บทใหม่เศรษฐกิจไทย ถดถอยแต่ต้องไม่..ทดท้อ

คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

ประมวลภาพจากการสัมมนา “New Chapter เศรษฐกิจไทย” ที่ประชาชาติธุรกิจจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 45 ก้าวสู่ปีที่ 46 ทำให้เห็นภาพสะท้อนจากทั้งบรรดานักธุรกิจ และผู้เข้าร่วมฟังงานสัมมนา ซึ่งในครั้งนี้ประชาชาติจัดในรูปแบบ “ไฮบริด” ลูกผสมระหว่างการออนไซต์เปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมฟังงานนี้ในสถานที่จริง ที่ รร.ดิ แอทธินี โดยจัดในรูปแบบจำกัดและเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด

ประมวลภาพจากการสำรวจผู้เข้าฟังสัมมนาในพื้นที่จริงครั้งนี้ เราพบมี “แฟนสัมมนา” ที่ถือไม้เท้าเดินกึ่งเดินกึ่งวิ่งเข้าห้องสัมมนา เพราะกลัวจะฟังไม่ทัน ระหว่างนั้นทราบจากผู้ที่พามาว่าท่านอายุ 92 ปีแล้ว…การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุดจริง

ช่วงที่การสัมมนาดำเนินไป สังเกตได้จากผู้เข้าร่วมสัมมนาหลายคน จดข้อมูลอย่างละเอียด บางคนยกกล้องถ่ายรูปสไลด์ของวิทยากรเป็นระยะ ๆ

คุณลุงวัย 92 แฟนสัมมนาไม่ใช่มานั่งฟังธรรมดา ๆ ระหว่างที่วิทยากร (อาจารย์กอบศักดิ์ ภูตระกูล) สอบถามบนเวทีว่าต้องการฟังข่าวร้ายหรือข่าวดีของเศรษฐกิจไทยก่อน คุณลุงตะโกนตอบว่า ขอ “ข่าวดี” ทำเอาคนที่นั่งฟังในแนวเดียวกันหัวเราะเลยทีเดียว เพราะไทยติดกับดัก “โควิด-19” มา 2 ปีแล้ว ทุกคนหวังว่า New Chapter เศรษฐกิจจะฟื้น

“ข่าวดีก็คือ ไทยจะพ้นจากอุโมงค์นี้ แต่ข่าวร้ายคือ ไทยต้องไปสู่อุโมงค์ใหม่อีก”

คุณกอบศักดิ์ระบุว่า มี CEO 68% ของจำนวน CEOs 30% ของ Economistที่คิดว่ามีโอกาสจะเข้าสู่ภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” หรือ recession

และมีถึง 7 เหตุปัจจัยที่จะมารุมเร้าเศรษฐกิจจาก 1.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) การเมืองระหว่างประเทศที่จะรุนแรง ลุกลามออกไป และความผันผวนจากมาตรการคว่ำบาตร (แซงก์ชั่น) ที่จะเกิดขึ้น 2.วิกฤตพลังงาน ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันค้างอยู่ในระดับสูง 3.วิกฤตอาหารโลก เนื่องจากรัสเซียและเบลารุสผลิตปุ๋ยมีสัดส่วน 40% ทำให้หลายประเทศตัดสินใจไม่ส่งออกอาหาร โดยทั้ง 3 ข้อนี้เป็นปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งสิ้น

และ 4.การขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เชื่อมโยงถึง 5.ความผันผวนของตลาดการเงินโลก 6.เศรษฐกิจถดถอย (recession) ซึ่งในอดีตพบว่า 70% เฟดผิดพลาด โดยขึ้นดอกเบี้ย 12 ครั้ง แต่สามารถทำให้เศรษฐกิจลงแบบ soft landing ได้เพียง 3 ครั้งเท่านั้น

สุดท้าย 7.วิกฤตเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) เช่น ศรีลังกา และเนปาล รวมถึงประเทศจีนที่มีกำลังฝุ่นตลบกับการแก้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ฟองสบู่สะสม และการปิดเมืองจากโควิด

อาจเรียกว่า ฟังกันจนสะพรึงกันไปทั้งฮอลล์ ทันทีที่ออกจากห้องสัมมนาแวะเข้าห้องน้ำ มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งโอดครวญว่า ฟังแล้วเศรษฐกิจหดหู่จังเพิ่งจะพ้นวิกฤตโควิด ก็จะเข้าสู่ recession ต่ออีกแล้ว

ขณะที่มุมมองของภาคธุรกิจ แน่นอนว่าเศรษฐกิจจะพังอย่างไร ธุรกิจต้องอยู่ให้รอด และต้องเริดด้วย

ธุรกิจจะต้องปฏิวัติตัวเองอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ ที่แปลงโฉมจากผู้ค้าน้ำมันสู่ผู้ประกอบการค้าปลีกที่มองถึงการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคตลอด 24 ชั่วโมง

“จิราพร ขาวสวัสดิ์” ซีอีโอ มองข้ามชอตว่าหลังจากการระบาดโควิด-19 จะเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน เรียกว่า K chaped นั่นคือผู้ประกอบการรายเล็กหรือผู้ประกอบการภาคส่วนการท่องเที่ยว การบริการ อาหาร เติบโตที่ช้ากว่าธุรกิจด้านเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้
เป็นตัวกระตุ้นช่องวางทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น

ธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น เดือน ก.ค.ปี 2564 อุณหภูมิโลกสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 142 ปี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี disruptive technology นั่นจะทำให้ “พฤติกรรมผู้บริโภค” เปลี่ยน ธุรกิจต้องปรับตัว เปลี่ยนมาจากเดิม ที่มองการทำธุรกิจแบบ inside-out สร้างและส่งผ่านไปยังคนอื่น แต่ต่อไปต้องเป็นแบบ outside-in growth (partnership-based) สร้างการเติบโตด้วยการผนึกพันธมิตร ทุกไซซ์ เล็ก-กลาง-ใหญ่ หรือแม้แต่สตาร์ตอัพ ต้องดึงจุดแข็งแต่ละรายมาผนึกกัน เอาเทคโนโลยีมาเสริมให้ธุรกิจแกร่งขึ้น

เป้าหมายโออาร์ มองถึงการเป็น “ต้นแบบองค์กรธุรกิจในศตวรรษ 21” เติบโตควบคู่กับพันธมิตร และชุมชนโดยรอบ และที่สำคัญต้องโตแบบรักษ์โลก ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย จึงมีการเข้ารุกสู่ธุรกิจอีวี การรุกพัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ จาก OR (oil and retail) ก็จะเป็น RO (retail and oil) แต่ oil ต่อไป
จะไม่ใช่แค่ oil เพราะพลังงานที่ขับเคลื่อนไปต้องเป็นพลังงานสะอาดด้วย การเปลี่ยนผ่านโมบิลิตี้นี้ต้องเป็นแบบไร้รอยต่อ เพื่่อรองรับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนให้สะดวกมากขึ้น

ซีอีโอหญิงแกร่งให้หลักคิดว่า “ทุกอย่างมีโอกาสและมีอุปสรรค การจะประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต เพราะนั่นไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าจะสำเร็จในอนาคต”

บทสรุปเวทีนี้อาจจะมองถึง “โอกาส” เกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจ แต่ทางแก้สำคัญ คือ เราต้อง “ไม่ทดท้อ” ต่อการใช้ชีวิต