เศรษฐาขึ้นปก TIME กับบทบาท “เซลส์แมนของประเทศไทย”

นายเศรษฐา ทวีสิน

นายกฯเศรษฐาขึ้นปก TIME กับบทบาท “เซลส์แมนของประเทศไทย” ซึ่งถูกจับตามองว่านายกฯคนใหม่ของไทยที่กำลังมุ่งทำงานจะสามารถฟื้นฟูประเทศขึ้นจากความตกต่ำได้หรือไม่ ?

วันที่ 13 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทย ให้สัมภาษณ์พร้อมขึ้นปกนิตยสารไทม์ (Time) ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2567 หัวข้อ “The Salesman Thai Prime Minister Srettha Thavisin is open for business in a country that feels shortchanged by his election”

ซึ่งไทม์ได้เผยแพร่ภาพปกนิตยสาร และบทความ “Thailand’s New Prime Minister Is Getting Down to Business. But Can He Heal His Nation ?” หรือ “นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยกำลังมุ่งทำงาน แต่จะสามารถฟื้นฟูประเทศได้หรือไม่” เขียนโดย ชาร์ลี แคมป์เบลล์ (Charlie Campbell) บนเว็บไซต์ time.com เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ตามเวลาสหรัฐ ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคมตามเวลาประเทศไทย

ชาร์ลี แคมป์เบลล์ มองว่านายกรัฐมนตรีของไทยได้เดินทางไปกว่า 10 ประเทศ เพื่อชักจูงนักลงทุนในประเทศต่าง ๆ พร้อมบอกว่า “ประเทศไทยเปิดแล้วสำหรับการลงทุน” และความพยายามของนายกรัฐมนตรี ก็เริ่มสัมฤทธิ์ผลในไตรมาสที่ 4 ปี 2566

ซึ่งมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ​ (FDI) เพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในเดือนพฤศจิกายนเพียงเดือนเดียวมีบริษัทเอกชนชั้นนำของโลกอย่าง Amazon, Google และ Microsoft ประกาศการลงทุนรวมมูลค่า 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ชาร์ลี แคมป์เบลล์ ระบุว่า “ดินแดนแห่งรอยยิ้ม” แห่งนี้ต้องเผชิญกับความแตกแยกทางการเมืองอันขมขื่นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา นำไปสู่การรัฐประหารโดยกองทัพเมื่อปี 2557 พร้อมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อรับประกันบทบาทนำของกองทัพ ในทศวรรษถัดมาของการปกครองที่สับสนวุ่นวาย เศรษฐกิจของไทยซึ่งเคยใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ซบเซาลง และความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น ในปี 2561 คนที่รวยที่สุด 1% แต่ครองความมั่งคั่ง 66.9% ของประเทศ, การเติบโต GDP เฉลี่ยของไทยต่ำกว่า 2%

เศรษฐาขึ้นปก TIME

แต่เพื่อนบ้านทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีอัตราการเติบโตของ GDP แซงหน้าประเทศไทย 2-3 เท่า รวมถึงแซงหน้าในแง่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และไทยยังต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ที่ทำลายล้างการท่องเที่ยวซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญของประเทศไทย แต่นายกรัฐมนตรีเศรษฐาก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เศรษฐกิจประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตที่ต้องแก้ไข จึงได้ประกาศลดราคาน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร

พร้อมเปิดตัวโครงการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นการบริโภค และยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวหลายประเทศ รวมทั้งยังตั้งเป้าเพิ่มบทบาทประเทศไทยในฐานะ “ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ การดูแลสุขภาพ และการเงิน”

ชาร์ลี แคมป์เบลล์ ยังเห็นว่า นายเศรษฐากำลังต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยร่วมมือกับฝ่ายอนุรักษนิยมเดิม หรือขั้วอำนาจเก่า นายเศรษฐาจึงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่จะต้องสร้างและมอบผลประโยชน์ที่แท้จริงอย่างรวดเร็วให้กับประชาชน แม้นายเศรษฐาจะยืนยันว่าตนเองไม่ได้รู้สึกกดดันกับการที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 2 แต่กดดันกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยทุกคน ซึ่งเป็นความกดดันที่นายเศรษฐาเผชิญทุกวัน

ชาร์ลี แคมป์เบลล์ยังเห็นว่า นายเศรษฐายังแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า โฟกัสของเขาอยู่ที่ใดบ้าง เช่น การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การค้า และความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ การผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียมและสิทธิของกลุ่ม LGBT และการส่งเสริมการท่องเที่ยว

แม้จะมีสถานการณ์ทางการเมืองหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะการเดินทางกลับประเทศของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แต่นายเศรษฐาก็ยังยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยวว่า “ตนเป็นคนควบคุมอำนาจ”