ทริปโรดโชว์ปลุกลงทุน 8 แสนล้าน ขอบีโอไอลดภาระ GlobalTax

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

“บีโอไอ” เตรียมประกาศผลสำเร็จโรดโชว์ 16 ทริป 6 เดือนรัฐบาลเศรษฐา ปลุกลงทุนปี 2567 ทะลุ 800,000 ล้าน พร้อมส่ง “หน่วยปฏิบัติการพิเศษ” วางหมากหลังรับฟีดแบ็ก “4 โจทย์ใหญ่” รับนักลงทุน เรียกร้องพลังงานสะอาด-FTA-มาตรการแรงจูงใจรับภาษี Global Tax 15%-แรงงานทักษะสูง ด้านเลขาฯบีโอไอย้ำ อย่ามองแค่เงินลงทุน FDI ต้องมองถึงภาพรวมองค์ความรู้ ดันโรงงานไทยเชื่อมต่อซัพพลายเชนระดับโลก

รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้วางบทบาท “เซลส์แมนประเทศ” ด้วยการนำคณะออกเดินสายโรดโชว์ไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากถึง 16 ทริปใน 14 ประเทศ และอีก 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง พร้อมกับพบปะผู้นำภาคธุรกิจชั้นนำระดับโลก ตั้งเป้าที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ส่งเสริมการลงทุนของประเทศเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน 3 ล้านล้านบาทในระหว่างปี 2566-2570

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลจากการเดินทางโรดโชว์ ในช่วง 6 เดือนของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา จะเริ่มเห็นสัญญาณกลับมาในปีนี้แน่นอน โดย BOI วางเป้าหมายว่า ในปีนี้ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2566 ที่มีมูลค่า 800,000 ล้านบาท

“BOI มีเป้าหมายรวมตามยุทธศาสตร์ปี 2566-2570 ที่จะดึงดูดการลงทุน 3 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2566 ซึ่งเป็นปีแรกของแผน สามารถดึงดูดการลงทุนได้แล้ว 800,000 กว่าล้านบาท พอมาถึงปีที่ 2 ผมยืนยันว่า เราทำอย่างเต็มที่ที่สุด ตอนนี้เห็นแนวโน้มดีกว่าปีก่อนแน่นอน ขณะนี้กำลังเตรียมผลสรุปการโรดโชว์ จะประกาศในวันที่ 26 มี.ค. 2567” นายนฤตม์กล่าว

โดยขณะนี้มีลงทุนกลุ่มใหญ่ ๆ ที่โฟกัสใน 3 กลุ่ม คือ ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล และอิเล็กทรอนิกส์ โดยในส่วนของ EV ก็เป็นไปตามที่ปรากฏเป็นข่าว ส่วนของดิจิทัลจะมีกลุ่มหลัก ๆ คือ Data Center และ Cloud Service ที่เป็นระดับไฮเปอร์สเกล คือ เป็นระดับใหญ่ที่จะเข้ามา เพียงแต่ตามแนวทางการลงทุนของนักลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาลงทุนในรอบนี้ ยังขอให้ปิดชื่อไว้ก่อนในระหว่างขั้นตอนการเจรจา

รับ 4 โจทย์นักลงทุน

ผลสรุปจากการที่ไปเจอบริษัทต่าง ๆ ได้มีข้อเสนอ ซึ่งที่เป็นข้อเรียกร้องของนักลงทุนประมาณ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) เรื่องพลังงานสะอาด เรื่องนี้รัฐบาลและกระทรวงพลังงานกำลังเตรียมการเพื่อจัดหาพลังงานสะอาดในระดับราคาที่เหมาะสมให้กับนักลงทุน นับเป็นเรื่องที่ประเทศไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว “เป็นจุดแข็งของไทย” แต่จะมีกลไกของกระทรวงพลังงานในการจัดหาพลังงานสะอาดให้กับนักลงทุนได้ในระดับราคาที่เหมาะสม

2) การเจรจาจัดทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) โดยเฉพาะ FTA ไทย-สหภาพยุโรป และ FTA กับตลาดใหม่ ซึ่งท่านนายกฯย้ำว่า เป็น Priority ของท่านและของรัฐบาลในการเร่งการเจรจาการค้าให้บรรลุผลโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะ FTA ไทย-อียู จะเสร็จใน 18 เดือนหรือประมาณปี 2568 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องการ เพราะอยากรู้ว่าถ้ามาลงทุนในไทยแล้วจะสามารถเปิดตลาดไปที่อียูได้หรือไม่ นักลงทุนทุกชาติที่ไปเจอก็จะมองถึงโอกาสในการส่งเข้าไปในยุโรปทั้งนั้น

3) มาตรการรองรับอัตราภาษีใหม่ของโลก OECD ที่เรียกว่า Global Minimum Tax เป็นอัตราภาษีใหม่ที่จัดเก็บขั้นต่ำ 15% มีหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ได้ชี้แจงกับนักลงทุนไปแล้วว่า ไทยเตรียมมาตรการไว้รองรับแล้ว โดย BOI รับหน้าที่จัดเตรียมมาตรการร่วมกับกระทรวงการคลัง เตรียมจะประกาศในเดือนเมษายนนี้พร้อมกัน “เรื่อง Global Minimum Tax” เป็นกติกาภาษีใหม่ที่จะบังคับใช้กับบริษัทข้ามชาติ คือ ให้บริษัทใหญ่ต้องเสียภาษีขั้นต่ำ 15%

“ทางเราเองเตรียมมาตรการเพื่อจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อนักลงทุนแล้ว และมาตรการนั้นยังจะทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการดึงดูดการลงทุนอยู่ ซึ่งมาตรการนี้เราใช้มาตรการของบีโอไอ บวกกับมาตรการทางด้านการเงิน ผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อจะช่วยบรรเทาผลกระทบเรื่องกติกาภาษีใหม่”

และ 4) เรื่องของบุคลากร โดยเฉพาะบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ทาง BOI ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการดึงภาคอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมในโปรแกรม Sandbox ของ อว. เพื่อพัฒนาคนอย่างเร่งด่วนในสาขาที่จะมีความต้องการสูงในอนาคตอันใกล้ เช่น Semiconductor ดิจิทัล เป็นต้น

โรดโชว์นายกฯนำ BOI ตาม

ต่อกระแสข่าววิพากษ์วิจารณ์การโรดโชว์ที่เกิดขึ้นนั้น นายนฤตม์กล่าวว่า ไม่มีผลทำให้ต้องปรับแผนการ Roadshow เพราะการทำงานนี้ เป็นการดำเนินการแบบภาพรวมทั้งประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้กำหนดประเทศเป้าหมาย และจะมาวางยุทธศาสตร์กันว่า แต่ละหน่วยงานจะต้องเตรียมข้อมูลอย่างไร ในส่วนของ BOI จะยึดว่า จะต้องไปประชุมในงานอะไรที่เป็นงานสำคัญอยู่แล้ว หลังจากนั้นจะเอาเวทีนั้นในการพบปะนักลงทุน ด้วยเพื่อเป็นการใช้ประโยชน์จากการเดินทางให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

“หากเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนแล้ว เท่าที่ดูก็ไม่มีประเทศไหนใช้แนวทางเหมือนเรา ที่จะมีท่านนายกฯนำทีมไปพบกับบริษัทเป้าหมายด้วยตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เกิดความมั่นใจกับผู้ลงทุน เพราะจะได้รับฟังแนวทางการทำงานและนโยบายจากเบอร์ 1 ของประเทศโดยตรงว่า มีนโยบายอย่างไร มีมาตรการซัพพอร์ตจากภาครัฐอย่างไร” นายนฤตม์กล่าว

