ถอดรหัสนโยบาย ‘โจ ไบเดน’ ศึกการค้าผ่อนคลาย-ไทยได้อานิสงส์

คอลัมน์ ดุลยธรรม
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

เบื้องต้นผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีแสดงให้เห็นว่า “โจ ไบเดน” ชนะด้วยคะแนนเสียงที่ค่อนข้างมาก ทั้งคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (มากกว่า 100 เสียง) และคะแนน popular vote จากประชาชน มากกว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งกว่า 4 ล้านเสียง คิดเป็น 51% ต่อ 48%

การที่ “โจ ไบเดน” ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างเด็ดขาด และแสดงสุนทรพจน์เพื่อสร้างความสมานฉันท์ปรองดองกับผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ และประกาศเยียวยาสังคมแบ่งแยกแตกแยกในช่วงที่ผ่านมา ความรุนแรงทางการเมืองไม่น่าจะเกิดขึ้น หรือถูกจำกัดวง สร้างความชัดเจนการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างสันติ และสร้างเสถียรภาพทางการเมืองสหรัฐ

นอกจากนี้ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐยังส่งสัญญาณชัดเจนเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 คาดว่าผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสาธารณสุขจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในระดับนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะมีการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เชิงรุก ซึ่งน่าจะทำให้สถานการณ์การติดเชื้อคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ส่งผลดีทางเศรษฐกิจ ลดความเสี่ยง lockdown รอบสองในสหรัฐ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวเร็วกว่ายุโรปมาก เนื่องจากยุโรปต้องเผชิญการ lockdown และการระบาดระลอกสอง

วิเคราะห์ถึงนโยบายของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และคณะ จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภูมิภาค เศรษฐกิจไทยและตลาดการเงิน รวมทั้งธุรกิจอุตสาหกรรมต่าง ๆ หลากหลายลักษณะ แต่โดยภาพรวมเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจโลก

โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย ทีมงานของคณะผู้บริหารทำเนียบขาวชุดใหม่จะมีแนวคิดทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ผสมสังคมนิยมประชาธิปไตยอ่อน ๆ ถือเป็นกลุ่มผู้นำทางการเมืองสายกลางค่อนมาทางซ้าย

กรอบความคิดและจุดยืนในประเด็นต่าง ๆ ของ “โจ ไบเดน” สะท้อนว่าการเผชิญหน้าทางการเมือง เศรษฐกิจและทางการทหารในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกจะลดลง โลกจะมีสันติภาพมากขึ้น ระบบการค้าเสรีของโลกภายใต้ข้อตกลงแบบพหุภาคีจะกลับมามีบทบาทมากขึ้น TPP (trans-pacific partnership) จะถูกรื้อฟื้นอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับเรื่องการตัดจีเอสพีต่อสินค้าไทยสมัยโดนัลด์ ทรัมป์ เชื่อว่าทางการไทยสามารถยื่นขอให้ทบทวนให้ได้รับสิทธิกลับคืนมาได้ ด้วยการนำเรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนและประเด็นสิ่งแวดล้อมและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามมาตรฐานสากลเป็นข้อแลกเปลี่ยนได้

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางลบต่อภาคส่งออกไทยและเศรษฐกิจไทยโดยรวมไม่มากนักจากการตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐต่อสินค้าไทยครั้งล่าสุด เพราะอัตราการขยายตัวภาคส่งออกไทยไปสหรัฐยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และน่าจะเพิ่มอีกในยุคประธานาธิบดีโจ ไบเดน ขณะที่สินค้าไทยที่เป็นคู่แข่งกับจีน การเติบโตอาจลดลงบ้าง

สำหรับนโยบายเก็บภาษีเพิ่มทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เป็น 28% เก็บภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มจาก 37% เป็น 39% และวางแผนจะเก็บภาษีเงินกำไรจากเงินลงทุน (capital gain tax) โดยเก็บจากคนที่รายได้ตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์ต่อปีขึ้นไปนั้น จะไม่มีผลต่อการปรับฐานของตลาดหุ้นสหรัฐในระยะนี้ จะถูกนำมาใช้หลังจากเศรษฐกิจและตลาดการเงินสหรัฐมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นปี ค.ศ. 2022 เป็นอย่างเร็ว

ส่วนการเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การก่อหนี้เพิ่มเติมเพื่อชดเชยรายได้ของผู้ว่างงาน และไม่ตัดลดสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดโดยปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ธุรกิจอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมนุษย์เข้มข้นจะย้ายฐานมาทางภูมิภาคเอเชียมากขึ้น กดดันให้ดอลลาร์อ่อนลง ค่าเงินภูมิภาคเอเชียแข็งค่าขึ้น

สหรัฐอเมริกาในยุค “โจ ไบเดน” น่าจะทำให้ CPTPP ลดความสำคัญลง และจะมีรื้อฟื้น TPP ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แต่ “ไทย” จะได้รับประโยชน์อย่างจำกัด เพราะยังไม่ได้เป็นสมาชิกของข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้าทั้งสองเวที จึงขอเสนอให้ “สำนักผู้แทนการค้าไทย” และ “กระทรวงพาณิชย์” ให้เร่งรัดเข้าสู่การเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิก TPP หากมีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนนโยบาย Buy American ของ “โจ ไบเดน” คงไม่ส่งผลต่อการซื้อสินค้าต่างชาติ และภาคส่งออก เท่านโยบาย America First ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” อย่างแน่นอน

สหรัฐอเมริกาน่าจะดำเนินนโยบายต่อจีนในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ มากกว่าในฐานะคู่แข่งทางเศรษฐกิจและศัตรูทางเศรษฐกิจการค้า ที่ต้องใช้มาตรการภาษีตอบโต้ หรือคว่ำบาตรด้วยมาตรการทางธุรกิจและกฎหมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ ภายใต้ “รัฐบาลโจ ไบเดน” น่าจะใช้ nontarriffs barriers หรือข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในการตอบโต้ต่อจีน และประเทศเอเชียบางประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานและปัญหาสิ่งแวดล้อม

แนวโน้มด้านสงครามการค้าโดยรวมย่อมผ่อนคลายขึ้นแต่ไม่หมดไป เพราะสหรัฐยังต้องการจำกัดการขยายอิทธิพลและบทบาทจีนในภูมิภาคและในโลก

นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดการกีดกันการค้าลงจะส่งบวก โดยเฉพาะผลดีอย่างมากต่อธุรกิจอุตสาหกรรมไทยที่มีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมต่อกับสินค้าจีนที่ส่งไปสหรัฐ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ยางเป็นส่วนประกอบสำคัญ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ไม้และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น