“ข้อมูล” เชื้อเพลิงแห่งการพัฒนาประเทศ

ข้อมูล
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยกัน
ผู้เขียน : ดร.นครินทร์ อมเรศ, พรชนก เทพขาม
         ธนาคารแห่งประเทศไทย

แนวคิดว่า “ข้อมูล” เป็น “เชื้อเพลิง” เติมพลังขับเคลื่อนการทำงานให้กับทุกภาคส่วนนั้น เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ทางตรง หรือมีส่วนเกี่ยวข้องทางอ้อม อย่างไรก็ดี แนวทางในการใช้งานข้อมูลในทางปฏิบัติยังมีความหลากหลายตามความพร้อมของผู้ใช้และความเข้าใจของเจ้าของข้อมูล

ในวันนี้จึงขอเชิญทุกท่านมาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการใช้งานข้อมูลในการพัฒนาประเทศ

ก่อนอื่นขอหยิบยกประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการหลักสูตร ผู้บริหารระดับสูงด้านนวัตกรรมการบริการ (ToPCATS) ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้บรรยายร่วมกับ ดร.พรรคธาดา ตรีรัตนพิทักษ์ และ คุณกัมพล พรพัฒนไพศาลกุล ในหัวข้อ “Data Analytics & Economic Policy”

เจ้าของธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงในภาคบริการของไทยที่เข้าร่วมรับฟังมีความคุ้นเคยกับการใช้ข้อมูลในการประกอบธุรกิจเป็นอย่างดี จึงสะท้อนความคาดหวังที่มีต่อการทำงานด้านข้อมูลของภาครัฐในสามมิติสำคัญ คือ

1) หลักคิดของการทำงาน ที่เสริมเติมกันระหว่าง data, research และ policy พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลรองรับการวิเคราะห์วิจัยเพื่อตอบโจทย์นโยบายให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยเอาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง และสลายข้อจำกัดในการทำงานร่วมกันทั้งภายในและระหว่างหน่วยงาน

2) รูปแบบการนำเสนอ ที่ผู้ใช้งานข้อมูลเข้าใจได้ง่าย ตรงโจทย์ และสามารถนำไปต่อยอดในทางปฏิบัติ โดยมีความหลากหลายและเหมาะสมกับผู้ใช้งานแต่ละระดับที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานข้อมูลต่างกัน

3) การเปิดให้ใช้ประโยชน์ ที่ผู้พัฒนา หรือ developer จากภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมใช้ความรู้ความสามารถในการเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับตนเองและประเทศ ภายใต้กลไกด้านธรรมาภิบาลข้อมูล และการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการใช้งานข้อมูลอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

มุมมองของภาคธุรกิจไทยนี้สอดคล้องกับแนวทางการใช้งานข้อมูลภายใต้วิถีใหม่ คือ data product approach โดยยึดเอาการใช้ประโยชน์ข้อมูลเป็นศูนย์กลาง ตามที่บทความของผู้บริหารบริษัท McKinsey ในนิตยสาร Harvard Business Review ฉบับเดือน ก.ค.-ส.ค. 65 เรื่อง “A Better Way to Put Your Data to Work” ระบุว่าวิธีใหม่นี้จะแตกต่างจากการใช้งานข้อมูลในปัจจุบันที่แบ่งออกคร่าว ๆ เป็นแบบ “ฐานราก” ที่กระจายให้แต่ละหน่วยย่อยพัฒนาการใช้ประโยชน์ข้อมูลเอง ซึ่งแม้จะตรงความต้องการแต่ก็เกิดการทำงานซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองทรัพยากร

และแบบ “บิ๊กแบง” ที่จัดตั้งศูนย์รวมการบริหารการใช้งานข้อมูลและใช้เวลาในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ออกแบบสถาปัตยกรรมข้อมูล รวบรวม ประมวล และเผยแพร่ข้อมูล ซึ่งต้องใช้เวลามากและขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ใช้งานจึงไม่ตรงใจคนทำงาน และไม่เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

แนวทางสำคัญของ data product approach ที่ยึดเอาการบริโภคข้อมูล หรือการใช้งานเป็นหลักยึด จะแตกต่างจากวิธีการในอดีต คือ ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการกระจายงานให้ต่างคนต่างทำเหมือนวิธีฐานราก แต่ก็ไม่ได้เอางานมากองรวมกันไว้เหมือนวิธีบิ๊กแบง แต่จะมองข้อมูลเป็น “ผลิตภัณฑ์” ที่ผู้มีส่วนร่วมสามารถใช้ประโยชน์ภายใต้สิทธิตามบทบาทหน้าที่ โดยใช้ข้อดีจากแบบรวมศูนย์ในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบการบันทึกในการนำเข้าข้อมูล และแพลตฟอร์มข้อมูลในการจัดเก็บและประมวลผลอย่างมีประสิทธิภาพไม่ซ้ำซ้อนกัน

แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับการทำงานโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้งานข้อมูลไม่แยกส่วนออกจากกัน เพื่อให้เห็นตัวอย่างในทางปฏิบัติ ขอเล่าถึงผลการศึกษาด้านโครงสร้างทะเบียนแรงงานไทยภายใต้แนวทาง data product approach โดย นครินทร์ อมเรศ และพรชนก เทพขาม 2565, “The Data Product Approach to Close Labour Database Gaps in Thailand” ดังนี้

ระบบการบันทึกและแพลตฟอร์มข้อมูล : ใช้งานห้องทดลองปฏิบัติการด้านข้อมูล หรือ data lab ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลด้านแรงงานจากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เป็นต้น การทำงานจึงไม่ทับซ้อนกัน

ผลิตภัณฑ์ข้อมูล : จำแนกได้เป็นกลุ่มข้อมูลแรงงานในระบบประกันสังคม ข้อมูลผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมมาตรา 40 ข้อมูลการรับสวัสดิการแรงงาน ข้อมูลการรับการพัฒนาทักษะ และข้อมูลความต้องการแรงงาน การใช้งานข้อมูลจึงตรงกับการดำเนินนโยบายของแต่ละหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้อง

การใช้ประโยชน์ข้อมูล : มีทั้งการใช้ข้อมูลเพื่อส่งกลับไปยัง application ของการจับคู่งานและทักษะของหน่วยงานภาครัฐทั้งแพลตฟอร์มไทยมีงานทำ และแพลตฟอร์ม e-Workforce ecosystem การวิเคราะห์ข้อมูขนาดใหญ่ในเชิงลึกและจัดทำรายงานเพื่อการดำเนินนโยบาย การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติผ่านระบบ API ตลอดจน การใช้ sandbox ระหว่างหน่วยงานในการศึกษาข้อมูลร่วมกันเพื่อออกแบบแนวทางสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเข้ารับการพัฒนาทักษะ ทำให้ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลทั้งภาครัฐและแรงงาน

โดยสรุปแล้ว ภาคธุรกิจทั้งในและต่างประเทศเล็งเห็นความสำคัญของการใช้งานข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด การทำงานด้านข้อมูลของภาครัฐยุคใหม่จึงต้องยึดเอาการใช้ประโยชน์ข้อมูลเป็นที่ตั้ง บนฐานของการมีระบบการจัดเก็บและแพลตฟอร์มข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ และการคำนึงถึงการตอบโจทย์ของผู้ใช้งานข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลเป็น “เชื้อเพลิง” ปะทุเปลวไฟแห่งการพัฒนาประเทศให้รุ่งโรจน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด