งานท้าทาย ธปท.ยุคดิจิทัล หม่อมเต่าเจ๊งคริปโทฯ 3 แสน

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย วิไล อักขระสมชีพ

ในงานสัมมนาวิชาการประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) “BOT Symposium 2018” เมื่อวันที่ 24-25 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ปีนี้ชูเรื่อง “The Future of Money, Finance and Banking สู่ยุคใหม่ของระบบการเงินและธนาคารกลาง” ซึ่งมานำเสนอและเปิดเวทีให้ผู้วิจารณ์ทั้งนักการเงิน และนักวิชาการมาคุยภาษานักเศรษฐศาสตร์เข้มข้นทีเดียว

เพราะระบบการเงินและธนาคารกลางทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ไทย กำลังอยู่ในช่วงรอยต่อสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นมีผู้เล่นหน้าใหม่ ๆ ฟินเทค ช่องทางชำระเงินแบบใหม่ ๆ ธุรกิจออนไลน์ พลวัตเงินเฟ้อที่ไม่เหมือนเดิม มีผลต่อการดำเนินงานของ “ธนาคารกลาง” ทั้งการวางกรอบนโยบายการเงิน การกำกับดูแลภาคการเงิน การสื่อสาร

โดยผู้ว่าการ ธปท. “ดร.วิรไท สันติประภพ” กล่าวเปิดงานว่า การเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจน คือ การปฏิวัติข้อมูลสารสนเทศ ขณะที่หัวใจสำคัญของภาคการเงิน คือ ความไว้วางใจ (trust) หากข้อมูลเปลี่ยน ความไว้วางใจก็เปลี่ยนไป เดิมธนาคารพาณิชย์จะเป็นตัวกลางรับฝากเงิน-ปล่อยกู้เงิน และในอนาคตก็จะมีผู้ให้บริการรูปแบบใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้น บนการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ทำให้พรมแดนลดความสำคัญลง

ซึ่งมีหลายมิติ เช่น ระดับประเทศก็จะมีการทำธุรกรรมข้ามประเทศมากขึ้น พรมแดนระหว่างประเภทสถาบันก็จะมีผู้ให้บริการใหม่ ๆ เข้ามา ธุรกรรมการเงินก็จะถูกผสมผสานกับธุรกรรมอื่น ๆ เช่น e-Commerce, e-Wallet, การปล่อยกู้ตรงระหว่างกัน (P to P) และที่สำคัญอีกด้าน คือพรมแดนผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ปัจจุบันจะผนวกกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

“รูปแบบการกำกับดูแลสถาบันทางการเงิน ก็ต้องปรับไปให้สอดคล้องกับความเสี่ยง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในยุคที่มีการปฏิวัติข้อมูลสารสนเทศ เราจะเห็นการเชื่อมโยงทางการเงินข้ามประเทศที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังนั้น บทบาทในการรักษาเสถียรภาพจึงมีความสำคัญมากขึ้น การดูแลความเสี่ยงก็ต้องใช้ข้อมูลเชิงลึกและเทคโนโลยีมาช่วยดู”

ขณะที่ ธปท.มีฐานข้อมูลรายธุรกรรมและรายสัญญา สินเชื่อแต่ละบัญชี จะทำให้ ธปท.สามารถประเมินความเสี่ยงในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น และพัฒนาเครื่องมือชี้นำไปถึงภาวะในอนาคต ซึ่งจะทำให้การออกมาตรการและนโยบายต่าง ๆ อิงข้อมูลข้อเท็จจริงและทันการ

ดร.วิรไท ย้ำวัตถุประสงค์ของธนาคารกลางว่า ในบริบทที่มีการเปลี่ยนแปลง จะก่อให้เกิดความท้าทายต่อการรักษาเสถียรภาพ ดังนั้น ธปท.จึงต้องชั่งน้ำหนักให้ดี (ในการดำเนินนโยบายการเงินผ่านกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทั่วไป) เวลานี้จะเห็นเงินเฟ้อทั้งโลกค่อนข้างต่ำ เพราะการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ถูกลงเรื่อย ๆ อาหารสด ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อไม่สูง ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักกับความเสี่ยงด้านอื่น ๆ

ซึ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกันก็คือ “เสถียรภาพระบบการเงิน” ขณะที่มีพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่มากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุจากดอกเบี้ยต่ำมานาน คนเลยประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร และอาจกระจายไปสู่หลาย ๆ จุดได้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาระบบเสถียรภาพมากขึ้น จึงมีหลายปัจจัยที่ต้องมาชั่งน้ำหนักในแต่ละช่วงเวลาด้วย มีหลายเครื่องมือมาประกอบการพิจารณา

ส่วนการให้ความสำคัญของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อก็จะยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งบางประเทศจะใช้ช่วงกว้างขึ้น อย่างไทย เงินเฟ้อ 2.5% บวก/ลบ 1.5% (กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปีนี้อยู่ที่ 1-4%) หรือบางประเทศใช้ระยะเวลาที่ยาวขึ้นในการกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย คือ จะไม่ดูปีต่อปี กรอบเงินเฟ้อของไทยถือว่าเหมาะสม แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกว่ากรอบเงินเฟ้อ คือ ทำอย่างไรให้ “เสถียรภาพระบบการเงิน” มาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจนโยบายการเงิน เป็นอีกเรื่องที่ ธปท.ศึกษาอยู่ จะเป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักระหว่าง “เสถียรภาพ” กับ “การเติบโต” การใช้มาตรการ macro prudential เสริมด้วย

ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ ธปท.ได้มีการลงลึกศึกษาและสามารถชมเทปย้อนหลังงานสัมมนาได้ที่ BOT YouTube Channelและยังมีการทอล์กที่มันส์มาก โดย 2 นายแบงก์เก่า-ใหม่ และนักเศรษฐศาสตร์ทิ้งท้ายว่า 10 ปีข้างหน้ายังใช้กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายได้อีกหรือ

ปิดท้ายมีโอกาสพูดคุยกับอดีตผู้ว่าการ ธปท. “หม่อมเต่า” หรือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ในงานนี้ก็เล่าว่า อยากรู้ว่าลงทุนเหรียญ (โทเค็นดิจิทัล) เป็นยังไง เลยลงทุนเหรียญของเจฟินคอยน์ 5 แสนบาท ซึ่งออกขายก่อนกฎหมายคุม ปรากฏว่าขาดทุน 3 แสนบาท ก็เป็นค่าเล่าเรียน เพราะได้ white paper มาดู (ฮา)