6 เดือน “เศรษฐา” โรดโชว์ 15 ประเทศ ดึงซีอีโอโลกปลุกลงทุนไทย

นายกฯเศรษฐาลุยโรดโชว์ “ออสเตรเลีย-เยอรมนี-ฝรั่งเศส” พบซีอีโอ Fortescue บิ๊กธุรกิจเหมืองแร่เบอร์ 4 ของโลก ดึงลงทุนพลังงานสะอาด-ซีอีโอสุดยอดแบรนด์หรูระดับโลก LVMH Group ถกแอร์บัสลุยต่อ MRO พร้อมชูจุดขาย “แลนด์บริดจ์” ด้านเอกชนชี้ 6 เดือนรัฐบาล ส่งสัญญาณชัดภาพการลงทุนคึกคัก มั่นใจดันจีดีพีไม่ต่ำกว่า 2%

ภารกิจเซลส์แมนเศรษฐา ทวีสิน หลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกือบครบ 6 เดือน ได้เดินหน้าสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยผ่านการนำคณะหน่วยงานรัฐและเอกชนเดินทางออกไปดึงการลงทุนมากถึง 16 ประเทศ และล่าสุดอยู่ระหว่างเยือน 3 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย เยอรมนี และฝรั่งเศส ระหว่าง 4-14 มีนาคม 2567

ดัน TAFTA ใช้สิทธิพุ่ง 186%

นายเศรษฐาเปิดเผยว่า ภารกิจที่ออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สำคัญ อันดับ 7 ของไทย ในระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2567 กำหนดการหลักในการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษเพื่อฉลองความสัมพันธ์ 50 ปี พร้อมทั้งมีหารือกับนายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย และนายกฯนิวซีแลนด์ รวมถึงภาคเอกชน

สำหรับประเด็นการหารือระหว่างไทย-ออสเตรเลียครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และเห็นพ้องกันในการปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งมีการใช้เติบโตมากถึงร้อยละ 186 เพื่อให้ทันสมัยมากขึ้น

พร้อมย้ำ ไทยมีจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางความมั่นคงด้านอาหารและผลิตภัณฑ์การแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ (Medical and Wellness) รวมทั้งมีโครงการ Landbridge เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้า ขณะที่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไทยสนใจส่งเสริมการลงทุนและเรียนรู้แนวทางจากออสเตรเลียในด้านเกษตรกรรม พลังงานสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมอัจฉริยะ

ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ไทยคำนึงถึงร่างกฎหมายกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ (New Vehicle Efficiency Standard : NVES) ของรัฐบาลออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกรถยนต์ไปยังออสเตรเลียมากกว่า 200,000 คันต่อปี และมีรถกระบะเป็นสินค้าส่งออกหลัก โดยนายกฯได้ขอให้นำมาตรฐานใหม่ไปใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกมีเวลาในการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาป

ด้านการท่องเที่ยวและการศึกษา นายกฯพร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยว การจัดทำ MOU ด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน เพิ่มจำนวนโควตา Work and Holiday Visa ไทย-ออสเตรเลีย ขณะที่ด้านการศึกษา นายกฯยินดีส่งเสริมการตั้งสาขาของสถาบันการศึกษาออสเตรเลียในไทย

ด้านแรงงาน นายกรัฐมนตรี พร้อมอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงกลุ่ม Digital Nomads จากออสเตรเลียมาไทย และแรงงานจากไทยไปออสเตรเลียที่ขาดแคลน ให้ออสเตรเลียพิจารณาจ้างงานชั่วคราวของเกษตรกรชาวไทย โดยเฉพาะในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว
พร้อมกันนี้ นายเศรษฐาได้พบและเชิญนายคริสโตเฟอร์ ลักซอน นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และคณะเยือนไทยช่วงเดือนเมษายนนี้

ดึงลงทุนพลังงานสะอาด

ด้านความร่วมมือกับภาคเอกชน นายเศรษฐา มีกำหนดหารือกับ Dr. Andrew Forrest AO, Executive Chairman and Founder ผู้บริหาร Fortescue บริษัทเหมืองแร่ขนาดใหญ่ อันดับ 4 ของโลก ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทเหมืองแร่โลหะและพลังงานสะอาด แสดงความสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ไฮโดรเจน และไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทย และชื่นชมนโยบายการผลิตพลังงานสีเขียวและเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 ของไทย

