การลาป่วย: จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกน้องป่วยจริง ?

การลาป่วย HR

คอลัมน์ HR Corner โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

มีคนถามมาว่า “ผมปวดหัวเวียนหัวพอโทร.มาขอลาป่วยกับหัวหน้า หัวหน้าก็ให้โทร.ไปลาป่วยกับ HR แต่ HR บอกว่า “ให้ไปหาหมอแล้วเอาใบรับรองแพทย์มายืนยัน แต่ผู้ถามบอกว่าเขาลาป่วยแค่วันเดียวไม่ได้ไปหาหมอจะไปเอาใบรับรองแพทย์มาจากไหน แต่ HR ยืนยันให้ไปเอาใบรับรองแพทย์มาให้”

ผมจึงอยากจะทำความเข้าใจในเรื่องการลาป่วยนี่แบบตรงไปตรงมา ดังนี้ครับ

1. HR ไม่มีหน้าที่ไปอนุญาตให้พนักงานฝ่ายอื่นลาป่วยนะครับ เพราะพนักงานฝ่ายอื่นไม่ใช่ลูกน้องของฝ่าย HR สักหน่อย ถ้าอยากจะให้พนักงานทุกฝ่ายมาลาป่วยกับฝ่าย HR ก็ควรจะทำผังองค์กรเสียใหม่ โดยให้พนักงานทุกฝ่ายมาเป็นลูกน้องขึ้นตรงกับฝ่าย HR ดีไหมครับ

น่าแปลกใจที่หลายบริษัทยังมีกฎเกณฑ์แปลก ๆ ทำนองนี้อยู่ว่า เรื่องเหล่านี้ต้องไปให้ HR เป็นคนอนุญาต ทั้ง ๆ ที่เป็นบทบาทหน้าที่ของหัวหน้างานโดยตรงของหัวหน้างาน

ในหน่วยงานนั้น ๆ ที่จะต้องเป็นคนพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ลูกน้องของตัวเองลาป่วยหรือไม่ ไม่ควรโยนหน้าที่นี้ไปให้ HR นะครับ

2. ตามมาตรา 32 ของกฎหมายแรงงาน บอกไว้ชัดเจนว่า “ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง…” ผมขีดเส้นใต้คำว่า “ป่วยจริง” (หลายคนจะตอบว่า พนักงานมีสิทธิลาป่วยได้ปีละไม่เกิน 30 วัน นี่ไม่ถูกต้องนะครับ ที่ถูกต้อง คือ มีสิทธิลาป่วยได้ตามที่ป่วยจริง แต่นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ไม่เกิน 30 วัน)

ซึ่งถ้าพนักงานไม่ป่วยจริง หัวหน้าก็ไม่อนุญาตให้ลาป่วย และจะถือว่าพนักงานขาดงานในวันนั้น โดยหัวหน้างานก็สามารถออกหนังสือตักเตือนในเรื่องการขาดงานไป 1 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร พร้อมทั้งบริษัทก็ไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ขาดงาน 1 วันนั้นได้ กรณีนี้ไม่ใช่การหักเงินเดือนนะครับ แต่เป็นการไม่จ่ายค่าจ้างในวันที่ลูกจ้างขาดงาน หรือ no work no pay ครับ

3. ตามมาตรา 32 ยังบอกต่อไปอีกว่า การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้าง “อาจ” ให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์แผนปัจจุบันชั้น 1 หรือของสถานพยาบาลของรัฐบาล แต่ถ้ากรณีลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองแพทย์ได้ ก็ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ ซึ่งก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า นายจ้างจะไปบังคับให้เขาไปหาหมอเพื่อไปเอาใบรับรองแพทย์มาให้ดู ก็ไม่ได้นะครับ

4. จากข้อ 3 แทนที่ HR หรือหัวหน้างาน จะคิดแบบ “ซี้ปังเท้า” (ไปหาคำแปลเอาเองนะครับ 555) คิดแต่จะทำตามระเบียบ โดยไม่รู้จักคิดหาเหตุผลตามความเป็นจริง ลองมาหาทางพิสูจน์ว่า พนักงาน “ป่วยจริง” (ตามข้อ 2) หรือไม่ จะดีกว่าไหมครับ โดยทำดังนี้

4.1 กรณีพนักงานไปหาหมอ เขาจะต้องได้ใบรับรองแพทย์อยู่แล้ว ซึ่งใบรับรองแพทย์จะมี 2 แบบ คือ

