ดาบสองคม ลงทุน…”เวียดนาม”

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กษมา ประชาชาติ


การเติบโตอย่างก้าวกระโดด และแข็งแกร่งของ “เวียดนาม” ถือว่าสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับอาเซียนไม่น้อย

เมื่อไม่นานมานี้สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอย ระบุว่า การเติบโตของ GDP เวียดนามปี 2562 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.05 สูงกว่าเป้าหมายที่รัฐสภาเวียดนามกําหนดไว้ที่ร้อยละ 6.6-6.8 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มาจากภาคการผลิตและการแปรรูปเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.37 ภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.56 และภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.68

World Economic Forum (WEF) ออกรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index : GCI) ประจำปี 2562 จากการสำรวจ 141 ประเทศ ซึ่งในปีนี้อันดับของไทยต่ำลงจาก 40 มาอยู่ที่ 38 ขณะที่ “สิงคโปร์” แซงสหรัฐขึ้นเป็นอันดับ 1 แต่อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ปีนี้ “เวียดนาม” มีอันดับขยับเพิ่มขึ้นได้ถึง 10 อันดับ จากอันดับที่ 77 เมื่อปีที่ผ่านมา ขึ้นเป็นอันดับที่ 67 ของโลกจากความโดดเด่นด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค และขนาดตลาด ส่งผลให้เวียดนามกลายเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนต่างชาติ

สอดรับกับข้อมูลจาก นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ระบุในงานสัมมนา Thailand 2020 ว่า ตัวเลขเม็ดเงินลงทุนตรง (FDI) ที่ไหลเข้ามายังอาเซียนเมื่อปี 2561 มุ่งตรงไปที่สิงคโปร์อันดับ 1 มูลค่า 78,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.5% รองลงมาคือ อินโดนีเซีย 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.2% และเวียดนามมาเป็นอันดับ 3 มูลค่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11.7% ขณะที่ “ไทย” รั้งอันดับ 4 มูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.5%

ความน่าสนใจของ “เวียดนาม” ไม่เพียงมาจากปัจจัยจำนวนประชากร 97 ล้านคน ที่สามารถเป็นได้ทั้งผู้บริโภคและตลาดแรงงาน ความมีเสถียรภาพในการดำเนินนโยบาย การเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 6-7% ทำให้ประชากรมีกำลังซื้อสูง โดยรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มจาก 2,170 เป็น 2,320 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปีในปีที่แล้ว

แต่ยังมีแรงดึงดูดที่สำคัญ จากการดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุน ทั้งการให้สิทธิประโยชน์ในการถือครองที่ดินได้นาน 99 ปี และแต้มต่อทางภาษีสำหรับนักลงทุนที่เข้าไปผลิตในเวียดนามเพื่อไปส่งออก

ด้วยเพราะปัจจุบัน “เวียดนาม” ได้บรรลุความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ครอบคลุมตลาดถึง 11 ประเทศ หรือความตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EVFTA) ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้และยังคงได้ประโยชน์จากการลดภาษีจากสหรัฐตามกรอบสนธิสัญญาไมตรี และหากสมาชิกอาเซียนและพันธมิตร 6 ประเทศ บรรลุความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อีก เวียดนามจะยิ่งมีสิทธิพิเศษพลัสขึ้นไปอีก

ความตกลงแต่ละฉบับที่เวียดนามบรรลุไปแล้วนั้นล้วนแต่เป็นความตกลงกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และมีกำลังซื้อสูง ดังนั้น นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในเวียดนามจะได้ประโยชน์ทั้งจากผลิตเพื่อขายภายในประเทศเวียดนาม หรือผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดที่่อยู่ภายใต้ความตกลงฉบับต่าง ๆ ซึ่งจะได้รับสิทธิในการลดภาษี เรียกว่า คุ้มเกินคุ้ม

ดังนั้น ไม่แปลกใจที่นักลงทุนต่างชาติจะเล็งปักธงลงทุนในเวียดนาม โดยล่าสุด “FOXCONN” ซึ่งเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือให้กับค่ายแอปเปิลตัดสินใจแบ่งสัดส่วนฐานผลิต 30% จากจีน ไปลงทุนที่เวียดนาม เพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้า ทำให้เวียดนามกลายเป็นเสือติดปีก เพราะก่อนหน้านี้ ค่ายมือถือซัมซุงจากจีนก็ได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามก่อนแล้ว ประเด็นนี้ส่งผลให้ “สินค้าโทรศัพท์มือถือและส่วนประกอบ” กลายเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของเวียดนามมาแล้ว (ตามมาด้วยสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน รองเท้า และเครื่องจักร อุปกรณ์ และส่วนประกอบ)

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งผลการขยายตัวในภาคการผลิต และการลงทุน ก็เปรียบเสมือน “ดาบสองคม” เช่นกัน โดยภาคอุตสาหกรรมเข้าไปลงทุนในเวียดนามขณะนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาการแย่งชิงแรงงานและการปรับขึ้นค่าแรง เพราะตามกฎหมายการลงทุนเวียดนามกำหนดให้นักลงทุนต้องจ้างแรงงานเวียดนามในสัดส่วนสูงกว่า 95% และล่าสุดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเวียดนามออกมายอมรับว่า ประเทศเวียดนามก็กําลังเผชิญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีระดับมลพิษทางอากาศในฮานอยสูงที่สุดในรอบ 5 ปี และมีผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นจํานวนมาก การตั้งรับความท้าทายเหล่านี้จึงเป็นอีกประเด็นที่น่าติดตามว่าเวียดนามจะรับมืออย่างไร