รถยนต์ไฟฟ้าทางเลือกใหม่ แก้ปัญหามลพิษได้จริงหรือ

คอลัมน์ ระดมสมอง

โดย พชรพจน์ นันทรามาศ ธนาคารกรุงไทย

ฝุ่นละอองที่ปกคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงนี้ ทำให้ประชาชนคนไทยหันมาให้ความสนใจกับฝุ่นขนาดเล็กชนิด PM 2.5 และด้วยความกังวลต่อสุขภาพหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ตื่นตัวกันมากขึ้นกับที่มาและการแก้ไขปัญหาฝุ่นในครั้งนี้

อย่างไรก็ดี PM 2.5 เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ มลพิษที่เกิดขึ้นจากการจราจรที่หนาแน่นในเมืองใหญ่ และมีอันตรายต่อสุขภาพรวมถึงสิ่งแวดล้อมไม่แพ้กัน

ดังนั้น หนึ่งในทางออกที่ได้รับการกล่าวถึงคือการลดปริมาณไอเสียจากรถยนต์โดยการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้แทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

ซึ่งเมื่อพิจารณาในเบื้องต้นอาจเชื่อได้ว่าเป็นทางออกที่น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้จริง เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าบางประเภทไม่มีการปล่อยไอเสีย แต่หากวิเคราะห์ให้รอบด้านถึงที่มาของพลังงานไฟฟ้า รวมถึงกระบวนการผลิตรถยนต์แล้ว ทางเลือกดังกล่าวจะยังสามารถตอบโจทย์เรื่องมลพิษได้จริงหรือไม่

แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่าไอเสียรถยนต์นั้นเป็นตัวการหลักหรือไม่ เพราะจริง ๆ แล้ว ฝุ่นขนาดเล็กและมลพิษทางอากาศอื่น ๆ สามารถเกิดได้จากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จากไอเสียของเครื่องยนต์สันดาปภายในทุกชนิด การเผาในที่โล่ง ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม จากโรงงานผลิตไฟฟ้า ตลอดจนการรวมตัวของก๊าซอื่น ๆ ในบรรยากาศ เป็นต้น

จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษที่อ้างอิงถึงงานวิจัยในปี 2017 ไอเสียของรถยนต์ดีเซลคิดเป็น 20-30% ของแหล่งที่มาของฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ซึ่งแม้จะไม่ใช่ทั้งหมดของปัญหาแต่ก็เป็นตัวการสำคัญ การลดปริมาณไอเสียจากรถบนท้องถนนจึงน่าจะมีส่วนช่วยลดฝุ่นและก๊าซพิษต่าง ๆ ได้มาก

อย่างที่เราทราบกันดีว่า รถยนต์ไฟฟ้ามีหลายประเภท มีตั้งแต่รถ BEV (battery electric vehicles) ที่ไม่มีการปล่อยไอเสียเลยเนื่องจากเป็นการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า และใช้พลังงานแบตเตอรี่ซึ่งมาจากการเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าอย่างเดียว ส่วนรถ PHEV (plug-in hybrid electric vehicles) เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ 2 ระบบ คือ ทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine : ICE) และมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อนร่วมกัน สามารถเสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้าได้เหมือนรถ BEV

และอีกประเภทคือรถ HEV (hybrid electric vehicles) เป็นรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สลับกับมอเตอร์ไฟฟ้าเช่นกัน แต่ไม่มีช่องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟฟ้า ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 3 ประเภทนี้มีการปล่อยมลพิษน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เพียงอย่างเดียว

หากเราใช้อัตราการปล่อยก๊าซ CO2 ซึ่งสามารถดูได้จาก ecosticker โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของรถยนต์แต่ละคัน เป็นตัววัดการปล่อยมลพิษจากไอเสีย (ecosticker ไม่ได้ระบุอัตราการเกิดฝุ่น) จะพบว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เพียงอย่างเดียวจะมีอัตราการ

ปล่อยก๊าซ CO2 ที่ราว 100 กรัมต่อกิโลเมตร (g/km) สำหรับรถขนาดเล็ก (ecocar) และสูงได้ถึงราว 200 g/km สำหรับรถกระบะที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรฐานของเครื่องยนต์และน้ำมันที่ใช้เติม

ในขณะที่รถ BEV จะมีอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 เป็นศูนย์ ส่วนรถ PHEV จะอยู่ที่ราว 50-60 g/km และรถ HEV จะอยู่ที่ราว 90-100 g/km

อย่างไรก็ดี ตัวเลขการปล่อยก๊าซ CO2 จากท่อไอเสียยังไม่ใช่มลพิษทั้งหมดของรถยนต์เหล่านี้ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งต้องรวมมลพิษทางอากาศจากการผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของ “ต้นทุน” ด้านมลพิษของการขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

จากการศึกษาของคณะนักวิจัยจาก TDRI ในปี 2016 พบว่าอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 เมื่อรวมการผลิตไฟฟ้าในการใช้รถ BEV จะอยู่ที่ประมาณ 100 g/km ใกล้เคียงกับรถขนาดเล็ก ecocar แต่ก็ยังต่ำกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ทั่วไปอยู่มาก แหล่งที่มาของไฟฟ้าจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การลดมลพิษโดยการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น

จากแผนการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2561-2580 (PDP 2018) ที่เพิ่งผ่านการเห็นชอบในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา การผลิตพลังงานไฟฟ้าในช่วง 20 ปีข้างหน้าจะลดการใช้ถ่านหินลงจาก 21% ในปัจจุบันเหลือประมาณ 12% แต่ก็ยังพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าที่ได้จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง อาทิ ก๊าซธรรมชาติ/LNG และชีวมวลในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง

ดังนั้น ด้วยแผนพลังงานไฟฟ้าของประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้า แนวทางการลดมลพิษทางอากาศในเมืองโดยการหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ประโยชน์สูงสุด จำเป็นต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าของไทย ให้ได้ปริมาณไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปริมาณเชื้อเพลิงเท่าเดิม และปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้มีการปล่อยมลพิษจากเชื้อเพลิงเดิมให้น้อยลงกว่าในปัจจุบัน

นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ควรต้องนำมาพิจารณา คือ มลพิษที่เกิดจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเอง ซึ่งแม้ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องกังวลในขณะนี้รถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ยังมาจากการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก แต่หลายค่ายรถยนต์ก็มีแผนที่จะผลิตแบตเตอรี่ในประเทศในอนาคตตามแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตของรัฐบาล

ข้อมูลจากต่างประเทศชี้ว่า การผลิตรถ BEV มีการปล่อยมลพิษสูงกว่าการผลิตรถ ICE โดยส่วนใหญ่เกิดจากวัสดุและการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน จากบทวิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์ Financial Times ซึ่งอ้างอิงการศึกษาโดยคณะผู้วิจัย MIT Trancik Lab ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ารถ BEV ขนาดใหญ่ เช่น Tesla Model S มีมลพิษเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต (production emission)

เมื่อแปลงเป็นปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สูงกว่ารถยนต์ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องยนต์อย่าง BMW 7 Series อยู่ถึง 49% เป็นต้น

คณะผู้วิจัย MIT Trancik Lab ยังแนะนำให้พิจารณามลพิษตลอดอายุการใช้งานของรถยนต์ หรือที่เรียกว่า life-cycle emission โดยคำนึงถึงมลพิษที่เกิดตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้งานด้วยเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ ที่มาของเชื้อเพลิง ตลอดจนการทำลายซากซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะในระยะยาวเรายังต้องคำนึงถึงการกำจัดแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของรถยนต์ไฟฟ้าหลังหมดอายุการใช้งาน ซึ่งเป็นกากอุตสาหกรรมอันตรายที่ต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยก็ยังชี้ว่า รถยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการปล่อยมลพิษตลอดอายุการใช้งานต่ำกว่ารถยนต์ขนาดเดียวกันที่ใช้เครื่องยนต์อยู่มาก

แม้การปรับไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นทางออกที่ดี แต่คงใช้เวลาค่อนข้างมากก่อนที่จะเกิดขึ้นในปริมาณที่มี critical mass เพียงพอในการลดปัญหามลพิษในเมือง เพราะรถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะรถ BEV ที่ยังเป็น niche market และค่ายรถยนต์ที่นำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้สำหรับรถยนต์ PHEV หรือ HEV ที่ผลิตในประเทศก็ยังเป็นสำหรับรถยนต์ราคาตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปอยู่ หากต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นภาครัฐคงต้องมีมาตรการเข้ามาสนับสนุนเพื่อจูงใจเพิ่มขึ้น อาทิ ช่วยสนับสนุนในเรื่องของราคา หรือการมีโครงการเปลี่ยนรถยนต์เก่าที่หมดสภาพแล้วมาเป็นเครดิตในการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ การวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จไฟฟ้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานก็จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญเช่นกัน ซึ่งการมีโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการชาร์จไฟฟ้าที่ทั่วถึงจะลดความจำเป็นของการใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาดใหญ่ในรถยนต์ไฟฟ้า ช่วยให้รถยนต์ราคาถูกลงและยังสร้างมลพิษในกระบวนการผลิตน้อยลงอีกด้วย

ในท้ายที่สุดแล้ว เมื่อพิจารณาจากต้นเหตุสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ปริมาณรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนจำนวนมาก วิธีที่จะสามารถแก้ไขปัญหาก่อนก็คือ การลดปริมาณรถยนต์

ส่วนบุคคลบนท้องถนน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อระบบขนส่งสาธารณะมีความเชื่อมโยงให้สามารถเดินทางได้สะดวกสบาย มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับผู้ใช้งานประชาชนในกรุงเทพมหานครคงหันมาใช้รถโดยสารประจำทางกันมากขึ้นหากไม่ต้องรีบวิ่งและกระโดดขึ้นรถเหมือนทุกวันนี้ นอกจากนี้ การปรับปรุงรถขนส่งสาธารณะที่สร้างมลพิษจำนวนมาก

โดยเฉพาะรถโดยสารประจำทางที่ยังใช้น้ำมันดีเซลและเครื่องยนต์ที่เก่าให้มีมาตรฐานไอเสียที่ดีขึ้นก็จะสามารถช่วยได้มาก

ส่วนการนำเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้กับรถขนส่งสาธารณะ ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหามลพิษในเมืองใหญ่ได้อย่างดีเช่นกัน