นิติเศรษฐศาสตร์ของเหรียญ NFT กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลกับ NFT (4)

crypto คริปโต
คอลัมน์ ระดมสมอง

ดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย
สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา

ประเทศไทยมีการบังคับใช้พระราชกำหนดว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่อกำกับดูแลตัวกลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) และโทเค็นดิจิทัล (digital token) เช่น ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า ตัวกลาง และที่ปรึกษาการลงทุน เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีบทบัญญัติที่กำหนดโครงสร้างกฎหมายเกี่ยวกับการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเค็นดิจิทัลอีกด้วย

สำหรับเหรียญ NFT นั้น เนื่องจากมีจุดประสงค์และแนวทางการประยุกต์ใช้ของเหรียญ NFT ที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป จึงเสนอโดยพิจารณาเฉพาะกรณีรูปแบบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ดังนี้

1.กรณีที่มีการสร้างเหรียญ NFT เพื่อเป็นหลักฐานและกำหนดเงื่อนไขการครอบครองสิ่งของดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น รูปภาพดิจิทัล โมเดล 3 มิติ ไฟล์เสียง ไอเท็มในเกมออนไลน์ หรือสิ่งของอื่นที่สามารถเก็บในรูปแบบไฟล์ดิจิทัลได้

ในกรณีนี้อาจกล่าวได้ว่า เหรียญ NFT ไม่ได้มีมูลค่าหรือคุณค่าในตัวเอง แต่เป็นมูลค่าหรือคุณค่าที่สัมพันธ์กับสิ่งของดิจิทัลที่เป็น underlying asset (UA) โดยเหรียญ NFT ทำหน้าที่ 2 ประการ ประการแรก คือ เป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ถือครองเหรียญในสิ่งของดิจิทัลที่อ้างอิงหรือเชื่อมโยงกับเหรียญ NFT นั้น ประการที่สอง เป็นที่เก็บเงื่อนไขรายละเอียดของกรรมสิทธิ์ในการถือครองดังกล่าวใน smart contract

2.กรณีมีการสร้างเหรียญ NFT เพื่อเป็นหลักฐานและกำหนดเงื่อนไขการครอบครองสิ่งของในโลกกายภาพ เช่น งานศิลปะ ของเก่า ของสะสม กรณีนี้ NFT ทำหน้าที่เดียวกันกับกรณี 1 ข้างต้น กล่าวคือเป็นหลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ และเป็นที่เก็บเงื่อนไขและรายละเอียดของกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ก็เพราะบทบาทและหน้าที่ของเหรียญ NFT ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเภทหรือลักษณะของสิ่งของ (UA)

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณานิยามของสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่ได้วิเคราะห์ไว้โดยละเอียดข้างต้นพบว่า เหรียญ NFT ใน 2 รูปแบบนี้ไม่เข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นคริปโทเคอร์เรนซี หรือโทเค็นดิจิทัล ตามบทนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561

เหรียญ NFT มีลักษณะเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล จึงไม่ใช่คริปโทเคอร์เรนซี นอกจากนั้น ยังไม่มีการกำหนดสิทธิประโยชน์ของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการ หรือกิจการใด ๆ จึงไม่ใช่โทเค็นดิจิทัลตามนิยามใน (1)

เหรียญ NFT ไม่ได้กำหนดสิทธิการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจงตามนิยาม (2) ด้วย กรณีโทเค็นดิจิทัลตาม (2) นี้ ผู้ถือครองโทเค็นดิจิทัลถือครองโทเค็นไว้เพื่อใช้แสดงสิทธิการได้มา (right to obtain) ซึ่งสินค้าที่ได้ตกลงไว้กับผู้ผลิตสินค้าหรือบริการนั้น ๆ เมื่อถึงเวลาปฏิบัติตามสัญญา ผู้ถือครองโทเค็นดิจิทัลมีหน้าที่ส่งมอบโทเค็นดิจิทัลให้แก่ผู้ผลิต

ในทางกลับกัน ผู้ผลิตมีหน้าที่ส่งมอบสินค้าตามสัญญาให้แก่ผู้ถือครองโทเค็นดิจิทัลนั้น เมื่อผู้ผลิตได้รับโทเค็นดิจิทัลจากผู้ถือครองก็สามารถทำลาย (burn) โทเค็นดิจิทัลเพื่อยืนยันว่าสิทธิในการเข้าถึงสินค้าบริการสิทธินั้นถูกใช้แล้ว ไม่สามารถนำกลับมาใช้รับสินค้าอื่นได้อีก

สำหรับ utility token เพื่อใช้แสดงสิทธิการได้มา (right to obtain) ซึ่งบริการ เช่น สิทธิได้รับส่วนลด สิทธิการใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นต้น ถึงเวลาปฏิบัติตามสัญญาระหว่างกัน ผู้ถือครองเหรียญแสดงเหรียญเพื่อ
เข้าใช้บริการเพื่อรับสิทธิตามที่กำหนดไว้ระหว่างผู้ออกเหรียญ (ผู้ให้บริการ) และผู้ถือครองโทเค็นฯ กรณีนี้ โทเค็นฯจะอยู่ในความครอบครองของผู้ถือโทเค็นฯตลอดระยะเวลาใช้สิทธิหรือจนกว่าผู้ให้บริการจะเลิกให้บริการตามที่ได้ตกลงไว้

ในกรณีของเหรียญ NFT เจ้าของสิ่งของไม่ว่าจะเป็นสิ่งของดิจิทัลหรือสิ่งของกายภาพเป็นผู้กำหนดสิทธิและเงื่อนไขต่าง ๆ เหนือสิ่งของนั้น ๆ โดยระบุเป็นส่วนหนึ่งของ smart contract ของเหรียญ NFT ที่จะถูกสร้างขึ้นและส่งมอบให้ผู้ที่ประสงค์ซื้อเหรียญ

จะเห็นว่าทั้งเหรียญ NFT และสิทธิหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ของการครอบครองสิ่งของที่เกี่ยวข้อง หรือเชื่อมโยงกับเหรียญนั้นถูกส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อเหรียญไปพร้อมกัน ต่างจากกรณีโทเค็นดิจิทัลที่กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการข้างต้น ที่เป็นผู้ถือครองโทเค็นดิจิทัลนำโทเค็นที่ตนถือครองไปแลกเปลี่ยนเพื่อรับสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิตสินค้าหรือบริการนั้น ตามเงื่อนไขที่กำหนดกันไว้ก่อนหน้า

ดังนั้น เหรียญ NFT ใน 2 ประเภทดังกล่าว (ทั้งที่มีสิ่งของดิจิทัลและสิ่งของทางกายภาพเป็น underlying asset) ข้างต้น จึงไม่ถือเป็นโทเค็นดิจิทัลตามนิยามใน (2) ดังนั้น จึงไม่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

การผลิตและการซื้อขายเหรียญ NFT ดังกล่าว จึงไม่ถูกกำกับดูแลโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับนี้