ผลของปัญญาประดิษฐ์ และ “หุ่นยนต์” ต่อตลาด “แรงงาน”

คอลัมน์ ดุลยธรรม โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ

มีการวิจัยระบุว่า คนจะตกงานจำนวนมากจากหุ่นยนต์อัตโนมัติที่มาทำงานแทนที่ โดยเฉพาะในรายงานของ “สำนักวิจัย แมคคินซีย์ โกลเบิล” ระบุว่า จะมีคนมากกว่า 800 ล้านคน ระหว่างปี ค.ศ. 2016-2030 หรือประมาณ 1 ใน 5 ของตลาดแรงงานที่ต้องตกงาน เนื่องจากหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ และแรงงานจำเป็นต้องไปฝึกทักษะใหม่ ๆ เพื่อทำหน้าที่ในการควบคุมเครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้น

แต่การนำระบบหุ่นยนต์มาใช้ในระบบเศรษฐกิจ อาจกดดันให้ค่าแรงลดลงโดยเฉลี่ย 0.5% เป็นอย่างน้อย

องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ ประเมินว่า ในสองทศวรรษข้างหน้า ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ต่อตำแหน่งงาน การจ้างงาน และกิจการต่าง ๆ ในประเทศไทย

ไอแอลโอประมาณว่า ร้อยละ 44 ของการจ้างงาน (กว่า 17 ล้านตำแหน่ง) ในไทย เผชิญความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร พนักงานเคาน์เตอร์และพนักงานตามเครือข่ายสาขาต่าง ๆ (ซึ่งเครือข่ายสาขาอาจปิดลงจากการเพิ่มขึ้นของการทำธุรกรรมผ่านทางออนไลน์มากขึ้นตามลำดับ)

แรงงานทั่วโลก รัฐบาล นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องหันมาให้ความสนใจในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อวางแผนรับมือกับภาวะดังกล่าว ต้องมีการออกแบบ ระบบเศรษฐกิจใหม่ เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เกิดความเป็นธรรม สร้างระบบแรงงาน ตลาดแรงงาน ที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยไม่ขัดขวางความก้าวหน้าของนวัตกรรม

เรากำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านการอภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่นเดียวกับที่โลกเคยเผชิญมาแล้วในช่วงปฏิวัติ (อภิวัตน์) อุตสาหกรรมครั้งแรก ตั้งแต่ยุคศตวรรษที่ 18 ต่อเนื่องเรื่อยมา เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรม 1.0 จนถึงอุตสาหกรรม 4.0 การพัฒนาอย่างก้าวกระโดด การแพร่อย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยุคอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (in-ternet of things) กำลังปรับโฉมหน้าทุนนิยมโลกาภิวัตน์รอบใหม่ พลิกโฉมเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ระบบการผลิต ระบบห่วงโซ่อุปทาน และการตลาด รวมทั้งการเข้าถึงผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลต่อระบบแรงงาน ตลาดแรงงาน มาตรฐานแรงงาน ทรัพยากรมนุษย์อย่างมาก โดยเฉพาะระบบการผลิตและระบบเศรษฐกิจที่ใช้ระบบอัตโนมัติของเครื่องจักร สมองกลอัจฉริยะ ที่สามารถมาทำหน้าที่และทำงานแทนคนจำนวนมาก ด้วยความแม่นยำที่มากกว่า และมีประสิทธิภาพสูงกว่า

สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ต้องเร่งส่งเสริมพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพที่สามารถเป็นฐานในการสร้างนวัตกรรมและสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบ วิธีการเรียนการสอน ตลอดจนเทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้แรงงานไทยสามารถทำงานได้ในตลาดแรงงานที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้ต้องทำงานกับระบบอัตโนมัติมากขึ้น ทำงานกับหุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะมากขึ้นระบบเสมือนจริง และระบบออนไลน์ ได้ทำให้ระบบการผลิต ระบบการกระจายสินค้าและห่วงโซ่อุปทาน เปลี่ยนแปลงไป

