้คนอยู่ริทซ์-คาร์ลตัน ใช้ไฟราคาเท่ากับคนทั่วไป ทั้งที่เขาก็มีความพร้อมที่จะจ่ายค่าไฟ”

ต่อคำถามว่าหากไม่ช่วยค่าไฟไทยแพงแซงเวียดนามไทยจะแข่งขันไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาในเชิงโครงสร้างว่า ค่าไฟฟ้าเวียดนามถูกมีโครงสร้างจากพลังงานชนิดใด แน่นอนโครงสร้างไม่เหมือนกัน ราคาย่อมไม่เหมือนกัน

การลดค่าไฟสามารถทำได้ เช่น ไทยมีไฟฟ้าสำรองปริมาณสูงมาก ต้องเสียค่าความพร้อมจ่าย กรณีนี้รัฐสามารถเจรจากับโรงไฟฟ้าขอลดค่าความพร้อมจ่ายหรือชะลอออกไปก่อนแต่ไม่ใช่ขอเบี้ยว และต้อง “บริหารจัดการดีมานด์-ซัพพลาย” เมื่อซัพพลายล้นก็ต้องเพิ่มดีมานด์ ต้องปรับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปให้เกิดขึ้น

และอนาคตต้องการหาแหล่งวัตถุดิบสำรอง หากไทยยังพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้า เช่น นำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ 80-90% และ LNG จากต่างประเทศ 50% หากเกิดวิกฤตแบบรัสเซีย-ยูเครนอีก จะทำให้ไทยมีต้นทุนสูงขึ้น และปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นแหล่งที่ถูกที่สุดของไทยก็มีปริมาณลดลงไปเรื่อย ๆ ฉะนั้น ต้องเร่งการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA)เพราะตัดสินใจวันนี้ คาดว่าอีก 5-7 ปีจะได้ใช้

สุดท้ายขอให้รัฐคำนึงถึงผู้ประกอบการด้านพลังงานบ้าง เพราะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ใช้งบฯมหาศาล หากรัฐไม่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เช่น ลงทุนผลิตน้ำมันยูโร 5 ซึ่งใช้เม็ดเงินลงทุนหลักหมื่นล้าน ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้นอย่างน้อย 25-50 สตางค์/ลิตร หากไม่ได้ปรับราคาตามกลไก ในอนาคต “ไม่มีใครกล้าจะมาลงทุน” อีก

ขอให้ชั่งน้ำหนักการใช้มาตรการด้านพลังงานเพื่อให้ความสมดุลกับทุกฝ่าย