ทำความรู้จัก 5 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ในอนาคต

เผย 5 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ในอนาคต
เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3D Printing)

ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales Lab by MQDC เผย 5 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ในอนาคต 

วันที่ 2 พฤษภาคม 2566 นวัตกรรม นับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะนวัตกรรมทางการแพทย์ เนื่องจากปัจจุบันผู้คนทั่วโลกเริ่มหันมาใส่ใจการดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัล จะเข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และเพิ่มโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพแก่ผู้คนมากขึ้น

ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales Lab by MQDC เผยแพร่บทความ 5 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ในอนาคต ได้แก่

1.ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI)

มีการคาดการณ์ว่าตลาดการนำ AI มาใช้ดูแลสุขภาพจะเติบโตขึ้นจาก 6.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2021 เป็น 9.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2029 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 40.51% และจะเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน Internet of Things (IOT) เข้าสู่ Internet of Medical Things (IoMT) เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน การอบรมบุคลากรทางการแพทย์ การวิจัย การรักษา การคัดกรองโรคเบื้องต้น การวินิจฉัยโรค การตัดสินใจ และการดูแลสุขภาพไปจนมนุษย์สิ้นสุดอายุขัย

งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า AI มีโอกาสวินิจฉัยมะเร็งปอดจากภาพเอกซเรย์ได้ถูกต้องมากกว่ามนุษย์ถึง 17% ทั้งนี้ ตลาดเทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์สวมใส่แบบพกพา (wearable devices) ก็เป็นหนึ่งในตลาดเทคโนโลยีที่พยายามนำ AI มาใช้ยกระดับการดูแลสุขภาพของผู้ใช้งาน เช่น ระบบการตรวจติดตามและแจ้งเตือนผู้ใช้งานให้มีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ดี เป็นต้น

2.เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ (3D Printing)

การใช้เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติในวงการแพทย์และสาธารณสุขกำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งการพิมพ์สามมิติยังถูกนำมาใช้สำหรับการสร้างรากฟันเทียม การเปลี่ยนข้อต่อ รวมถึงการทำอวัยวะเทียมเฉพาะบุคคล

ปัจจุบันมีงานวิจัยและการทดลองเกี่ยวกับการพิมพ์อวัยวะสามมิติเพื่อการผลิตเนื้อเยื่อผิวหนังและการสร้างอวัยวะทดแทนเฉพาะบุคคล เช่น หัวใจ ไต เป็นต้น ซึ่งหากมีการใช้ได้อย่างแพร่หลาย จะช่วยยกระดับการรักษา ลดเวลาที่ต้องใช้ในกระบวนการตรวจวินิจฉัยและหัตถการหลายอย่าง เช่น จะสามารถลดเวลาการผลิตเครื่องช่วยฟังจากมากกว่าหนึ่งสัปดาห์เหลือเพียงหนึ่งวัน เป็นต้น

มีการคาดการณ์ว่าตลาดการนำเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาใช้ดูแลสุขภาพจะเติบโตขึ้นจาก 1.11 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2021 เป็น 3.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2028 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 18%

3.การบำบัดรักษาระดับยีน (CRISPR Gene Editing)

เทคโนโลยีดังกล่าวจะเข้าไปควบคุมกลไกธรรมชาติของไวรัสที่บุกรุกร่างกาย แล้วตัดสายรหัสพันธุกรรมที่ผิดปกติออก ทำให้ในอนาคตมนุษย์มีโอกาสที่จะรักษาโรคสำคัญที่เกี่ยวกับความผิดปกติของเซลล์และรหัสพันธุกรรมได้ เช่น มะเร็ง HIV โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว เป็นต้น

มีการคาดการณ์ว่าตลาดเทคโนโลยี CRISPR จะเติบโตขึ้นจาก 2.57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2022 เป็น 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2030 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 17.9%

นวัตกรรมการแพทย์ ภาพจาก FutureTales LAB

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีดังกล่าวยังเป็นที่ถกเถียงเกี่ยวความกังวลด้านจริยธรรมเรื่องความเหมาะสมของการนำเทคโนโลยีไปใช้ ในปี ค.ศ. 2020 เคยมีนักวิจัยในประเทศจีนถูกดำเนินคดีเนื่องจากพยายามสร้าง “ทารกนักออกแบบ” หรือพยายามสร้างเด็กที่มีความถนัดในการประกอบอาชีพนักออกแบบโดยเฉพาะขึ้นมา

4.เทคโนโลยีโลกเสมือน (Extended Reality : XR)

เทคโนโลยีโลกเสมือน เช่น Virtual relatiy (VR) Augmented reality (AR) โฮโลแกรม เป็นต้น กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์ เช่น การฝึกอบรมนักเรียนแพทย์ การผ่าตัดขั้นสูง ช่วยบรรเทาความเจ็บปวด รักษาภาวะสุขภาพจิต เป็นต้น

นวัตกรรมการแพทย์ ภาพจาก FutureTales LAB

ปัจจุบันมีกรณีศึกษาที่ศัลยแพทย์สามารถใช้หมวก VR ฝึกซ้อมการหัตถการและจำลองการมองเห็นอวัยวะภายในร่างกายของผู้ป่วย นอกจากนี้ VR ยังสามารถช่วยให้ผู้ป่วย “ละทิ้งความเจ็บปวดที่เคยเรียนรู้มา” (unlearn) ได้ โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาด VR/AR จะเติบโตขึ้นจาก 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2021 เป็น 1.96 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2030 ที่อัตราการเติบโตปีละ 26.88% ระหว่างการคาดการณ์ปี ค.ศ. 2021-2030

5.อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Device)

พลาสเตอร์ปิดแผลที่ใช้เซ็นเซอร์เพื่อตรวจสอบการรักษาบาดแผลเพื่อช่วยให้แผลปิดเร็วขึ้น เพิ่มการไหลเวียนของเลือดใหม่ไปยังเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ และเพิ่มการฟื้นตัวของผิวหนังโดยการลดการเกิดแผลเป็นลง โดยชั้นอิเล็กทรอนิกส์บาง ๆ บนผ้าพันแผลมีเซ็นเซอร์อุณหภูมิที่คอยตรวจสอบบาดแผล

นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นไฟฟ้าเพื่อเร่งการปิดของเนื้อเยื่อ โดยจะมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคสำคัญ เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน เบาหวาน เป็นต้น

เผย 5 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงวงการแพทย์ในอนาคต

พลาสเตอร์ปิดแผลที่ใช้เซ็นเซอร์แม้เทคโนโลยีดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนและการจัดเก็บข้อมูลก่อนที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตจำนวนมาก แต่เทคโนโลยีนี้ จะสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันถูกกดทับและเป็นโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ซึ่งมักประสบกับบาดแผลที่หายช้า

โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดพลาสเตอร์ปิดแผลอัจฉริยะจะมีการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 23% ในระยะการคาดการณ์ระหว่างปี ค.ศ. 2023-2031 โดยในปี ค.ศ. 2031 จะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