โฟกัส “ปากีสถาน” ตลาดใหญ่ในเอเชียใต้ที่ไม่ควรมองข้าม

(Photo by ABDUL MAJEED / AFP)
คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ปากีสถานเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย รวมทั้งเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ ความน่าสนใจของปากีสถานมาจากจำนวนประชากรกว่า 200 ล้านคน มากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยในจำนวนนี้ประชากรกว่า 30 ล้านคน เป็นกลุ่มประชากรที่มีกำลังซื้อสูง

เศรษฐกิจของปากีสถานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขับเคลื่อนโดยการบริโภค (private consumption) เป็นหลัก ในปี 2561 การบริโภคของปากีสถานมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 82.5 ของ GDP ทำให้ปากีสถานต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอยู่มาก และที่สำคัญ ชาวปากีสถานมีทัศนคติที่ดีต่อสินค้าไทย ปากีสถานจึงมีศักยภาพเป็นตลาดรองรับสินค้าของไทยได้ โดยในอาเซียน ไทยถือเป็นตลาดนำเข้าอันดับ 2 ของปากีสถาน รองจากอินโดนีเซีย

ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของปากีสถาน คือ ศักยภาพของปากีสถานในการเป็นศูนย์กลางการขนส่งและการเป็นประตูการค้าให้ไทยไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ปากีสถานมีที่ตั้งเป็นเสมือนจุดเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และเอเชียกลาง และอยู่ระหว่างพัฒนาและขยายเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเส้นทางหลวง ทางรถไฟ และท่าเรือ ภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (The China-Pakistan Economic Corridor : CPEC) มูลค่า 6,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) ของจีน เพื่อเชื่อมต่อภาคตะวันตกเฉียงใต้ของปากีสถานกับภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

หากใช้ปากีสถานเป็นฐานการผลิตก็จะช่วยประหยัดต้นทุนในการขนส่งสินค้าไปยังภูมิภาคใกล้เคียงข้างต้น และสินค้าที่ผลิตก็จะได้รับการรับรองฮาลาลได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมทั้งจะได้รับสิทธิพิเศษ GSP+ จากสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ปากีสถานมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย มีปริมาณสำรองถ่านหินจำนวนมากมีพื้นฐานด้านการผลิตฝ้ายและสิ่งทอที่เข้มแข็ง มีอุตสาหกรรมเหล็กซึ่งถูกวางรากฐานมาตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อีกทั้งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลไม้หลากชนิด แต่ยังขาดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการแปรรูป จึงถือเป็นโอกาสทางที่ดีสำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนชาวไทย

ในปี 2546 ปากีสถานเริ่มดำเนินนโยบาย Vision East Asia เพื่อส่งเสริมและขยายความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแสดงความสนใจจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับไทย ทั้งสองฝ่ายจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) เพื่อเป็นเวทีหารือการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลง FTA ต่อมาเมื่อเดือนกันยายน 2558 ไทยและปากีสถานได้เริ่มเจรจาความตกลง FTA เป็นทางการ ครอบคลุมทั้งด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าอื่น ๆ เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา และการแข่งขันทางการค้า โดยการเจรจาจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ในช่วงแรก เจรจาเฉพาะประเด็นการค้าสินค้า และเมื่อสามารถสรุปผลการเจรจาด้านการค้าสินค้าได้ จึงจะเริ่มเจรจาส่วนในช่วงที่สอง ในประเด็นด้านการค้าบริการ การลงทุน และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าอื่น ๆ

ที่ผ่านมาไทยและปากีสถานมีการประชุม FTA ร่วมกันมาแล้ว 9 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 การเจรจาขาดช่วงไป เนื่องจากการเลือกตั้งทั่วไปของปากีสถานในช่วงกลางปี 2561 แต่ไทยและปากีสถานได้มีการประชุมเจรจาทางไกลผ่านระบบ VDO conference อยู่เรื่อยมา ซึ่งล่าสุดมีการประชุมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ในการเจรจาที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายสามารถสรุปเนื้อหาในข้อบทได้เกือบทั้งหมดแล้ว และอยู่ระหว่างหารือเรื่องการเปิดตลาดสินค้า ซึ่งไทยและปากีสถานมีความตั้งใจที่จะสรุปผลการเจรจาให้ได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ การจัดทำความตกลง FTA ระหว่างไทย-ปากีสถาน จะช่วยเพิ่มทางเลือก และขยายโอกาสทางการค้า การลงทุน และการส่งออกของไทยไปตลาดใหม่ ๆ เช่น ปากีสถาน โดยจะช่วยลดอุปสรรคทางภาษีและที่มิใช่ภาษี ในปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับปากีสถานมีมูลค่า 1,686.99 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 8.84 และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) การค้ารวมมีมูลค่า 985.99 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปปากีสถาน มูลค่า 793.47 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกหลัก เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เส้นใยประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และพลาสติก ขณะที่การนำเข้าจากปากีสถานมาไทยเป็นมูลค่า 192.52 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้านำเข้าหลัก เช่น สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และด้ายและเส้นใย เป็นต้น