ซึ่งแนวทางการดำเนินงานของ BOI หลังจากรับโจทย์จากรัฐบาลก็จะทำการบ้านว่า ประเทศที่จะเดินทางไปนั้น ควรจะต้องพบกับนักลงทุนในบริษัทใดหรืออุตสาหกรรมใดบ้าง โดย BOI มีสำนักงานสาขามากกว่า 17 สำนักงานทั่วโลก และมีลูกค้าอยู่ในทุกประเทศ ขณะเดียวกัน BOI มีการตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษโครงการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์” เพื่อรวมสรรพกำลังของ BOI ทำหน้าที่จัดเตรียมข้อมูลเชิงลึก

โดยประสานการทำงานกับทางทีมของท่านนายกรัฐมนตรี สำหรับการเดินทางเยือน และเมื่อไปโรดโชว์ BOI จะรับฟัง Feedback ของนักลงทุนแล้วนำมาปรับปรุงมาตรการให้ตอบโจทย์กับนักลงทุนมากขึ้น “ยกตัวอย่าง แพ็กเกจ EV 3.5 ก็เป็นส่วนที่เกิดจากมาตรการที่ได้พูดคุยกับนักลงทุนส่งเสริมเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีเชิงพาณิชย์ อย่างรถบรรทุกหรือรถบัส

ดึงจีน 0 เหรียญเชื่อมซัพพลายเชน

นายนฤตม์กล่าวย้ำอีกว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการดึงดูดการลงทุน และการให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามา “ไม่ใช่แค่เม็ดเงินลงทุนเพียงอย่างเดียว” แต่ประเทศไทยยังได้ประโยชน์ ในเรื่องขององค์ความรู้ใหม่ ๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยี อุตสาหกรรมสินค้าเป้าหมายต่าง ๆ และที่สำคัญ คือ การดึงดูดการลงทุนมาพร้อมกับโอกาสทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมไทยที่เป็น Supply Chain ในประเทศ

เพราะนักลงทุนต่างชาติจะมาพร้อมกับเครือข่ายธุรกิจที่จะมาต่อยอดให้กับผู้ประกอบการไทย เป็นงานที่จะทำให้บุคลากรคนไทยได้ทำงานร่วมกับบริษัทที่ไฮแวลู การดึงดูดการลงทุนได้ประโยชน์ มาพร้อมกันหลาย ๆ เรื่อง ขณะเดียวกันเม็ดเงินที่เข้ามาก็มี Multiplier Effect มีผลทวีคูณกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมาก

อย่างกรณีที่มีการมองว่า การดึงดูดนักลงทุนจีน 0 เหรียญเข้ามาแล้ว ไทยไม่ได้ประโยชน์ ผมขอยืนยันเลยว่า หลังจากที่มีการดึงดูดการลงทุนแล้ว BOI มีมาตรการเพื่อที่จะเชื่อมโยง Supply Chain ของประเทศไทยกับบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุน เราช่วยในการ Connect ซัพพลายเชนในประเทศกับบริษัทข้ามชาติ

ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรม EV และอิเล็กทรอนิกส์ BOI จัดกิจกรรมต่อเนื่องในการดึงเอา Supply Chain อุตสาหกรรมของไทยที่มีศักยภาพไปเชื่อมต่อกับบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ ทำทั้งในแง่ของภาพรวมและการเจาะเป็นรายบริษัท เช่น จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ซัพพลาย EV ไปแล้วให้กับค่าย BYD เนต้า BMW และในเดือนเมษายน จะทำกิจกรรมจับคู่กับค่าย MG และยังมีแผนจะทำร่วมกับเกรท วอลล์ มอเตอร์อีก

“BOI มุ่งจะเชื่อมต่อให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่เรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการสั่งสม ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์กว่าจะมาถึงการใช้สัดส่วนวัตถุดิบในประเทศ 80-90% ได้ก็ใช้เวลาก่อสร้างหลายสิบปี ก็ค่อย ๆ ไต่ขึ้นมา ตอนนี้ประเทศเราเองก็เพิ่งจะเริ่มต้นเรื่อง EV เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะเชื่อมต่อกับ Supply Chain ในบริษัทต่างประเทศ แต่จะหวังให้วันแรกใช้ Supply Chain ในประเทศเรา 100% ก็คงเป็นไปไม่ได้” นายนฤตม์กล่าว