ต้นทุนอันเจ็บปวด

Photo by Aris Messinis / AFP
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

“การปกป้องเสรีภาพ การปกป้องประชาธิปไตย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะเกิดได้ง่าย ๆ โดยไม่มีต้นทุนสำหรับประชาชนชาวอเมริกันและสำหรับทุกคนในโลกเสรี”

วาทะนี้ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่เรียกร้องให้สมาชิกสภาคองเกรสผ่านความเห็นชอบกฎหมายที่จะพักการเก็บภาษีน้ำมัน 3 เดือน เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้ชาวอเมริกันฝ่าวิกฤตราคาพลังงานในยามนี้

ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เฟ้อหนักสุดในรอบ 40 ปี ทะยานไปถึง 8.5-8.6% จนประธานธนาคารกลางสหรัฐ เจอโรม พาวเวลล์ ถึงขั้นตั้งเป้าว่าต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้กดเงินเฟ้อลงให้ได้ เอาให้อยู่ที่ 2% ถึงจะสบายใจ

แม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่น่าหวั่นใจมาก คือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ หรือ recession เป็นคำที่บ่งบอกความย่ำแย่ติดลบ และสัญญาณนี้เริ่มปรากฏแล้วตามรายงานที่บริษัทใหญ่ ๆ เริ่มปลดพนักงานออก

เช่น เน็ตฟลิกซ์ หลังยอดสมาชิกหายฮวบไป 2 แสนราย และคาดว่าจะลดไปอีก แจ้งว่าจำเป็นต้องปรับลดพนักงาน 3% จากพนักงานเต็มเวลา 11,000 คน

เช่นเดียวกับ เทสลา ของอีลอน มัสก์ เฮียบอกว่าต้องปลดพนักงานที่รับเงินเดือนประจำออก 10% ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า และหันไปเพิ่มจำนวนพนักงานที่มีการว่าจ้างรายชั่วโมงแทน ซึ่งมัสก์กล่าวว่า การปลดคนออกจะกระทบพนักงานเพียง 3.5% จากจำนวนพนักงานทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่จำนวนที่มีนัยสำคัญ

แต่หากคำนวณ 3.5% จากพนักงาน 110,000 คน ของเทสลา ก็ไม่ใช่น้อย ๆ และไม่ใช่แค่ตัวเลข เมื่อคิดถึงชีวิตคนที่ต้องตกงาน สภาพครอบครัว และปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมา

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ถ้าจะบอกว่ามาจากสงครามรัสเซียบุกยูเครน ก็คงจะมีเปอร์เซ็นต์สูง แต่ถ้าย้อนไปดูคำพูดนายไบเดนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนของการปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตย การลงทุนนี้กำลังถูกตั้งคำถาม

งบประมาณช่วยเหลือยูเครนที่สหรัฐผ่านเป็นกฎหมายให้ไปแล้ว มากกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.4 ล้านล้านบาท อาจนับเป็นตัวเลขกลม ๆ ได้ แต่ถ้ารวมชีวิตประชาชนกลางสมรภูมิ ไปจนถึงชาวบ้านที่ได้รับพิษเศรษฐกิจทั่วโลก จะหาสูตรการคำนวณแบบคณิตศาสตร์แบบใดมาคิดได้บ้าง

สุดสัปดาห์ก่อน นายไบเดนขี่จักรยานแล้วเท้าไปติดผิดจังหวะจนล้มลงไปกองกับพื้น มีภาพและข้อความล้อเลียนในโลกออนไลน์ มีส่วนหนึ่งบอกว่า เป็นฝีมือนายโดนัลด์ ทรัมป์ คู่ปรับในประเทศ และอีกส่วนบอกว่า นายวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียอยู่เบื้องหลัง เพราะไม่ว่าปัญหาราคาพลังงาน หรือเงินเฟ้อ ล้วนมาจากสงครามที่รัสเซียเริ่มต้น ไปบุกประเทศเล็ก ๆ อย่างยูเครน ที่มีรัฐบาลเป็นเพื่อนรักของชาติตะวันตก

แต่คนอีกจำนวนมากเห็นว่า สงครามนี้จริง ๆ แล้ว รัสเซียไม่ได้สู้กับยูเครน แต่สู้กับสหรัฐและยุโรป ตามที่เห็นได้ว่า อาวุธจากชาติตะวันตกหลั่งไหลเข้าไปช่วยยูเครน พร้อมกับที่สหรัฐและยุโรปปล่อยมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจออกมาเป็นระลอก

แต่แทนที่รัสเซียจะถูกรุมจนบาดเจ็บสาหัส กลับเป็นประเทศคู่อริที่เจอแรงกระแทกที่ฟาดแรง และบางประเทศบาดเจ็บไม่น้อยไปกว่ารัสเซีย ส่วนประเทศในแอฟริกาที่อยู่ห่างไกลโพ้นจากยูเครนมาก ก็ตกเป็นเหยื่อของสงครามนี้ด้วย และส่อเค้าว่าจะตกอยู่ในอันตรายเมื่อเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร

ทางออกที่จีน อินเดีย และประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ศัตรูคู่อาฆาตรัสเซียเสนอ คือต้องหาทางการเจรจายุติศึก แทนที่จะแซงก์ชั่นทำร้ายศัตรูและทำร้ายตัวเองไปพร้อมกัน

ในเมื่อสหรัฐซึ่งมีต้นทุนและความเก่งกาจรอบด้าน ทุ่มทุนมหาศาลลงไปในสงครามเผชิญหน้ากับรัสเซีย ตามที่บอกว่าเพื่อรักษาเสรีภาพและประชาธิปไตย การหาหนทางเจรจาเพื่อยุติสงครามควรจะเป็นสิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่ควรเริ่มลงทุน แทนที่จะถมเงินลงไปในวิธีที่ทำให้บาดเจ็บกันทั้งหมด