เรื่องน่ากลัวของ นศ.อาชีวะ

คอลัมน์สามัญสำนึก

โดย สกุณา ประยูรศุข

ประเทศไทยประกาศนโยบายจะก้าวไปสู่ 4.0 แต่ก็ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรผู้มีความรู้ ความชำนาญในทักษะวิชาชีพ ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ

ที่มาของปัญหาคือมีจำนวนคนเรียนต่อด้านอาชีวศึกษา น้อยลง เหตุที่เรียนน้อยลง มองได้ว่า “ภาพลักษณ์” ของนักศึกษาอาชีวะเป็นไปใน “ทางลบ” มากกว่า “ทางบวก” มีเรื่องตีรันฟันแทงเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ อยู่เสมอ

ฉะนั้น ทัศนคติของสังคมที่มีต่อนักศึกษาอาชีวะจึงไม่ค่อยดีนัก ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่อยากให้ลูกเรียนทางด้านนี้ เพราะส่วนใหญ่อยากให้ลูกได้ “ปริญญา” มากกว่า จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนอาชีวศึกษาทยอยปิดตัวไปหลายแห่งแล้ว

รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยการยกระดับคุณภาพการเรียนอาชีวศึกษา ฟอร์มคณะทำงาน “สานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพอาชีวศึกษา” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2559

“รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” ซีอีโอ SCG เป็นหนึ่งในคณะสานพลังประชารัฐ ในฐานะหัวหน้าทีม E2 ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ เล่าให้ฟังว่าประชารัฐด้านอาชีวศึกษา เป้าหมายก็คือต้องการฝึกสอนนักศึกษาอาชีวะให้เป็นแรงงานฝีมือที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

เวลานี้ประเทศไทยมีนักศึกษาอาชีวะอยู่เกือบ 1 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 2 แสนคนที่เรียนสาขาพาณิชย์ บริหารธุรกิจต่าง ๆ 

แต่สาขาเหล่านี้ต้องการแรงงานแค่หลักหมื่นเท่านั้น จำนวนคนที่เหลือจากหลักหมื่นจึงกระจายไปในตลาดแรงงานที่ไม่ตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมา ดังนั้น ภาพของคนที่มาเรียนอาชีวศึกษา เป็นคนกลุ่มอาจจะด้านหนึ่งไม่มีทางไป หรืออาจมีความจำเป็นเรื่องงาน ต้องรีบทำงานหาเงิน เลี้ยงครอบครัว ขณะที่การเรียนอาชีวศึกษาหลักการจริง ๆ แล้ว คือทำงานให้เร็ว ทำงานให้ตรง “สกิล” 

แต่เมื่อเป็น “ความจำเป็น” และ “ไม่มีทางไป” คนที่ไปเรียนอาชีวศึกษาส่วนใหญ่ จึงกลายเป็นคนอีกระดับของสังคม หากเป็นรูปกราฟก็จะเป็นกลุ่มที่เคิร์ฟอยู่ระดับล่าง ทำให้คุณภาพไม่ได้

เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญและพัฒนาแล้ว อย่างเยอรมนีและหลาย ๆ ประเทศในยุโรป จะมีนักศึกษาอาชีวะมากกว่า 50% เป็นเคิร์ฟที่อยู่ระดับบนของกราฟ แต่ประเทศไทยมีเพียง 30% และยังเป็น 30% ที่ไม่ได้คุณภาพอีกด้วย การจะพัฒนาให้เป็น “แรงงานมีฝีมือ” ก็ไม่สามารถทำได้

สานพลังประชารัฐ ยกระดับคุณภาพวิชาชีพ เริ่มตั้งแต่การเรียนการสอน โดยเริ่มสอน “ครู” ก่อนเป็นอันดับแรก ให้เข้าใจว่า 4.0 คืออะไร เป็นอย่างไร

จากนั้นโปรโมตโปรแกรมทวิภาคี เป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนอาชีวะ และภาคเอกชนที่เป็นบริษัทธุรกิจหรือสถานประกอบการต่าง ๆ จัดการเรียนการสอนแบบใหม่  แบ่งเป็นคนละครึ่ง โดยหนึ่งเทอมแรก (4 เดือน) ให้นักศึกษาเรียนที่โรงเรียน ส่วนอีกหนึ่งเทอมหลัง (4 เดือน) เด็กไปเรียนที่บริษัทหรือสถานประกอบการ เนื่องจากมีอุปกรณ์พร้อมที่สุดและทันสมัยที่สุด

แม้แต่เครื่องจักรออโตเมชั่นต่าง ๆ ทางโรงเรียนไม่สามารถหาซื้อหรือจัดให้มีได้เหมือนในสถานประกอบการ เพราะต้องลงทุนสูง

รุ่งโรจน์บอกว่าโปรโมตเรื่องนี้มาเกือบสองปี มีบริษัทเข้าร่วมโครงการมากโข จึงทำให้โรงเรียนอาชีวศึกษาจำนวน 800 โรง สามารถทำได้ 1 ใน 3 แล้ว แต่ปัญหาก็คือว่าจำนวนคนที่มาเรียนอาชีวศึกษา กลับน้อยลงเรื่อย ๆ ถ้าจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นได้จะช่วยได้มาก

ฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะให้คนหันมาเรียนอาชีวศึกษาให้มากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลกับเอกชนจะให้บริการฟรีในการเปิดรับสมัคร ทั้งยังรับเข้าทำงานเมื่อเรียนจบ แต่จำนวนคนก็ยังเรียนน้อย

นอกจากจำนวนจะน้อยลงแล้ว ที่หนักใจอย่างมากคือ จำนวนนักเรียนที่ไม่เรียนอีกต่อไปแล้ว ไม่ว่าอาชีวะหรือสามัญศึกษา ซึ่งจำนวนนี้ไม่รู้ไปอยู่ตรงไหนของประเทศ อันนี้แหละ…ที่น่ากลัว