อนาคต Telemedicine หลังวิกฤต COVID-19

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
สุจิตรา อันโน
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

 

หลายท่านอาจจะคุ้นหูกับคำว่า telemedicine หรือการให้บริการการแพทย์ทางไกล ซึ่งที่ผ่านมาก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระบบ telemedicine มีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งและตัวผู้ป่วยเองหันมาให้ความสนใจกับการบริการ telemedicine มากขึ้น

จากข้อจำกัดในการไปใช้บริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลตามมาตรการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ทำให้บริการ telemedicine ได้รับความสนใจอีกครั้ง จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า ตลาด telemedicine จะโตได้แค่ไหน และจะมาทดแทนการพบแพทย์แบบเดิมหรือไม่

และก่อนที่จะไปดูว่าตลาด telemedicine จะมีโอกาสเติบโตไปในทิศทางใด มาทำความรู้จักกับ telemedicine กันก่อน โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ให้คำจำกัดความของคำว่า “การแพทย์ทางไกล” หรือ “telemedicine” หมายถึง การจัดให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนที่อยู่ห่างไกลโดยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ โดยอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันโรค รวมถึงการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์

รูปแบบของ telemedicine ตามลักษณะการรับส่งข้อมูล แบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่

1) real time video เป็นการตรวจรักษาทางไกลผ่านระบบ video conference ช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถสื่อสารพูดคุยตอบโต้กันได้ทันทีในเวลาเดียวกัน (real time) ซึ่งวิธีนี้แพทย์สามารถซักประวัติผู้ป่วย สอบถามและสังเกตอาการของผู้ป่วย เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคได้ ซึ่งปัจจุบันโรงพยาบาลบางแห่งได้มีบริการเพื่อเสริมให้การรักษาผ่าน telemedicine มีประสิทธิภาพและครบวงจรมากขึ้น เช่น บริการเจาะเลือด ฉีดวัคซีน และจัดส่งยาให้แก่ผู้ป่วยถึงบ้านอีกด้วย

2) remote patient monitoring เป็นการติดตามอาการของผู้ป่วยระยะไกล ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับผู้ป่วยที่เพิ่งออกจากโรงพยาบาลและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหอบหืด ที่ต้องพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอผ่านอุปกรณ์สวมใส่เพื่อสุขภาพ (medical wearables) หรืออุปกรณ์ตรวจวัดการทำงานของร่างกายต่าง ๆ เพื่อติดตามอัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจ ปริมาณน้ำตาลในเลือด ค่าความดัน และข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ จากนั้นจะมีการส่งผลการตรวจวัดให้แพทย์รับทราบ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถติดตามความผิดปกติของผู้ป่วยจากค่าการตรวจวัดที่ส่งมาได้ และรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงทีก่อนเกิดภาวะวิกฤต

3) store and forward เป็นการจัดเก็บและส่งต่อข้อมูลด้านการแพทย์ของผู้ป่วยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ ข้อมูลประวัติผู้ป่วยจากเวชระเบียน ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ภาพเอกซเรย์ (x-ray) ไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์วินิจฉัยโรค และวางแผนการรักษาพยาบาล ซึ่งกรณีนี้แพทย์จะไม่สามารถซักประวัติหรือตรวจร่างกายของผู้ป่วยได้โดยตรง

4) mobile health (mHealth) เป็นระบบติดตามดูแลสุขภาพด้วยอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเลต ผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชั่นสำหรับช่วยควบคุมระดับน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน แอปพลิเคชั่นสำหรับดูแลระหว่างตั้งครรภ์ แอปพลิเคชั่นแจ้งเตือนและบันทึกการทานยา รวมถึงแอปพลิเคชั่นปรึกษาปัญหาสุขภาพผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งระบบ mHealth มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อตอบโจทย์การดูแลสุขภาพในยุค 5G

ตลาด Telemedicine จะโตได้แค่ไหน

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้ telemedicine เข้ามามีบทบาทสำคัญในการให้บริการทางการแพทย์ โดยปัจจุบันทั่วโลกได้นำ telemedicine มาใช้ในการให้บริการทางการแพทย์มากขึ้น และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และเอเชีย-แปซิฟิก ภาพรวมมูลค่าตลาดของ telemedicine ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ซึ่งจากผลการสำรวจของ BIS Research ได้ประเมินมูลค่าตลาดโลกของ telemedicine คาดว่าในปี 2026 มูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.53 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปี 2019 ที่มีมูลค่า 2.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเติบโตเฉลี่ยปีละ 17.2%

