“สุชาติ” ปั้นธนาคาร-รพ.แรงงาน แปลงกองทุนชราภาพเป็นสินทรัพย์

สุชาติ ชมกลิ่น

เสี่ยเฮ้ง-สุชาติ ชมกลิ่น เจ้ากระทรวงแรงงาน ถูกท้าทาย “เก้าอี้จับกัง 1” จากเอฟเฟ็กต์การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะได้คะแนน “ไว้วางใจ” เป็นอันดับ “รองสุดท้าย” จากทั้งหมด 10 รัฐมนตรี-3 พรรคการเมือง ช่วงชุลมุนของการฟอร์มโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประยุทธ์ 2/4 “ประชาชาติธุรกิจ” แทรกคิวสัมภาษณ์พิเศษ “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน

ตั้งกองทุน-ดึงแรงงาน 20 ล้านคนเข้าระบบ

“สุชาติ” ระบุว่า กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างร่างกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ พ.ศ. …เพื่อให้แรงงานนอกระบบเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีความปลอดภัยในการทำงาน มีหลักประกันทางสังคม ได้รับการส่งเสริม คุ้มครองและพัฒนาสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนการรวมกลุ่มในการจัดตั้งองค์กรเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงาน

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้าน และเป็นการนำแรงงานนอกระบบจำนวน 20 ล้านคนเข้าสู่ระบบ เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง หาบเร่-แผงลอย หรือผู้ที่ไม่มีฐานข้อมูลในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม รวมถึงมาตรา 39 และมาตรา 40

โดยจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ” วัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ และจัดให้มีการประกันภัย สวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่น อันเป็นประโยชน์แก่แรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศ การดำเนินการของกองทุน ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการและการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคม

เก็บค่าสมาชิก 100-200 บาทต่อปี

สำหรับเงินส่งเข้ากองทุนจะมาจาก “เงินค่าสมาชิก” ของแรงงานนอกระบบได้จ่ายเป็นค่าสมาชิกเข้ากองทุนส่วนหนึ่ง และกระทรวงการคลังสมทบอีกส่วนหนึ่ง ถ้าไม่มีสารตั้งต้น กองทุนเกิดไม่ได้ แรงงานนอกระบบสามารถเข้ามาสู่ระบบได้โดยจ่ายค่าสมัครสมาชิกเข้ากองทุน 100-200 บาทต่อปี ขณะนี้อยู่ในช่วงการประชาพิจารณ์กฎหมาย

โดยกองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินดังนี้ 1.เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ 2.เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 3.เงินค่าปรับที่ได้รับจากการลงโทษผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ.นี้ 4.เงินค่าสมาชิก 5.เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรืออุทิศให้

6.เงินที่ได้รับจากต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ 7.ดอกผลและผลประโยชน์ที่เกิดจากกองทุน 8.เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินของกองทุนหรือที่ได้จากการจัดหารายได้ 9.เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่กองทุนได้รับจัดสรรจากกฎหมายอื่น

10.เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่กองทุนได้รับไม่ว่ากรณีใด เงินและดอกผลที่กองทุนได้รับตามข้อ 3 ถึงข้อ 10 ไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

จ้างแต่ไม่จ่าย จำคุก 6 ด.-ปรับ 1 แสน

กฎหมายดังกล่าวมี “พนักงานตรวจแรงงานนอกระบบ” ซึ่งให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้ง และให้มีช่องทางการยื่นคำร้องและการพิจารณาคำร้อง (มาตรา 43-มาตรา 51) เพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองแก่แรงงานนอกระบบในการใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อ “พนักงานตรวจแรงงานนอกระบบ” สอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่ง “ภายในหกสิบวัน” ในกรณีผู้จ้างทำงานไม่จ่ายเงินให้แก่แรงงานนอกระบบ หากผู้จ้างทำงานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 54)

กรณีผู้ยื่นคำร้อง หรือผู้ว่าจ้าง หรือผู้จ้างทำงาน ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งให้นำคดีไปสู่ศาลภายใน “สามสิบวัน” หากเกินเวลากำหนดให้คำสั่งนั้น “เป็นที่สุด” และหากปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบ หรือคำพิพากษาศาลแล้ว การดำเนินคดีอาญาให้เป็นอัน “ระงับไป”

พร้อมกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืน (มาตรา 52-มาตรา 55) อาทิ มาตรา 52 ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวก ไม่ตอบหนังสือสอบถาม ไม่ชี้แจงข้อเท็จจริง ไม่ส่งสิ่งของหรือเอกสารที่เกี่ยวข้อง ขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานนอกระบบ ต้องระวางโทษ “จำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน” หรือ “ปรับไม่เกินสองพันบาท” หรือ “ทั้งจำทั้งปรับ”

ทั้งนี้ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ สภาพการทำงานและความปลอดภัยในการทำงานหรือการประกอบอาชีพ ต้องระวางโทษ “จำคุกไม่เกินหกเดือน” หรือ “ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท” หรือทั้งจำทั้งปรับ