จากนั้นหารือกับ Mr. Peter Fox AM, Executive Chairman ผู้บริหารบริษัท Linfox ที่ให้บริการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์อัจฉริยะของออสเตรเลีย ซึ่งมีแผนที่จะตั้งศูนย์ควบคุมการจราจรระดับภูมิภาคในประเทศไทย ที่จะนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาในไทย นอกจากนั้นยังสนใจเป็นผู้ให้บริการเรื่องห้องเย็น Cold Storage Facility

นอกจากนี้ ยังได้หารือกับบริษัท Redflow บริษัทแบตเตอรี่และพลังงานสะอาด ซึ่งก่อนหน้านี้มีการลงทุนตั้งโรงงานใน EEC ผู้บริหารบริษัท ANCA เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักร CNC (Computerised Numeric Controls) ชั้นนำระดับโลก รวมถึงผู้บริหารบริษัท NextDC ซึ่งจะชักชวนมาลงทุนด้าน Data Center รวมถึงผู้บริหารบริษัท Hesta กองทุนบำเหน็จบำนาญสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพและการบริการชุมชน

ลุยเบอร์ลินพบค่ายรถ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางถึงกรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยมี 2 ช่วง คือ ช่วงแรก 6-7 มีนาคม 2567 เพื่อร่วมงาน ITB Berlin 2024 จากนั้นกล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “Thailand : Connecting to ASEAN” ในงาน Business Networking Event รวมถึงงาน MIPIM 2024 ซึ่งเป็นเวทีพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก และยังได้มีการนำเสนอเรื่องโครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์

สำหรับกิจกรรมที่เบอร์ลินจะพบปะกับภาคเอกชน อาทิ หารือกับผู้บริหารเครือ Volkswagen ซึ่งมี Audi, Bentley, Bugatti, Skoda, Lamborghini, Seat, Man, Porsche และ Scania เกี่ยวกับการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย และมีกำหนดการพบหารือกับผู้บริหารบริษัท Infineon Technology AG

ถก LVMH แบรนด์เนมหรูโลก

สำหรับการเดินทางเยือนกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 8-12 มีนาคม 2567 นายเศรษฐามีกำหนดการพบหารือกับผู้บริหารเอกชนด้านการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ และอุตสาหกรรมอากาศยาน แบบ one-on-one ไฮไลต์ที่น่าสนใจ เช่น การพบกับ Mr. Bernard Arnault, Chairman and CEO of LVMH Group ซึ่งเป็นผู้นำอาณาจักรสินค้าแบรนด์หรูระดับโลก 75 แบรนด์

อาทิ Louis Vuitton Dior Christian Dior, Celine, Givenchy และ Fendi เป็นต้น นอกจากนี้ ยังพบกับ Mr. Sebastien Bazin ประธานและซีอีโอ ACCOR Group, Mr. Gwendal Poullennec ผู้บริหาร MICHELIN Guide International, ด้านอุตสาหกรรมแฟชั่น อาทิ Mrs. Benedicte Epinay, President & CEO of Comite Colbert ,

ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ และการขนส่ง อาทิ ผู้บริหารบริษัท Valeo, Forvia, บริษัท Airbus ,บริษัท Sustainable Aviation Fuel, Safran Helicopter Engine เครื่องยนต์เฮลิคอปเตอร์และให้บริการซ่อมบำรุง (MRO)

ขณะเดียวกัน นายเศรษฐา จะพบและหารือกับนาย Gabriel Attal นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส และ Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศส

หลังจากนั้นจะเดินทางกลับไปเยอรมนีอีกครั้ง ในวันที่ 13 มีนาคม 2567 พบหารือกับผู้บริหารบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและระบบไฮบริด ประกอบด้วย Schaeffler AG, Drxlmaier GmbH&Co, Mahle GmbH รวมถึงพบผู้บริหารค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่าง BMW AG Mercedez-Benz และพบหารือทวิภาคีกับนายโอลาฟ ชอล์ซ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย

6 เดือน สัญญาณลงทุนคึกคัก

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลอดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้นำคณะไปโรดโชว์ในประเทศต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรม EV พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
พร้อมทั้งโชว์จุดขายโครงการพัฒนาแลนด์บริดจ์ Landbridge ซึ่งส่งผลให้สัญญาณของการลงทุนมีการตอบรับดีมาก

โดยคาดว่าเม็ดเงินลงทุนของปีนี้จะดีขึ้นต่อเนื่องจากเม็ดเงินการลงทุนปี 2566 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่อย่าง EV ที่มีการเข้ามาลงทุนแล้วน่าจะมีการดึงคลัสเตอร์เข้ามาลงทุนเพิ่ม และยังมีอุตสาหกรรม Smart Electronics ที่ให้ความสนใจในการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ pcb