จากเดิม เทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่า และทำให้กิจการอุตสาหกรรมและการจ้างงานจำนวนหนึ่งหายไป ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (sharing economy) กำลังเป็นแนวโน้มแห่งอนาคต แนวคิดในการแชร์การใช้โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องเป็นเจ้าของสิ่งที่ใช้ สังคมที่เน้นการเป็นเจ้าของทุกสิ่งอย่าง ได้สร้างสังคมที่ผู้คนล้วนมีหนี้สินเกินตัว สะสมเกินพอดี นำมาสู่วิกฤตของระบบทุนนิยมโลก การบริโภคร่วมกัน (collaborative consumption) ที่ปัจเจกบุคคลเป็นผู้ขายตรงและเป็นผู้บริโภคตรง (P2P) แต่ละบุคคลเป็นได้ทั้งผู้ซื้อหรือผู้ขาย แล้วแต่ว่าต้องการเป็นบทบาทใด ในเวลาใด โมเดลธุรกิจแบบนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมในการตัดสินใจว่าจะเป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตรง หรือว่าเช่าใช้ สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อยอดขายสินค้า ตลาดแรงงาน การจ้างงาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์ ทำให้ขาดแคลนแรงงาน ระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และสมองกลอัจฉริยะในการทำงานและในระบบการผลิตมากขึ้น ต้องทำให้ “มนุษย์” ทำงานร่วมกับ “หุ่นยนต์” และ “สมองกลอัจฉริยะ” ได้อย่างผสมกลมกลืน ซึ่งต้องอาศัยระบบมาตรฐานแรงงาน ลักษณะตลาดแรงงานและระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตเหล่านี้

การปฏิรูปการศึกษาต้องตั้งโจทย์ว่า ประเทศต้องการคนแบบใดในอนาคต ระบบการศึกษาต้องผลิตคนแบบนั้น ในหนังสือชื่อ A Visionary Nation-Four Centuries of American Dreams&What Lies Ahead โดย Zachary Karabell ได้ข้อสรุปว่าการที่อเมริกาเป็นมหาอำนาจ เจริญรุ่งเรือง ทั้งที่เป็นประเทศเกิดใหม่เมื่อ 200 กว่าปีมานี้เอง เพราะเสรีภาพและ

ระบอบประชาธิปไตยของประชาชนที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะเสรีภาพในการคิด การวิพากษ์วิจารณ์ และการประกอบการ รวมทั้งความสามารถในการเข้าถึงโอกาสอย่างเสมอภาค ทำให้ผู้คนที่มีความรู้ความสามารถปลดปล่อยศักยภาพได้อย่างเต็มที่

เวลานี้มีเกาหลีใต้ และไต้หวัน ที่เดินหน้าพัฒนาตัวเองสู่ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge-based economy) ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจที่การผลิตและการแพร่กระจายสินค้าและบริการ อาศัยความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพื่อสร้างความเติบโต ความมั่งคั่ง และสร้างงานในทุกภาคเศรษฐกิจ ความรู้และนวัตกรรมจึงเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนามากกว่าเงินทุนและแรงงาน ความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานความรู้ และทำให้องค์กรต่าง ๆ

ในระบบเศรษฐกิจและสังคม จำเป็นต้องปรับตัวไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ ปัจจัยพื้นฐานของการสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม คือ การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การลงทุนด้านการศึกษา การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การลงทุนทางด้านข้อมูลสารสนเทศ การสื่อสาร โทรคมนาคม และคอมพิวเตอร์

ตลาดแรงงานในอนาคต จะต้องการแรงงานที่มีความรู้สูงขึ้น และมีคุณวุฒิสูงขึ้น งานของแรงงานทักษะต่ำหรือไร้ทักษะ จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและหุ่นยนต์มากกว่า แรงงานที่มีค่าตอบแทนสูงหรือค่าจ้างสูงกว่าต้นทุนการใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ จะมีความเสี่ยงในการสูญเสีย

ตำแหน่งงานมากกว่าแรงงานที่มีค่าจ้างต่ำองค์กรแรงงานระหว่างประเทศคาดว่า มีหลายอาชีพที่จะถูกแทนที่โดยการทำงานของปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น ได้แก่ ผู้ดูแลออฟฟิศ นักบัญชี นักกฎหมาย นักพัฒนาเว็บไซต์ นักการตลาดออนไลน์ นักข่าวและบรรณาธิการ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ สายการผลิตในโรงงาน เป็นต้น

หากประเมินในกรณีของไทย อาจกระทบต่อตลาดแรงงานไม่ต่ำกว่า 30-40% ใน 10-20 ปีข้างหน้า แต่เราไม่จำเป็นต้องวิตกกังวลมากเกินไป หากเตรียมตัวรับมือให้ดี จะเป็น “โอกาส” มากกว่า “ความเสี่ยง”