สร้าง รพ.เฉพาะทาง-ธนาคารแรงงาน

นอกจากการตั้งไข่ “พ.ร.บ.แรงงานนอกระบบ” ให้ “เกิดขึ้นจริง” ในยุคที่ “สุชาติ” นั่งเก้าอี้ “เจ้ากระทรวงแรงงาน” แล้ว “เมกะโปรเจ็กต์” ที่ต้องการจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ชนชั้นแรงงาน-ทำเนียบจับกัง 1 คือ การขึ้นโครงการ “ธนาคารแรงงาน” และ “โรงพยาบาลเฉพาะทาง” สำหรับแรงงานประกันสังคม และสถาบันการเงินสำหรับแรงงาน

“สุชาติ” กางแปลนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับชนชั้นแรงงานว่า ถึงแม้จะมีโรงพยาบาลอยู่ในเครือประกันสังคมกว่า 200 แห่ง แต่บริหารไปคนละทิศคนละทาง จึงต้องการทำตัวอย่างให้เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางของประกันสังคมเอง โดยมีโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลตำรวจเป็นต้นแบบ

เนื่องจากประกันสังคมมีผลตอบแทนปีก่อน 80,000 ล้านบาท และปีนี้ 60,000 ล้านบาท จึงใช้งบประมาณจากผลตอบแทนจากกองทุนประกันสังคม 3,000 ล้านบาทมาสร้างโรงพยาบาลแรงงาน บริหารจัดการไม่ให้ขาดทุน นำมืออาชีพมาเป็นผู้บริหาร

“ระยะต่อไปแรงงานต่างด้าวไม่ต้องเสียประกันจัดหางาน ไม่ต้องไปต่อคิว ยกเลิกให้หมด ให้ทำเหมือนการทำพาสปอร์ต ไปที่ห้างสรรพสินค้า ถ่ายรูป 15 นาทีกลับ ไม่ต้องมีใต้โต๊ะ ไม่ต้องมีนายหน้า เอาขึ้นมาบนดินให้หมด ตัดวงจรผลประโยชน์ ทุบหม้อข้าวให้แตกให้เป็นผลงานฝากเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์”

ใช้เงินกองทุนชราภาพล่วงหน้า 30%

ขณะที่ “ธนาคารแรงงาน” หรือ “แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน” จาก “กองทุนชราภาพ” เพื่อเป็น “ทุนหมุนเวียน” สำหรับแรงงานประกันสังคม โดยนำเงินสะสมในกองทุนชราภาพ ยกตัวอย่างมีเงินสะสมในกองทุนชราภาพ 200,000 บาท สามารถนำออกมาใช้ล่วงหน้าได้ 30% หรือ 60,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี เมื่อถึงอายุ 55 ปี จะได้บำนาญน้อยลง เพื่อนำเงินมาใช้ในช่วงวิกฤต

“หากใช้เงิน 300,000-400,000 ล้านบาท เศรษฐกิจจะหมุน 3 รอบ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและแรงงานที่กำลังลำบาก เป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ”

ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนประกันสังคม เนื่องจากกฎหมายห้ามไม่ให้นำเงินไปค้ำประกัน ห้ามคืน จึงต้องแก้ไขกฎหมายให้สามารถเลือกได้ว่าจะรับบำเหน็จหรือรอบำนาญ

นอกจากนี้ยังให้สามารถนำสิทธิไปค้ำเพื่อไปกู้ธนาคาร ถ้าผิดนัดชำระหนี้ให้มาเรียกคืนเงินจากประกันสังคมได้ เปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นทุน เหมือนเป็นโฉนดที่ดิน

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ. …อยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ โดยจะนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปลายปี’64 ต่อจากนั้นจะนำเข้าสู่สภาเห็นชอบ ส่วน “ไทม์ไลน์” ม.ค.-มี.ค. 64 รับฟังความเห็น เม.ย. 64 ยกร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่…) พ.ศ. …พ.ค. 64 คกก.ประกันสังคมพิจารณาหลักการ มิ.ย. 64 เสนอ รมว.แรงงานเห็นชอบ ก.ค.-ส.ค. 64 คกก.กม.กระทรวงพิจารณา ก.ย. 64 เสนอ ครม. ต.ค.-ธ.ค. 64 คกก.กฤษฎีกาตรวจร่าง ม.ค. 65 ครม.ส่งสภาพิจารณา 3 วาระ

“ผมกำลังเขียนโรดแมปชีวิตของคนทำงานในประเทศ โดยจะยกระดับกองเศรษฐกิจแรงงานให้เป็นกรม เหมือนกรมเศรษฐกิจการคลัง เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์เชิงวิชาการ เรียนจบมาแล้วต้องรู้ว่าต้องทำงานอะไร วิเคราะห์ให้ คิดให้ถึงขั้นว่าต้องเรียนสายไหน จบมาแล้วเงินเดือนเท่าไหร่ ตำแหน่งงานอยู่ภูมิภาคใด” สุชาติตบท้าย