Global Minimum Tax เริ่มปีนี้ ไทยเดินเกมอย่างไร

Global Minimum Tax
คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)

การจัดเก็บภาษีจากธุรกิจข้ามชาติให้เป็นธรรมมากขึ้น เป็นโจทย์ที่ทั่วโลกพยายามร่วมมือหาทางออกมานานนับสิบปี ที่ผ่านมาธุรกิจข้ามชาติจัดสรรกำไรและกระจายเงินลงทุนในต่างประเทศ โดยมีสิ่งจูงใจสำคัญข้อหนึ่ง คือ สิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคล

นอกจากนี้ โลกดิจิทัลยังเอื้อให้ธุรกิจข้ามชาติขายสินค้าและบริการในประเทศต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ได้สะดวก โดยไม่ต้องเปิดบริษัทตั้งสำนักงานในประเทศนั้น ๆ ทำให้ประเทศปลายทางเสียโอกาสเก็บภาษีเงินได้จากธุรกิจต่างชาติที่มาสร้างรายได้จากการขายของในประเทศตน

สิ่งนี้เป็นช่องโหว่ทางภาษี (Tax Loophole) สำคัญของโลก เพราะธุรกิจข้ามชาติเห็นช่องทางเลี่ยงจ่ายภาษีเงินได้ในประเทศที่จะถูกเก็บภาษีในอัตราสูงกว่าผ่าน 2 กลยุทธ์ คือ 1) Base Erosion เป็นการจัดสรรงบการเงินในบริษัทย่อยที่ตั้งอยู่ในประเทศถูกเก็บอัตราภาษีต่ำ ด้วยการหักค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ฐานรายได้ที่ต้องนำไปคำนวณภาษีเงินได้ต่ำลง และ 2) Profit Shifting เป็นการโยกย้ายผลกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจในประเทศหนึ่ง ๆ ไปลงทุในประเทศที่เสียภาษีเงินได้ในอัตราต่ำกว่า

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เสนอให้มีการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศด้วยการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้ธุรกิจขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) 15% ตามแนวทาง 2 เสาหลักในการจัดการความท้าทายทางภาษีที่เกิดจากเศรษฐกิจยุคดิจิทัลภายใต้กรอบ OECD/G20 Inclusive framework on base erosion and profit shifting (Inclusive framework for BEPS)

ประกอบด้วย Pillar 1 การจัดสรรกำไรและสิทธิการจัดเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ให้เป็นธรรมมากขึ้น และ Pillar 2 การจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ 15% จากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อลดการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ

Global Minimum Tax จะบังคับใช้ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีรายได้รวมต่อปีเกิน EUR 750 Million (หรือราว 2.8 หมื่นล้านบาท) โดยมีประเทศสมาชิกกว่า 140 ประเทศเข้าร่วมข้อตกลง Pillar 2 ไว้ตั้งแต่ ต.ค. 2021

ทั้งนี้ OECD มีแผนเริ่มใช้ Global Minimum Tax ในปีนี้สำหรับประเทศที่พร้อม โดยล่าสุดมี 55 ประเทศที่เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้

โดย OECD ประเมินผลกระทบจากการจัดเก็บ Global Minimum Tax ต่อบริษัทข้ามชาติ ไว้ดังนี้

1) กำไรของธุรกิจที่เคยเสียภาษีต่ำเกินไปจะลดลง 80% จากเดิมที่มีสัดส่วน 36% ของกำไรธุรกิจทั่วโลก โดยจะเหลือเพียง 7% เป็นผลจากการโยกย้ายผลกำไรไปประเทศอื่นที่ลดลงและการจัดเก็บภาษีส่วนต่างเพิ่มขึ้น

2) การโยกย้ายกำไรไปต่างประเทศจะลดลงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ผลกำไรของบริษัทข้ามชาติจะยังอยู่ในประเทศนั้น ๆ สำหรับประเทศที่เป็นฐานการลงทุน ผลประเมินพบว่าการโยกย้ายผลกำไรจากประเทศอื่นมาลงทุนที่ลดลงไป จะทำให้รายได้ภาษีของประเทศหายไปราว 30%

3) ความแตกต่างของอัตราภาษีเงินได้ธุรกิจระหว่างประเทศจะลดลง 30% โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างประเทศที่เป็นและไม่เป็นฐานการลงทุน ดังนั้น ปัจจัยที่ไม่ใช่ภาษีจะถูกนำมาพิจารณามากขึ้นในการตัดสินใจโยกย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศ ช่วยให้การกระจายจัดสรรทรัพยากรเงินทุนในโลกดีขึ้น

4) ภาษีเงินได้ธุรกิจในโลกโดยสุทธิจะเพิ่มขึ้น 6.5-8.1% จากการจัดเก็บภาษีส่วนต่างและการโยกผลกำไรไปประเทศอื่นลดลง หรือคิดเป็นมูลค่า 155-192 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

สิงคโปร์ประกาศเริ่ม Global Minimum Tax ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2025 พร้อมออกมาตรการ Refundable Investment Credit ใหม่ เพื่อให้ยังรักษาความน่าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติของประเทศไว้ให้ได้ ผ่านการให้เครดิตภาษีจากรายจ่ายเพื่อการลงทุน การพัฒนากำลังคนและพัฒนาทักษะ

นโยบายใหม่นี้ได้ปรับให้สอดคล้องกับหลักการ Global anti-base erosion rules for qualified refundable tax credits (QRTCs) ที่จะเป็นทางเลือกใหม่ในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในโลกหลังประกาศใช้กรอบ BEPS แล้ว เพราะเครดิตภาษี (Tax Credit) ถือว่าเป็นรายได้ แทนที่จะคิดเป็นค่าลดหย่อนภาษี (Tax Relief) เช่นเดิม ซึ่งมีผลทำให้อัตราการจัดเก็บภาษีที่แท้จริงของบริษัทข้ามชาติต่ำลง

สำหรับไทยเป็น 1 ใน 10 กลุ่มประเทศนำร่อง Global Minimum Tax ของ OECD ที่คาดว่าจะออกใช้ต้นปีหน้าเช่นกัน ไทยอยู่ในขั้นตอนที่กรมสรรพากรเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกเป็น พ.ร.บ. Global Minimum Tax ภายในครึ่งแรกของปีนี้ และจะกำหนดให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate) ไม่น้อยกว่า 15%

สำหรับมาตรการรองรับเพื่อให้ไทยยังน่าสนใจในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาตินั้น ครม.มีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เสนอไว้ตั้งแต่ 7 มี.ค. 2023 ให้รัฐบาลจัดสรรรายได้จากการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มตาม Pillar 2 ในสัดส่วน 50-70% ให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อให้ BOI ใช้ออกแบบสิทธิประโยชน์การลงทุนของบริษัทต่างชาติที่อาจเสียประโยชน์จากเกณฑ์ใหม่นี้

Global Minimum Tax เป็นการปฏิรูประบบภาษีระหว่างประเทศครั้งใหญ่ ประเทศที่มีความพร้อม สามารถประกาศความชัดเจนในการเดินเกมวางระบบภาษีใหม่และนโยบายสิทธิประโยชน์การลงทุนที่สอดคล้องกันได้ก่อนยิ่งได้เปรียบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนจากบริษัทข้ามชาติ ท่ามกลางโลกที่แข่งขันกันดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้มข้นเช่นนี้