EAEU ตลาดใหม่ ไทยรู้ไว้ ไม่ตกขบวน

(Photo by Dimitar DILKOFF / AFP)

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

 

สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union : EAEU) เกิดขึ้นจากรัสเซีย คาซัคสถาน และเบลารุส ได้ลงนามในสนธิสัญญาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจร่วมในปี 2555 โดยเริ่มจากการรวมกลุ่มเป็นสหภาพศุลกากร (customs union) มีการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรเดียวกันสำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สมาชิก EAEU และพัฒนาเป็นตลาดร่วม (common market) เพื่อเปิดเสรีการค้าสินค้า บริการ การลงทุน แรงงาน รวมทั้งกำหนดแนวนโยบายเศรษฐกิจร่วมกัน เช่น พลังงาน และขนส่ง เป็นต้น

ต่อมาได้จัดตั้งเป็นสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และขยายสมาชิกเป็น 5 ประเทศ คือ รัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน ในปี 2558 โดยมีคณะกรรมาธิการสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission : EEC) เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่บริหาร

เนื่องจากประเทศสมาชิก EAEU มีพื้นฐานทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ร่วมกันมายาวนานและแน่นแฟ้น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่าง EAEU จึงมีความคืบหน้าหลายด้าน อาทิ การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการจดทะเบียนธุรกิจ การขึ้นทะเบียนแรงงาน และระบบ e-Customs เป็นต้น โดยมีเป้าหมายที่จะรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในด้านกฎหมายและกฎระเบียบสำหรับการค้าสินค้าและการค้าบริการ พิธีการทางศุลกากร การเงิน พลังงาน และแรงงาน ในปี 2568

EAEU ยังมีนโยบายเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Eurasian Innovation Technology Platform : ETP) ได้มีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 สาขาที่จะพัฒนาร่วมกันระหว่างสมาชิก ได้แก่ (1) อวกาศและเทคโนโลยีภูมิศาสตร์สารสนเทศ (2) ชีวการแพทย์ (3) คอมพิวเตอร์อัจฉริยะ (4) เทคโนโลยีการสร้างและควบคุมแสง (5) อาหารและอาหารแปรรูป (6) การเกษตร (7) สิ่งทอและอุตสาหกรรมเบา (8) อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมเครื่องจักร

(9) เคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี (10) พลังงาน (11) คมนาคม (12) เทคโนโลยีนิวเคลียร์และรังสี ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของไทย อาทิ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และการแพทย์ครบวงจร เป็นต้น

เมื่อปี 2557 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ได้ศึกษาโอกาสและผลกระทบของการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับEAEU ซึ่งขณะนั้นยังมีสมาชิกเพียง 3 ประเทศ คือ รัสเซีย คาซัคสถาน และเบลารุส

ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การจัดทำการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทยกับ EAEU จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของไทย ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 0.0717-0.2029 การส่งออกของทั้งไทยและกลุ่มประเทศนั้นจะขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด สวัสดิภาพของประชากรดีขึ้น การจ้างงานของไทยเพิ่มขึ้น การบริโภค การลงทุน และการใช้จ่ายภาครัฐของไทยเติบโตขึ้น

นอกจากนี้ การลดอุปสรรคด้านบริการส่งผลกระทบเชิงบวกต่อทั้งเศรษฐกิจของไทยและสหภาพศุลกากร และจากการที่ 2 ฝ่ายมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ทำให้เป็นโอกาสสำหรับการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน สินค้าและบริการไทยที่จะได้ประโยชน์ ได้แก่ สินค้าน้ำตาล อ้อย ข้าว ผลิตภัณฑ์หนัง เครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์โลหะ และบริการด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น

ขณะเดียวกันจะช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและกฎระเบียบของประเทศสมาชิก EAEU เช่น กฎระเบียบเกี่ยวกับสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และไทยยังสามารถใช้ EAEU เป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังประเทศในเอเชียกลางได้ อันจะเป็นการขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยต่อไป

EAEU จึงถือเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพและมีความน่าสนใจ โดยสมาชิก EAEU 5 ประเทศ มีประชากรรวมกันกว่า 180 ล้านคน มี GDP กว่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 2.5% ต่อปี และเป็นกลุ่มประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญสะสมมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน

ในปี 2562 มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับ EAEU อยู่ที่ 3,290.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออก 1,044.6 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 2,245.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไป EAEU เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ ข้าว เคมีภัณฑ์ สินค้านำเข้าของไทยจาก EAEU เช่น น้ำมันดิบ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช สินแร่โลหะ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์

อย่างไรก็ดี การค้าส่วนใหญ่ (ประมาณกว่า 95%) กระจุกตัวอยู่ที่รัสเซีย เช่นเดียวกับการลงทุนที่เกือบทั้งหมดเป็นการลงทุนระหว่างไทยและรัสเซีย โดยมีธุรกิจสำคัญที่ประเทศสมาชิก EAEU ลงทุนในไทย ได้แก่ ธุรกิจการทำฟาร์มเลี้ยงปลาสเตอร์เจียนและผลิตไข่ปลาคาเวียร์ ธุรกิจสวนน้ำ กิจการบ้านผู้สูงอายุ ผลิตพลอยเทียม นำเข้า-ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สาขาอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และธุรกิจที่ไทยมีการลงทุนใน EAEU เช่น ธุรกิจร้านอาหารไทย ร้านนวดสปา เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น

ปัจจุบันสมาชิกอาเซียนที่มี FTA กับ EAEU แล้ว ได้แก่ เวียดนาม ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อตุลาคม 2559 และสิงคโปร์ที่ลงนามไปเมื่อตุลาคม 2562 โดยจากสถิติพบว่า หลังจากที่เวียดนามมี FTA กับ EAEU แล้ว มูลค่าการค้าระหว่าง 2 ฝ่ายเพิ่มขึ้นถึง 40% ทำให้เวียดนามกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของ EAEU ในอาเซียน ตามด้วยสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย สินค้าที่ EAEU ส่งออกไปยังอาเซียน ได้แก่ แร่ธรรมชาติ อาหาร สินค้าเกษตร รวมถึงผลิตภัณฑ์จากโลหะ

ส่วนสินค้าที่นำเข้าจากอาเซียน ได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์และส่วนประกอบยานพาหนะ อาหาร และวัตถุดิบทางการเกษตร เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่แสดงความสนใจและอยู่ระหว่างการหารือเพื่อจัดทำ FTA กับ EAEU เช่น จีน อินเดีย อียิปต์ อิหร่าน อิสราเอล รวมทั้งไทย ซึ่งได้จัดทำบันทึกความร่วมมือ (MOC) เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนตั้งแต่ปลายปี 2561 และได้มีการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลนโยบายและมาตรการทางการค้าระหว่างกันแล้ว เพื่อปูทางไปสู่การจัดทำ FTA ระหว่างกันในอนาคต