เด็ก (?) ติดมือถือ-ติดเกม

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
โดย สร้อย ประชาชาติ

นักท่องเน็ตไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก พิสูจน์ได้จากทั้งจากเวลาการท่องอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นทุกปี ไปจนถึงสถิติการใช้งานโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม โดยเฉพาะการใช้งานในกรุงเทพฯ ที่สูงมากจนแทบจะกลายเป็นเมืองหลวงของเฟซบุ๊ก คู่ขนานไปกับการเติบโตของบรรดา “เกมเมอร์” ในไทย ที่นอกจากจำนวนจะเพิ่มขึ้นมากแล้ว การจับจ่ายของบรรดา “เกมเมอร์” ชาวไทย ยังดันให้อุตสาหกรรมเกมของไทยมีมูลค่าติดอันดับที่ 19 ของโลก จนบรรดาแบรนด์ทั้งหลาย ไม่จำกัดเฉพาะแบรนด์สินค้า-บริการด้านไอที กระโดดเข้าจัดกิจกรรมจัดแคมเปญบูมกำลังซื้อกลุ่มนี้กันอย่างล้นหลาม

แต่การใช้เวลาอยู่กับ “โซเชียลมีเดีย” และ “เกม” ด้วยเวลาที่ “มาก” ก็ส่งผลต่อ “ร่างกาย” ไม่น้อย และไม่ใช่เกิดขึ้นกับ “เด็ก” อย่างที่สังคมพุ่งเป้ากัน แต่กระทบกับ “สุขภาพ” ของทุกเพศทุกวัย

“ศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี” กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเด็กและวัยรุ่น ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม (องค์การมหาชน) ได้ให้ข้อมูลในหลายเวทีเสวนาว่า การใช้เวลากับ “เกม-มือถือ” อย่างมาก ชนิดที่ใช้เวลาอยู่กับสิ่งนั้นจนทำให้วิถีชีวิตประจำวันเสีย ไม่กินไม่นอน มีความต้องการเล่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าไม่ได้เล่นแล้วจะ “ลงแดง” ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ตั้งแต่ขั้นใช้วาจาอาละวาด จนถึงขั้นลงไม้ลงมือ ไม่ใช่แค่พฤติกรรมการติดเกม ติดโซเชียลเท่านั้น

แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศลงในคู่มืออ้างอิงโรคฉบับใหม่ในหมวดหมู่ความผิดปกติทางจิต ระบุว่า เป็นอาการของ “โรค” ที่มีรูปแบบเดียวกับผู้เสพติดยาเสพติด

จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาโดยจิตแพทย์เพื่อฟื้นฟู มิฉะนั้นจะยิ่งทำให้ใช้เวลากับเกมหรือโซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพกายสุขภาพจิตมากขึ้น

“ที่สำคัญคือ จะทำให้มีบุคลิกติดตัวคือ เป็นคนแรงมา-แรงไป มีความหวาดระแวงไม่ไว้ใจสังคม มองโลกในแง่ร้าย ไร้มนุษยธรรมความมีเมตตา ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะนำไปสู่การทำร้ายตัวเองและผู้อื่น”

ขณะที่แนวทางป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ คือ การเบี่ยงเบนความสนใจและสร้างกิจกรรมร่วมกัน กำหนดกติกาในการใช้เวลากับมือถือ เกมโซเชียลมีเดีย

“แต่ที่สำคัญคือ ผู้ปกครอง พ่อแม่ คนที่กำหนดกติกา ต้องทำแบบเดียวกัน ไม่ใช่ว่าห้ามลูกเล่นเกม เล่นมือถือให้ลูกเล่นน้อยลง แต่พ่อแม่ก็ติดเอง”

สิ่งที่คุณหมอสุริยเดวกำชับไว้นั้น ต้องเรียกว่า “ใช่เลย”

เพราะทุกวันนี้ ไปห้างสรรพสินค้าหรือร้านอาหาร ก็มักจะเห็นภาพที่พ่อแม่นั่งก้มหน้าอยู่กับมือถือ แล้วปล่อยให้ลูกวิ่งเล่น หรือลูกก็นั่งก้มหน้าอยู่กับมือถือของตัวเอง ไม่ได้มีใครใส่ใจใคร บ่อยครั้งมากที่ได้เห็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดเสียว ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่มัวแต่เซลฟี ปล่อยมือลูก จนลูกวิ่งลงถนนจนรถเกือบจะชน หรือก้มกดมือถือ จนลูกวิ่งไปชนคนนั้นคนนี้

หรือเหตุการณ์ที่เป็นตลกร้าย อย่างพ่อแม่ตะคอกใส่ลูกที่นั่งก้มหน้าเล่นมือถือไม่กินข้าว…พอพูดจบตัวเองก็ก้มหน้ากดมือถือต่อ

รวมไปถึงกรณีที่เห็นลูกวิ่งซนเลยจับมือถือเปิดเกมหรือวิดีโอให้ลูกแทน จะได้ “นั่งนิ่ง ๆ”

เรียกว่า ปล่อยให้ “มือถือ” ช่วยเลี้ยงลูก เป็นอีกพัฒนาการของการปล่อยให้ “ทีวี” หรือ “คอมพิวเตอร์” เลี้ยงลูกแทน ซึ่งที่ผ่านมามีผลวิจัยยืนยันว่า ส่งผลต่อการพัฒนาการของเด็กที่ช้าลง เพราะได้รับการป้อนข้อมูลที่ไม่เหมาะกับช่วงวัย ทั้งบรรดาจอภาพที่มีคลื่นความถี่ ซึ่งทำให้สายตาของเด็กต้องโฟกัสความเคลื่อนไหวของภาพตลอดเวลา มีส่วนกระตุ้นให้เด็กมีอาการ “สมาธิสั้น”

แล้วไม่ต้องคาดหวังเลยว่า โตขึ้น “เด็กจะไม่ติดมือถือ”

สรุปแล้ว ปัญหาอยู่ที่ “เด็ก” และ “เทคโนโลยี” จริง ๆ หรือ