“บิ๊กซี” จับมือราชมงคล นำสินค้าชุมชนจำหน่ายในมหา’ลัย

หลังจากบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์จำกัด (มหาชน) หรือ “บีเจซี” ประกาศแผนธุรกิจครึ่งปีหลังจะขยายเปิด “มินิบิ๊กซี” ทั่วประเทศให้ได้ 200-300 สาขา สิ่งสำคัญคือจะมีการหาโมเดลใหม่ ๆ เข้ามาดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด 3 ด้านคือ ยกระดับความเป็นอยู่, การศึกษา, สุขภาพของคน และสังคมให้ดีขึ้นอันเป็นกรอบในการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนของกลุ่มธุรกิจบีเจซี และบิ๊กซีที่ยึดมั่นมาอย่างต่อเนื่อง

ผลเช่นนี้ จึงทำให้บิ๊กซีมองหาโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ เพื่อต่อยอดจากโมเดลเดิมที่มี เช่น เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าโอท็อป, เอสเอ็มอี และสินค้าพื้นถิ่น โดยลงนาม MOUร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ด้วยการเปิดมินิบิ๊กซีในมหาวิทยาลัย พร้อมกับนำสินค้าที่มหาวิทยาลัยร่วมพัฒนากับชุมชนเข้ามาวางจำหน่ายในมินิบิ๊กซี

ทั้งยังเตรียมขยายตลาดไปยังบิ๊กซีทั่วประเทศ อาทิมินิบิ๊กซี สาขามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เขตสาทร ที่เพิ่งเปิดให้บริการเป็นมินิบิ๊กซีสาขาที่ 1,117

สินค้าชุมชน

ด้วยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ หรือ มทร.กรุงเทพ โดยมีการจำหน่ายสินค้าสะดวกซื้อกว่า 5,566 รายการ

ทั้งยังเป็นร้านสะดวกซื้อแห่งแรกที่มีการนำสินค้าของชุมชนที่ผ่านการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยเข้ามาวางจำหน่าย ที่สำคัญ ยังเป็นแฟลกชิปสโตร์ ด้วยการนำร่องนำนวัตกรรมประหยัดพลังงานเข้ามาใช้ อาทิ ระบบตู้แช่ประหยัดพลังงาน ที่ใช้น้ำยาทำความเย็นประหยัดพลังงาน พร้อมรักษาคุณภาพของสินค้าอาหารสด,ระบบไฟส่องสว่างในร้าน, ระบบเครื่องปรับอากาศที่มีระบบวิเคราะห์ และบริหารจัดการอุณหภูมิในร้านเพื่อประหยัดพลังงาน

นอกจากนั้น ภายในร้านยังมีระบบการวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินเลือกจับจ่ายสินค้าของลูกค้า

“อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซีกล่าวว่า บิ๊กซีดำเนินธุรกิจตามแนวทางของท่านประธาน “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่ให้ไว้กับกลุ่มบีเจซีว่าการทำธุรกิจต้องมีการตอบแทนสังคมทุกด้าน ทั้งสินค้า และบริการ รวมถึงการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ

“ดังนั้น ธุรกิจของเราจึงพยายามเข้าหาชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เพราะมหาวิทยาลัยมีการทำงานร่วมกับชุมชนค่อนข้างมาก”

สินค้าชุมชน

“เพราะการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทำให้บิ๊กซี เปรียบเสมือน working lab ให้นักศึกษาพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมเครื่องมือใหม่ ๆ ที่ใช้ในการผลิตสินค้าร่วมกับเกษตรกร และผู้ประกอบการ อาทิ แพ็กเกจจิ้ง, แบรนดิ้ง ทั้งยังทำให้สินค้ามีมาตรฐานการรองรับสู่การจัดจำหน่าย อาทิ อย. มอก. ซึ่งเป็นช่องทางนำสู่ตลาด และถือเป็นการเรียนรู้รูปแบบ work-integrated learning (WIL) ที่เน้นการเรียนในชั้นเรียนควบคู่ไปกับการทำงานในสถานประกอบการจริง”

“อัศวิน” บอกอีกว่า ทางบริษัทจะสนับสนุนการเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าของทางมหาวิทยาลัยที่พัฒนาร่วมกับผู้ประกอบการและชุมชน เข้ามาจัดจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อมินิบิ๊กซี ซึ่งที่ผ่านมาบิ๊กซีได้ให้ความสำคัญกับสินค้าท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของจังหวัด (OTOP) เพื่อร่วมเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรท้องถิ่น และผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นโอกาสสู่ตลาดใหม่ ๆ

สินค้าชุมชน

ขณะที่ “สมพร ปิยะพันธ์” รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า มีนโยบายในการช่วยเหลือชุมชน โดยนำองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญจากอาจารย์ และนักศึกษา ทั้งด้านกลุ่มวิศวกรรมศาสตร์, กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตลอดจนด้านบริหารจัดการมาบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์จากชุมชนมีอัตลักษณ์ และกระจายไปทั่วถึง

“อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับการบ่มเพาะธุรกิจ และพัฒนาธุรกิจจนมีชื่อเสียง อาทิ น้ำมะนาวสดพร้อมดื่ม UHT ยี่ห้อ Lime Jeed (ลามจี๊ด) ซึ่งเป็นสินค้าได้รับสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพ และสินค้าไส้กรอกเยอรมัน UTK ก็มีการนำมาจำหน่ายภายในมินิบิ๊กซีสาขามหาวิทยาลัยแล้วถือเป็นโอกาสอันดีที่มหาวิทยาลัยจะได้ส่งเสริมสินค้าชุมชน”

ซึ่งไม่ธรรมดาเลย