คลัสเตอร์ ‘โรงงาน-แคมป์ก่อสร้าง’ ผลผลิตการจ้างงานไม่เป็นธรรม

ดุลยธรรม 
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

 

ผลของปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคอุตสาหกรรมส่งออกและภาคก่อสร้าง นำมาสู่การลุกลามของโรค COVID-19 ในโรงงานผลิตและแคมป์คนงานก่อสร้าง กระทบภาคส่งออกและการลงทุนภาครัฐในที่สุด ความเหลื่อมล้ำเป็นผลมาจากระบบการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม มีระบบการจ้างงานแบบรายวันที่ไม่ยึดมาตรฐานแรงงานสากล การเป็นลูกจ้างรายวันทำให้แรงงานปกปิดการติดเชื้อของตัวเอง เนื่องจากเกรงสูญเสียรายได้หากต้องหยุดงาน

นอกจากนี้ ในหลายโรงงาน ผู้ใช้แรงงานไม่ได้มีสวัสดิการ สุขอนามัยและความปลอดภัยในสถานที่ทำงานที่ได้มาตรฐาน ไม่มีระบบสวัสดิการลาป่วยที่มีมาตรฐาน ภาคการผลิตและภาคการก่อสร้าง มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เพื่อลดต้นทุนแรงงานและเพิ่มผลกำไร เนื่องจากค่าจ้างต่ำทำให้ไม่จูงใจแรงงานไทย

แรงงานต่างด้าวจำนวนไม่น้อยในโรงงานและกิจการก่อสร้างเข้าเมืองผิดกฎหมายไม่มีการกักกันโรค สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนสะท้อนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและการจ่ายสินบนเพื่อนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายทั้งสิ้น

ปัญหาการติดเชื้อของแรงงานในโรงงานภาคการผลิตและภาคการก่อสร้างจะทยอยโผล่ออกมาเรื่อย ๆ เพราะระบบสุขอนามัยในโรงงานการผลิตของไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้มาตรฐาน ระบบสุขอนามัยและระบบมาตรฐานความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและกิจการก่อสร้าง

ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวของภาคส่งออก และการเดินหน้าลงทุนภาครัฐ กำลังเผชิญความเสี่ยงจากการติดเชื้อ COVID-19 ทั้งสองภาคเศรษฐกิจอาจเกิดชะลอตัวในไตรมาสสามได้ หากไม่สามารถควบคุมไม่ให้การแพร่ระบาดลุกลามในโรงงานและแคมป์คนงานก่อสร้างได้ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมาก

การส่งออกของไทยเดือนเมษายนนั้นขยายตัวสูงถึง 13.09% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน มูลค่าส่งออกรวมอยู่ที่ 21,429 ล้านดอลลาร์ เป็นมูลค่าส่งออกสูงกว่าระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สำหรับการส่งออก 4 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวได้ 4.78%

ขณะที่การลงทุนภาครัฐในไตรมาสแรกก็เติบโตถึง 19.6% เป็นผลจากการเร่งรัดการใช้จ่าย หากทั้งสองส่วนนี้กระทบจากผู้ใช้แรงงานติดเชื้อและต้องทำให้กิจการภาคการผลิตและโครงการลงทุนก่อสร้างต่าง ๆ ต้องหยุดชะงัก จะกระทบเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามได้

งบประมาณปี 2565 ที่พิจารณากันอยู่จึงอาจไม่เพียงพอต่อการบริหารประเทศ และรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เป็นการจัดสรรงบฯในวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งลดลงจากงบประมาณปี 2564 ประมาณ 1.85 แสนล้านบาท หรือลดลง 5.6% เป็นการจัดงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤต

ขณะที่การขาดดุลงบประมาณที่ระดับ 7 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไม่สามารถขยายฐานภาษีทรัพย์สินได้ ทั้งที่การจัดเก็บภาษีทรัพย์สินไม่มีผลกระทบทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด การไม่พยายามเก็บภาษีทรัพย์สินจะทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนยากจะเยียวยาได้

นอกจากนี้ งบฯรายจ่ายเพื่อการลงทุนก็ปรับลดลง 3.84% ประกอบกับเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่ควรจะเพิ่มการชำระคืนเงินกู้ โดยงบฯปี’65 มีการจ่ายคืนเงินกู้เพิ่มขึ้น 3.01% ซึ่งไม่จำเป็น ควรนำเงินไปเพิ่มให้กับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการคลัง ให้เพียงพอต่อการรับมือปัญหาต่าง ๆ

ส่วนงบฯลงทุนที่จัดสรรลดลงอาจแก้ไขโดยใช้กลไก PPP เอกชนร่วมลงทุนในกิจการภาครัฐ (แต่อาจต้องเป็นเอกชนรายใหญ่ที่ยังมีความพร้อมทางการเงินอยู่) หรือผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ ในส่วนรายได้ภาษีในงบประมาณปี’65 คาดว่าจะเก็บไม่ได้ตามเป้า สมมติฐานของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2565 ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะตั้งสมมติฐานว่าจะขยายถึง 4-5% เนื่องจากกระทรวงสำคัญ ๆ
เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ล้วนได้รับงบประมาณลดลงทั้งสิ้น แต่กระทรวงกลาโหม และสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น

ความจำเป็นในการกู้เงินเพิ่มเติมจึงยังมีอยู่ แต่ต้องไปตัดงบฯที่ไม่จำเป็นออกก่อน และไม่ควรออกเป็นพระราชกำหนด เพราะอาจเกิดความไม่โปร่งใสในการใช้งบฯได้ง่าย และค่อนข้างมั่นใจว่ารัฐบาลจำเป็นต้องทำงบฯกลางปี เพราะเม็ดเงินที่จัดสรรไม่เพียงพอแน่นอน

ขณะเดียวกัน แผนการกู้เงินในระยะสองสามปีข้างหน้าต้องอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท จึงเพียงพอต่อการฟื้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนต่าง ๆ รวมทั้งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ
ที่เกิดขึ้นเวลานี้ เนื่องจากวงเงิน 5 แสนล้านบาท เพียงพอสำหรับการบริหารสภาพคล่องในช่วงปลายปีงบประมาณ 2564 และต้นปีงบประมาณ 2565 เท่านั้น แต่ยังมีการใช้จ่ายฉุกเฉินต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงแก้ปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด การเพิ่มบทบาทของรัฐทางเศรษฐกิจและการขยายบทบาทการลงทุนภาครัฐจึงมีความจำเป็นในช่วงนี้

แต่การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้มีอะไรประกันความสำเร็จ หากรัฐบาลไม่โปร่งใสและไม่มีประสิทธิภาพ เพราะจะเกิดปัญหาวิกฤตซ้ำซ้อนขึ้นอีก