“การโรดโชว์ของนายกรัฐมนตรีทำให้นักลงทุนต่างชาติทราบถึงความชัดเจนของนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทย ถือเป็นการส่ง Message ที่ดีออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่นักลงทุนอยู่ระหว่างการปรับย้ายฐานการลงทุน

จุดนี้ทำให้ไทยเป็นตัวเลือกที่สำคัญในภูมิภาคโดยเฉพาะการชูจุดขาย Project การพัฒนาพื้นที่อย่างแลนด์บริดจ์ ซึ่งทำให้เราเห็นว่ามีนักลงทุนให้ความสนใจ เช่น จากตะวันออกกลาง จากสหรัฐ ส่งคนมาสำรวจพื้นที่”

หลังจากนี้ ภาคเอกชนคาดหวังให้รัฐบาลเดินหน้าเรื่องของเบิกจ่ายงบประมาณซึ่งได้ล่าช้าออกมา และน่าจะสามารถใช้จ่ายได้ในช่วงพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 จะเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญทางหนึ่ง ขณะเดียวกันขอให้รัฐบาลเดินหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง

เพราะจากสถานการณ์ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์เริ่มปล่อยสินเชื่อยากมากขึ้น โดยเฉพาะการผ่อนซื้อบ้านราคา 1-3 ล้าน การให้สินเชื่อซื้อรถทำให้เกิดปัญหาการยึดรถมากขึ้น เป็นสัญญาณสะท้อนว่ากำลังซื้อยังขาดความเข้มแข็ง จำเป็นจะต้องมีการใช้มาตรการกระตุ้นเข้ามาเสริม

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จะมีการประชุมกันในวันที่ 6 มีนาคม 2567 โดยจะมีการพิจารณาถึงโอกาสการผลักดัน GDP ในปีนี้ให้เติบโต 2% ตามเป้าหมาย ภายหลังจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยการออกฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนเริ่มเห็นผล ทำให้คาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวจะเดินทางเข้ามาเยอะ แต่สิ่งที่สำคัญคือไทยต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กระจายออกไปสู่เมืองรองให้มากขึ้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า การเดินทางเยือนออสเตรเลียและประเทศในสหภาพยุโรปทั้งฝรั่งเศสและเยอรมนีน่าจะส่งผลดีต่อนโยบายการขับเคลื่อน soft power ของประเทศไทย โดยเฉพาะฝั่งยุโรปซึ่งมีความเชาญในด้านอุตสาหกรรมแฟชั่นและอาหารน่าจะนำไปสู่การเชื่อมต่อการส่งเสริม soft power ในอนาคตได้อย่างดี และเยอรมันีก็จะช่วยเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์อีวี

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปโรดโชว์ในประเทศต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนทั้งอุตสาหกรรม EV อุตสาหกรรมสมัยใหม่ต่างๆจะต้องมีการบูรณาการหน่วยงานที่อยู่เป็น back office จะต้องประสานการทำงาน เพื่อวางระบบการลงทุนเข้ามาและสะท้อนปัญหาอุปสรรคของการลงทุนไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อลดอุปสรรคปัญหา

“การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ แต่จะใช้เวลานานมากกว่าดังนั้นจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนการลงทุนภายในประเทศคู่ขนานกันไปด้วย”

นางวีเบ็คก้า ริสซอน ไรเวอร์ก” ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในโอกาสที่รัฐบาลดำเนินงานมาครบ 6 เดือนในมุมของนักลงทุนต่างชาติชื่นชมความมุ่งมั่นของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ( FDI ) รวมถึงนักลงทุนที่มีอยู่

ซึ่ง JFCCT เน้นย้ำความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยใน 5 ด้าน ได้แก่ การปฏิรูปกฎระเบียบ โดยเฉพาะใบอนุญาตทำงาน วีซ่า กฎระเบียบด้านใบอนุญาต รัฐบาลดิจิทัล การปรับปรุงอันดับดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index : CPI ) ในเรื่องความโปร่งใส การเคารพหลักนิติธรรม การเปิดเสรีภาคบริการ (การตรวจสอบ FBA) การเข้าถึงแรงงานมีฝีมือ การถ่ายทอดทักษะอุตสาหกรรมระยะสั้น และการปฏิรูปการศึกษาระยะยาว