BHR Academy เครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก ชูสิทธิมนุษยชน

Global Compact
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับพันธมิตรจากหลายภาคส่วน

สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับพันธมิตรจากหลายภาคส่วน ได้แก่ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme-UNDP)

จัดตั้ง “สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (BHR Academy : Business and Human Rights Academy)” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนสำหรับองค์กรธุรกิจ และพัฒนาศักยภาพในการนำหลักการ ในการนำแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนที่ดีไปใช้ให้เกิดผลจริง ทั้งนั้นเพื่อหวังผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการอบรมสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

“ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร” รองเลขาธิการ GCNT เปิดเผยว่า สมาคมตั้งใจสานต่อเจตนารมณ์ของหลักการ โดยชี้แนะว่าธุรกิจ และสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNGPs : UN Guiding Principles on Business and Human Rights) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของไทย

รวมทั้งยังเล็งเห็นว่า การบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชน เป็นประเด็นท้าทายของภาคเอกชนที่นับวันจะมีความสำคัญยิ่งขึ้น เพียงแต่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังขาดแหล่งข้อมูล, การเสริมสร้างสมรรถนะในราคาที่สามารถเข้าถึงได้, พื้นที่สำหรับการเรียนรู้ และที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชน

โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมที่เป็นข้อต่อสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของภาคเอกชน ฉะนั้น จึงหวังว่าสถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนจะตอบโจทย์ความท้าทายนี้ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม

โดยเป็นพื้นที่ให้ภาคธุรกิจแลกเปลี่ยนพูดคุย หาทางออก และทำความเข้าใจกับองค์ความรู้ใหม่ ๆ เพื่อให้ประเด็นสิทธิมนุษยชนไม่เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับภาคธุรกิจอีกต่อไป พร้อมทั้งจะผลักดันให้สถาบันเป็นศูนย์กลางการอบรมสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย

“การบริหารจัดการประเด็นทางสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสมควรกระทำตามหลักการดำเนินธุรกิจอย่างมีบรรษัทภิบาลแล้ว ยังจะช่วยให้องค์กรธุรกิจได้รับการยอมรับ ลดความเสี่ยง ทั้งด้านการปฏิบัติการ ด้านชื่อเสียงและกฎหมาย และเปิดโอกาสทางธุรกิจ เข้าถึงตลาด บุคลากร และแหล่งเงินทุนได้กว้างขึ้น”

“เรืองศักดิ์ สุวารี” อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การจัดตั้ง BHR Academy ถือเป็นการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติไปสู่ภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม โดยมี GCNT เป็นแกนหลักร่วมกับพันธมิตร โดยต่อไปจะต้องเน้นการขับเคลื่อนไปในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย เพื่อให้นักธุรกิจได้รับรู้ถึงแนวโน้มของโลก

“ทั้งยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นพื้นฐาน โดยเป้าหมายต่อไปของกรมคือการจัดทำแผนระยะที่ 2 และประกาศใช้ให้ทันปี 2566-2570 เพื่อส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพในทุกระดับ”

“พิทักษ์พล บุณยมาลิก” เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายมีความสำคัญ และเป็นหัวใจของการทำงานเรื่องนี้ โดยสิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคใหญ่คือคนยังไม่รู้และไม่เข้าใจว่าทำแล้วจะได้ประโยชน์อะไร มีค่าใช้จ่ายหรือไม่ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว

การขับเคลื่อนจึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจน และทำงานร่วมกันเป็นเครือข่าย ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งการจัดตั้ง BHR Academy จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้สามารถขยายผลได้ในวงกว้าง

“สิริวิภา สุพรรณธเนศ” รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า สำนักงาน ก.ล.ต.ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียน ตระหนักถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนมีความรู้ความเข้าใจ และสามารถประเมินความเสี่ยงและลดผลกระทบ

รวมทั้งสามารถจัดทำรายงานเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ที่สอดคล้องกับหลักการ UNGPs เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุน ทั้งจากภายในและระหว่างประเทศ

“โดย ก.ล.ต.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล 56-1 One Report เพื่อยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ครอบคลุมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน มีผลบังคับใช้ในปี 2565 เป็นปีแรก นอกจากนี้ ยังขยายผลไปยังประเด็นที่เกี่ยวข้องคือการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและการลดความเหลื่อมล้ำด้วย”

“โลวิตา รามกุทธี” รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนและความยั่งยืนอยู่แล้ว เห็นได้จากความมุ่งมั่นที่เพิ่มขึ้นในด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้ประกอบการเกือบ 170 แห่งที่นำหลักการ UNGPs มาใช้

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก การบูรณาการสิทธิมนุษยชนเข้ากับการดำเนินธุรกิจ จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินงานได้สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าและการแข่งขันในตลาดโลก

ดังนั้น การก่อตั้ง BHR Academy จึงเป็นโอกาสดีในการพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของไทย เพื่อให้แน่ใจว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จะเป็นไปด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ สถาบันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน มีแผนจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกระบวนการตรวจสอบรอบด้าน ในแพลตฟอร์มที่หลากหลาย โดยปรับตามความเหมาะสมในบริบทและสถานการณ์

สำหรับหลักสูตรแรกจะครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน กระบวนการตรวจสอบรอบด้าน การแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ในการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กรต่าง ๆ ถึงเทคนิค วิธีการตรวจหา

และจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบที่ธุรกิจมีต่อสิทธิมนุษยชน หน้าที่ของบริษัทที่ต้องลงมือปฏิบัติในเรื่องของสิทธิมนุษยชน วิธีการลงมือปฏิบัติ ติดตามผล และสื่อสารเรื่องผลกระทบที่ธุรกิจมีต่อสิทธิมนุษยชน วิธีการรับมือและหาทางออก เมื่อเกิดผลกระทบเชิงลบและการมีกลไกการร้องทุกข์ที่มีประสิทธิภาพ