ทั้งนี้ ตลาดเอเชีย-แปซิฟิกมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นมากที่สุด โดยคาดว่าภายในปี 2026 จะมีมูลค่าตลาด 1.56 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า จากปี 2019 ที่มีมูลค่า 4.04 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตเฉลี่ยปีละ 21.2% และมีสัดส่วนมูลค่าตลาด 24% ของมูลค่าตลาดรวม นอกจากนี้ BIS Research ยังได้ประเมินมูลค่าตลาด telemedicine ของประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย

พบว่ามูลค่าตลาด telemedicine ของประเทศในกลุ่มนี้เติบโตดีสอดคล้องกับเทรนด์ของตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการนำ telemedicine มาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2020 ตลาด telemedicine มีมูลค่า 490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.6% จากปี 2019 ที่มีมูลค่า 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่ามูลค่าตลาดจะแตะระดับ 1,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2026 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 24.2% ต่อปี

สำหรับประเทศไทยแม้ว่าจะมีการนำ telemedicine มาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยบ้างแล้ว โดยมุ่งเน้นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาต่อเนื่อง แต่ยังคงกระจุกตัวในโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทั้งด้านเงินลงทุนและจำนวนบุคลากร ขณะที่กลุ่มผู้ใช้บริการยังคงเป็นผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยในเมืองใหญ่ที่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ อัตราค่าบริการ telemedicine ของโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ จะอยู่ที่ประมาณ 500 บาทต่อ 15 นาที ปัจจุบันการให้บริการปรึกษาแพทย์ผ่านระบบ telemedicine ในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะเป็นการให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ซึ่งมีทั้งการจัดบริการโดยผู้ให้บริการทางการแพทย์โดยตรง โดยได้ลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มของโรงพยาบาลเอง หรือร่วมมือกับผู้ประกอบการด้าน health tech

นอกจากนี้ การให้บริการผู้ป่วยด้วย telemedicine ยังได้รับความสนใจทั้งจากบริษัทประกันและค่ายมือถือ โดยร่วมกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อจัดบริการ telemedicine ให้แก่ลูกค้าของตน ผ่าน LINE Official ของโรงพยาบาล และแอปพลิเคชั่นของบริษัทประกันชีวิต และค่ายมือถือเอง

ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พยายามผลักดันให้เกิดการนำ telemedicine มาใช้ในโรงพยาบาลรัฐเพิ่มขึ้น โดยได้กำหนดให้ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการ telemedicine กับโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 15 แห่ง

โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้เกิดการเว้นระยะห่างและลดความแออัดในโรงพยาบาล และอาจจะกลายเป็น new normal ในการให้บริการด้านสาธารณสุขในอนาคต

Krungthai COMPASS มองว่า การให้บริการ telemedicine ในประเทศไทยเป็นบริการทางการแพทย์ที่มีโอกาสเติบโตในอนาคตสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก ซึ่งสอดรับกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป การเปิดรับการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม 5G ที่ทำให้เทคโนโลยี internet of things (IOTs) artificial intelligence (AI) และ big data เข้ามามีบทบาทและทวีความสําคัญที่จะช่วยเสริมให้การรักษาพยาบาลและการบริการทางการแพทย์มีความก้าวหน้า มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากยิ่งขึ้น

ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้บริการ telemedicine ในไทยเกิดเร็วขึ้น และกลายเป็น new normal ของการให้บริการทางการแพทย์ในอนาคตที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่รวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนการให้บริการ ประหยัดเวลา และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การให้บริการ telemedicine ในประเทศไทยอาจจะไม่ได้มาทดแทนการพบแพทย์ในรูปแบบเดิม แต่จะเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพในการให้บริการรักษาพยาบาล และขยายไปสู่การนำมาใช้เพื่อให้บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพอื่น ๆ

นอกจากนี้ การขยายตัวของการให้บริการ telemedicine จะช่วยสร้างโอกาสในการระดมเงินลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่ม health tech ของไทย อย่างไรก็ดี ความคุ้นชินและความเชื่อมั่นกับการพบแพทย์แบบเดิม การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ยังไม่ครอบคลุมและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง

รวมถึงความไม่ชำนาญในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ และความไม่มั่นใจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเติบโตของการให้บริการ telemedicine

ซึ่งภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญในการผลักดันและสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงบริการนี้ให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุขในระยะยาว ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ภาครัฐต้องแบกรับภาระสูง อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาล และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล