เกษียณ 60 ปี ได้ไปต่อ 36 อาชีพ กฎใหม่ ก.พ. แก้ปัญหาขาดผู้ชำนาญ

เนื่องเพราะสังคมผู้สูงอายุของไทยกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลากรในภาครัฐ หรือภาคเอกชน ต่างต้อง “ตั้งรับ” กับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคลของประเทศไทย อย่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ยังต้องกลับมาทบทวนในสมมติฐานดังกล่าว ด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ในการจัดหาอัตรากำลังข้าราชการพันธุ์ใหม่ พร้อมกับตั้งโจทย์ใหม่ว่าข้าราชการเดิมที่เคยเกษียณอายุ 60 ปี แล้วต้องออกจากราชการ ทั้ง ๆ ที่ยังมีความรู้ความสามารถ และมีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ให้กับประเทศ จึงน่าที่จะให้ข้าราชการเหล่านี้กลับมาทำงานต่อได้ เพราะตำแหน่งงานบางประเภทหาอัตรากำลังทดแทนค่อนข้างยาก

ที่สำคัญ หากข้าราชการเหล่านี้เกษียณอายุราชการออกไปก็จะกลายเป็นตัวเลขบวกให้กับสังคมผู้สูงอายุ และอาจกลายเป็นภาระของระบบสาธารณสุขของรัฐต่อไปในอนาคต ผลเช่นนี้ จึงทำให้ ก.พ.ประกาศไฟเขียวให้ 36 สายงาน สามารถต่ออายุราชการที่จะเกษียณในปี 2563

ดึงจุดแข็งข้าราชการเกษียณช่วยภาครัฐ

โดยเรื่องนี้ “หม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) บอกว่า เนื่องจากสัญญาณการขยายตัวของสังคมผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น ทำให้บางสายงานขาดแคลนอัตรากำลัง รวมถึงคนรุ่นใหม่ไม่สนใจเรียนในสาขาที่ขาดแคลน และอาชีพข้าราชการไม่ได้อยู่ในเป้าหมายของคนรุ่นใหม่ ก.พ.จึงออกแบบกลไกเพื่อรองรับใน 2 ช่องทาง เพื่อขยายอายุราชการในตำแหน่งที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว คือ 1) ให้ส่วนราชการที่ขาดแคลนบุคคลากรแจ้งมายัง ก.พ.ว่าต้องการบุคลากรประเภทใดที่ยังไม่สามารถหาคนทำงานได้ และต้องการขยายเวลาอายุเกษียณราชการออกไปให้ ก.พ.พิจารณาเห็นชอบ เงื่อนไขสำคัญ คือ ตำแหน่งที่ต้องการขยายอายุราชการ “ไม่ได้” คือ ในตำแหน่งบริหาร เช่น ตำแหน่งผู้อำนวยการ เมื่อ ก.พ.พิจารณาเห็นชอบ หน่วยงานนั้น ๆ สามารถดำเนินการต่ออายุราชการได้ทันที

และ 2) การกำหนดอายุราชการใหม่จากเดิมที่ใช้อายุราชการอยู่ที่ 60 ปี โดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่มี เนื่องจากเมื่อข้าราชการเกษียณอายุ 60 ปีนั้น คนเหล่านั้นจะกลายเป็น “ภาระ” ทันที เพราะจะกลายเป็นผู้รับบำเหน็จบำนาญไปจนกว่าจะเสียชีวิต ทั้งที่บุคลากรเหล่านั้น ๆ มีความสามารถ และมีศักยภาพที่จะทำงานต่อได้ ฉะนั้น จึงเท่ากับว่าภาครัฐ “เสียโอกาส” ในการใช้ประโยชน์จากกลุ่มคนเหล่านี้ จึงเห็นสมควรขยายเวลาอายุราชการออกไปอีก เพื่อให้แต่ละหน่วยงานมีเวลาในการจัดหากำลังทดแทน

“เราต้องนำมิติของสังคมผู้สูงอายุมาเป็นกรอบในการสรรหาคนเข้ามาทำงาน เพราะคนรุ่นใหม่ยังต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์ รวมถึงความสนใจในอาชีพรับราชการจากคนรุ่นใหม่นั้นน้อยมาก จึงต้องมาขยายช่องทางเพิ่มด้วยการต่ออายุราชการออกไป เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ มีการเตรียมตัวเพื่อเลือกคนเข้ามาทำงานให้ตรงกับงานมากที่สุด”

36 สายงานหลักหาคนรุ่นใหม่ทดแทนยาก

“หม่อมหลวงพัชรภากร” ไล่เรียงตัวอย่างของประเภทงานที่ได้รับการอนุมัติให้สามารถต่ออายุราชการได้ จะมีทั้งหมด 36 สายงานสำคัญ เช่น ในระดับผู้เชี่ยวชาญที่ต้องใช้ทักษะความสามารถเฉพาะทาง, นักกฎหมาย, กฤษฎีกา, แพทย์, ทันตแพทย์, นายสัตวแพทย์ และสำหรับระดับทักษะพิเศษ คือ การปฏิบัติงานช่างศิลปกรรม, คีตศิลป์, ดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์ เป็นต้น

สำหรับการต่ออายุราชการจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างจากการรับราชการตามปกติเดิม “หม่อมหลวงพัชรภากร” อธิบายในประเด็นนี้ว่า การประเมินผลการทำงานถือเป็นเรื่องที่ ก.พ.ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เช่น สำหรับข้าราชการที่ได้ต่ออายุงานนั้น จะต้องประเมินผลงานทุกปี ต้องรายงานผลตรวจสุขภาพทุกปี นอกจากนี้ยังต้องร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมา เพื่อใช้เฉพาะสำหรับการต่ออายุราชการ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ระดมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว และข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอัตรากำลังของราชการระบุอยู่ในแผนปฏิรูปอยู่แล้วว่าสามารถขยายอายุราชการได้เท่าไหร่ ขณะนี้ ก.พ.อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม และจะต้องเสนอรายละเอียดทั้งหมดต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แบบเต็มแพ็กเกจ เพื่อพิจารณาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนมีหนังสือส่งถึงหน่วยงานภาครัฐ สำหรับเงื่อนไข หลักเกณฑ์การต่ออายุราชการ จะต้องเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องด้านวิชาการ ทั้งระดับผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญ ส่วนในระดับทั่วไปต้องเป็นทักษะพิเศษ และมีความอาวุโส โดยต้องมีเหตุผลความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ตำแหน่งที่จะให้ขยายอายุราชการต้องเป็นตำแหน่งที่ ก.พ.กำหนดให้เป็นตำแหน่งที่มีความขาดแคลน

ต่ออายุราชการแก้ปัญหาขาดผู้เชี่ยวชาญ

ส่วนกรอบระยะเวลาที่ให้มีการต่ออายุนั้น คือ การต่ออายุครั้งแรกได้ไม่เกิน 4 ปี รวมถึงต่อเวลาครั้งต่อไปไม่เกิน 3 ปี หรือรวมระยะเวลาต่ออายุราชการทั้งสิ้นไม่เกิน 10 ปี โดยในตำแหน่งที่จะให้สามารถต่ออายุราชการได้นั้นต้องเกิดประโยชน์ของทางราชการ ต้องกำหนดแผนงาน โครงการที่มีความชัดเจน และแยกเป็นรายปี ต้องเป็นตำแหน่งที่ ก.พ.กำหนดให้รับราชการต่อไป มีความขาดแคลนทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ และหาผู้อื่นปฏิบัติงานแทนได้ยาก

ขณะที่ผู้ที่จะต่อเวลาอายุราชการต้องมีคุณสมบัติตามที่ ก.พ.กำหนด และต้องกำหนดระยะเวลาที่จะให้รับราชการต่อไป รวมถึงต้องผ่านการตรวจสุขภาพทางด้านร่างกาย และจิตใจ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์ที่ ก.พ.กำหนด ที่สำคัญ ต้องเป็นความต้องการของหน่วยงาน ด้วยความสมัครใจของข้าราชการนั้น ๆ และไม่อยู่ในระหว่างการถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย


อย่างไรก็ตาม เพื่อให้อัตรากำลังข้าราชการไม่ขาดแคลนในระยะยาว “หม่อมหลวงพัชรภากร” ยังเตรียมพลิกโฉมโครงสร้างระบบข้าราชการไทยครั้งใหญ่อีกด้วย เหตุผลคือเพื่อบริหารจัดการข้าราชการให้รองรับภารกิจที่ต้องเพิ่มขึ้น รวมถึงต้องการดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเข้าทำงานในระบบราชการ ที่มีแนวคิดใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศ เข้าใจ และเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญ คือ ต้องการล้างภาพระบบราชการในแง่ลบให้กลับมาเป็นระบบราชการยุคใหม่ที่ประชาชนให้ความเชื่อถืออีกด้วย