เท่อย่างไทย

เท่อย่างไทย
คอลัมน์ : CSR Talk

การประกวดโครงการ “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ประจำปี 2565 จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 50 เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลทุนการศึกษา ล่าสุดมีการประกาศผลการตัดสินรอบชิงชนะเลิศแล้ว โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือเพื่อจุดประกายเยาวชนให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าในเอกลักษณ์ไทย ไม่ว่าจะเป็นการพูด และมารยาทอันดีงามของไทย

สำหรับรูปแบบการประกวดปีนี้เป็นแบบไฮบริดคือมีการประกวดในรูปแบบออนไลน์ในรอบคัดเลือก และรูปแบบออนไซต์ในรอบชิงชนะเลิศ โดยปีนี้มีโรงเรียนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการมากถึง 1,276 โรงเรียน และเยาวชนกว่า 8,933 คน

“มาริสา จงคงคาวุฒิ” หัวหน้ากิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี กล่าวว่า ทีเอ็มบีธนชาต มุ่งมั่นสานต่อกิจกรรมสังคมเพื่อความยั่งยืน ผ่านโครงการไฟ-ฟ้า (fai-fah) โดยทีทีบี มุ่งจุดประกายเยาวชนและชุมชนเสริมสร้างสิ่งดี ๆ คืนสู่สังคมไทย ตอกย้ำปรัชญา Make REAL Change

โดยจัดการประกวดโครงการ “เท่อย่างไทย โดย ไฟ-ฟ้า ทีทีบี” ครั้งที่ 50 ประจำปี 2565 เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนแสดงความสามารถของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยมุ่งส่งเสริมให้เยาวชนร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติ พร้อมส่งต่อสำนึกรักความเป็นไทยสู่สังคมอย่างยั่งยืนในระดับสากล เพื่อผลักดัน soft power ของไทยสู่การยอมรับของเวทีโลก

“ปีนี้มีการจัดการประกวดในรูปแบบไฮบริดคือการประกวดในรูปแบบออนไลน์ในรอบคัดเลือก และรูปแบบออนไซต์ในรอบชิงชนะเลิศ โดยยังคงแบ่งการประกวดออกเป็น 3 ประเภท คือประกวดมารยาทไทย ประกวดอ่านฟังเสียง และประกวดวาดภาพดิจิทัล

เพราะการประกวดทำให้เห็นถึงมุมมองของเด็กไทยยุคใหม่ที่เติบโตท่ามกลางวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่ยังเห็นคุณค่าของความเป็นไทย ทั้งนั้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่จะผลักดัน soft power ด้านศิลปวัฒนธรรมไทยต่อไป”

สำหรับรางวัลทีมชนะเลิศ การประกวดมารยาทไทย ระดับมัธยมต้น ได้แก่ โรงเรียนจตุรมิตรวิทยา จังหวัดขอนแก่น และรางวัลทีมชนะเลิศการประกวดมารยาทไทย ระดับมัธยมปลาย โรงเรียนศรียานุสรณ์ จังหวัดจันทบุรี

ส่วนรางวัลชนะเลิศประกวดอ่านฟังเสียง ระดับมัธยมต้น โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี

ขณะที่รางวัลชนะเลิศประกวดอ่านฟังเสียง ระดับมัธยมปลาย โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี และโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

“ทรอย วินน์ ฮอร์ตัน” เด็กหนุ่มลูกครึ่งไทย-อเมริกัน โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ชอบภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก แม้จะพูดได้สองภาษา แต่กลับรู้สึกตกหลุมรักภาษาไทยมากกว่า ผมรักความเป็นไทย มีเสน่ห์ และมีประวัติศาสตร์ที่ผมอยากให้คนรุ่นผม หรือน้อง ๆ ภูมิใจ

ส่วนตัวมองว่าเท่นะ ยิ่งถ้าพูดถูกต้อง ทำให้ดูเป็นคนที่มีบุคลิกภาพดี เวลาที่ผมคุยแชต ผมจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่พิมพ์ว่าถูกต้องหรือเปล่า ถูกต้องหมายถึงพิมพ์ถูกและเลือกใช้คำได้ถูกด้วย

สำหรับการประกวดวาดภาพดิจิทัล เริ่มจัดให้มีการประกวดครั้งแรกในปี 2021 เพราะต้องการเชื่อมต่อกับรุ่นใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบ และวิธีการใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน อันสะท้อนให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ความเป็นไทย ภายใต้หัวข้อ “Thailand Soft Power ปลุกพลังความเป็นไทย ให้ก้าวไกลสู่สากล”

“เด็กหญิงปวริศา อนันตศิริ” โรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ จังหวัดกาญจนบุรี คว้ารางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากผลงานวาดภาพดิจิทัล “สุดเท่เสน่ห์ไทย” โดยต้องการนำเสนอ soft power ผ่านโซเชียลมีเดียจนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยใช้แสงให้เป็นจุดเด่น สื่อถึงการท่องเที่ยวในเวลากลางคืน (night life) และสตรีตฟู้ด (street food) ตลอด 24 ชั่วโมง อันเป็นจุดเด่นของเมืองไทย

ขณะที่ “จิรายุ ทองจันทร์” โรงเรียนศรีสงครามวิทยา จังหวัดเลย คว้ารางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

นับเป็นการประกวดที่น่าสนับสนุนยิ่งนัก