4.1.1 ในใบรับรองแพทย์เขียนไว้ว่า “ได้มาทำการตรวจรักษาจริง” กรณีนี้มักจะเป็นการไปตรวจรักษาตามที่หมอนัด ไป follow up โรคประจำตัว เช่น หมอนัดตรวจเช้า พนักงานก็มาทำงานตอนสาย ๆ หรือบ่าย ๆ ได้ หรือหมอนัดบ่าย ก็มาทำงานตอนเช้าก่อนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอนุญาตให้ลาป่วยทั้งวัน

4.1.2 ในใบรับรองแพทย์เขียนไว้ว่า “เห็นสมควรหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา…วัน” อันนี้หัวหน้าก็ต้องอนุญาตให้ลาป่วยตามความเห็นของแพทย์ครับ

4.2 กรณีพนักงานไม่ได้ไปหาหมอ หัวหน้าก็ไปเยี่ยมลูกน้องที่บ้าน ที่หอพัก สิครับ (ควรมีพยานไปด้วยว่า เราไม่ได้ปรักปรำ) และควรไปเยี่ยมโดยไม่ต้องบอกให้พนักงานรู้ล่วงหน้า ถ้าไปเยี่ยมแล้วเห็นว่าป่วยจริง นอนซมอยู่ ก็อนุญาตให้ลาป่วย ถ้าไม่ป่วยจริง เช่น ไปที่หอพักก็ไม่อยู่ ไม่รู้ไปไหน หรือไปเจอพนักงานที่อ้างว่าป่วย แต่ไปนั่งชิล ๆ ซดเบียร์อยู่ใต้ถุนหอพัก หัวหน้าก็ต้องไม่อนุญาต และถือว่าขาดงาน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร และออกหนังสือตักเตือนตามข้อ 2

ดังนั้น หัวหน้าจึงจำเป็นต้องรู้เท่าทันลูกน้องด้วยว่าใครป่วยจริง หรือป่วยปลอม เพื่อเป็นการปรามลูกน้องคนอื่น ๆ ที่กำลังจะเอาอย่างพวกที่ป่วยปลอม

5. ทั้งหมดที่บอกมานี้ ผมไม่ได้ให้ท่านที่เป็นหัวหน้าเป็นคนใจร้าย ไม่มีมนุษยธรรมนะครับ แต่อยากให้ดูตามข้อเท็จจริง ซึ่งคนที่เป็นหัวหน้าควรจะต้องเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของลูกน้องเกเร (บางคน…ถ้ามี) ถ้าลูกน้องคนไหนที่ทำงานดี ไม่มีปัญหาแล้วจะเจ็บไข้ไม่สบายลาป่วยน่ะ คงไม่มีหัวหน้าใจร้ายเคี่ยวเข็ญให้ลากสังขารมาทำงานให้ได้ (เอ๊ะ…หรือจะมี)

แต่ถ้าลูกน้องเกเรที่เป็นเหล่ามือวางอันดับต้น ๆ ประเภทนักป่วยมืออาชีพทั้งหลาย หัวหน้าจำเป็นต้องรู้ทัน และหาทางพิสูจน์ว่า “ป่วยจริง” หรือเปล่า

6. ส่วนหัวหน้าสายโลกสวยประเภทเป็นยูนิคอร์นใจดีเดินอยู่ที่ทุ่งลาเวนเดอร์ ไม่ว่าลูกน้องคนไหนโทร.มาขอลาป่วยก็จะอนุญาตทุกกรณี โดยไม่ดูตามความเป็นจริงว่า ใครป่วยจริง ป่วยปลอม เพราะกลัวว่าถ้าไม่อนุญาตแล้ว ลูกน้องจะเคือง เดี๋ยวดอกลาเวนเดอร์จะช้ำ ถ้าเป็นหัวหน้าประเภทนี้ ผมมักจะพบว่าในหน่วยงานนั้น ๆ มักจะมีการขาดงานสูง บางหน่วยงานนี่ ลูกน้องจะหาโอกาสป่วย (ปลอม ๆ) วันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ แบบลองวีกเอนด์กันได้ทุกเดือน

ที่ผมแชร์มาทั้งหมด เมื่อท่านที่เป็นหัวหน้างานอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงจะพอมีไอเดียในเรื่องการลาป่วยของลูกน้องพอสมควรแล้วนะครับ ส่วนจะทำยังไงเมื่อลูกน้องขอลาป่วยในครั้งต่อไป คงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของหัวหน้าแต่ละคน


และขอย้ำตรงนี้อีกครั้งหนึ่งว่า HR ไม่มีอำนาจ และหน้าที่ที่จะอนุญาตให้พนักงานทั้งบริษัทลาป่วยหรือไม่ แต่อำนาจ และหน้าที่ในการอนุมัติการลาป่วยจะต้องอยู่ที่หัวหน้างานของหน่วยงานนั้น ๆ ครับ