แสนสิริ จับมือ ยูนิลีเวอร์ ผุดโครงการจัดการขยะสู่กระบวนการ Upcycle

แสนสิริ จับมือ ยูนิลีเวอร์ ผุดโครงการจัดการขยะจากที่อยู่อาศัย ชวนลูกบ้านกว่า 50 โครงการ แยกขยะ เพื่อเข้าสู่กระบวนการ Upcycle

วันที่ 22 กันยายน 2564 นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แสนสิริดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ดูแลสังคมและสร้างองค์กรที่ดี ภายใต้พันธกิจ “Sansiri Sustainability : Everyday Better” ยึดมั่นที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกวันให้กับลูกบ้าน สังคมและทุกคน โดยเฉพาะในด้าน Waste Management ที่ได้ดำเนินการมาอย่างจริงจัง โดยผนึกกำลังกับพันธมิตรชั้นนำมากมากมาย เพื่อเก็บรวบรวมและจัดการขยะในแต่ละประเภท

ตั้งแต่การร่วมมือกับโคคา-โคล่าในการจัดการขยะประเภทบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มและวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้, การร่วมมือกับ SCG Packaging ในการจัดการขยะรีไซเคิลประเภทกระดาษ ตลอดจนการร่วมมือกับ AIS เพื่อคัดแยกขยะ e-Waste ในโครงการแสนสิริ

ทำให้ในปีที่ผ่านมา สามารถรวบรวมและคัดแยกเพื่อนำขยะเข้าสู่กระบวนการจัดการอย่างเหมาะสมไปทั้งหมด 205,815 กิโลกรัม ใน 148 โครงการ แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้หลายองค์กรออกนโยบาย Work from Home และคนใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้แนวโน้มจำนวนขยะในครัวเรือนได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เราจึงเดินหน้าจัดการขยะพลาสติกแบบย่อยสลายไม่ได้ด้วยการจับมือยูนิลีเวอร์ จัด “waste to WORTH: แยกไม่ยาก” ตั้งจุดรับขยะที่ Habito Mall และร่วมกับ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เพื่อขยายผลไปในอีกกว่า 50 โครงการของเรา ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้เกิดประโยชน์ เพื่อชะลอขยะพลาสติกลงสู่ภูเขาขยะให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ยังเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ALL_Thailand ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) กับเป้าหมายในการเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้าง Business Model ต้นแบบการจัดการขยะพลาสติกกับ PPP Plastics มุ่งผลักดันการจัดการขยะเพื่อเปลี่ยนประเทศไทย

นายเศรษฐากล่าวต่อว่าสถานการณ์ขยะพลาสติก ในไทย มีข้อมูลจากเสวนาออนไลน์ของ PPP Plastics ในหัวข้อ “ขยะพลาสติก : การจัดการและโอกาส Post COVID-19” ระบุว่า ในช่วงก่อนโควิด-19 ไทยมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 2 ล้านตัน/ปี หรือเฉลี่ยประมาณ 90 กรัม/คน/วัน (ม.ค.-ธ.ค. 2562) โดยมีขยะพลาสติกถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์คิดเป็น 0.5 ล้านตัน/ปี และได้ ถูกนำไปกำจัดโดยวิธีฝังกลบหรือเตาเผา 1.5 ล้านตัน/ปี แม้ว่าในช่วงต้นปี 2563 มีการรณรงค์ลดใช้พลาสติก

โดยมีประชาชนให้ความสนใจ พร้อมหันมาใช้ถุงผ้ากันมากขึ้น แต่หลังจากที่มีสถานการณ์โควิด-19 จนถึงการระบาดระลอกใหม่ ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 45% เฉลี่ยประมาณ 139 กรัม/คน/วัน (เม.ย.2564) และคาดว่าอาจจะมากกว่าเดิม เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต รวมไปถึงความจำเป็นในการใช้พลาสติกจากสถานการณ์โควิด-19

ด้านนายโรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทยและภาคพื้นอาเซียน กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าเราไม่สามารถมีธุรกิจที่แข็งแกร่งบนโลกที่ป่วยได้ นี่คือเหตุผลที่ยูนิลีเวอร์มุ่งมั่นทุ่มเทในหลายด้านเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนทุกมิติ โดยเฉพาะในเรื่องขยะพลาสติก ตั้งเป้าว่า ภายในปี พ.ศ. 2568 บรรจุภัณฑ์ของเราจะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ รีไซเคิลได้ หรือย่อยสลายได้ 100% นอกจากนี้ เราจะลดการใช้พลาสติกผลิตใหม่ (Virgin Plastic) ลง 50% และเราจะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและจับมือกับพันธมิตรเพื่อรับประกันว่าเราจะเรียกเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้มากกว่าที่เราจำหน่าย นั่นหมายถึงการป้องกันพลาสติกไปยังบ่อฝังกลบและรั่วไหลไปยังแหล่งน้ำ โดยการนำกลับเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ

นายโรเบิร์ต กล่าวต่อว่า ความร่วมมือกับแสนสิริถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน โครงการแยกไม่ยาก จะช่วยสร้างความเข้าใจและเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมให้ลูกบ้านในโครงการของแสนสิริคัดแยกพลาสติกจากครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซองหรือถุงเติมพลาสติกที่มีมูลค่าต่ำจากบ้าน ซึ่งทั้งหมดสามารถรวบรวมและแปรรูปให้สามารถใช้ใหม่อย่างมีความรับผิดชอบ

ขณะที่ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติก และขยะอย่างยั่งยืน (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management : (PPP Plastics)) กล่าวว่าโครงการนี้ เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของแสนสิริ ยูนิลีเวอร์ และ PPP Plastics ที่จะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง การสร้างจุดทิ้งและเชื่อมต่อ Network ตั้งแต่ผู้แยกและผู้นำไปรีไซเคิล เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยนำพลาสติกใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ตามเป้าหมายของ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561–2573 ของภาครัฐ

การดำเนินงานในครั้งนี้จะช่วยสร้างต้นแบบระบบการจัดการพลาสติกใช้แล้วที่สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green : BCG Model) ที่รัฐบาลกำหนดเป็นโมเดลเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืนและเป็นวาระแห่งชาติ BCG โดยเฉพาะในส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการลดการใช้ทรัพยากร การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการลดมลพิษขยะพลาสติกในทะเลควบคู่กันไปด้วย ในขณะที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

สำหรับ waste to WORTH : แยกไม่ยาก เป็นแคมเปญภายใต้ความร่วมมือของแสนสิริ, ยูนิลีเวอร์และ PPP Plastics และพันธมิตรอีกมากมาย เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้าใจในการแยกพลาสติกตั้งแต่ต้นทางให้เกิดประโยชน์ ชวนลูกบ้านและทุกคน ‘ล้าง-ตาก-ทิ้ง’ ขยะพลาสติกแบบย่อยสลายไม่ได้ จำพวก HDPE เช่น ขวดนมขาวขุ่น, ขวดแชมพู, ขวดน้ำยาซักผ้าและขวดน้ำยาปรับผ้านุ่ม และถุงพลาสติกต่าง ๆ

เช่น ถุงผงซักฝอก, ถุงเติมน้ำยาซักผ้า, ถุงขนมปัง และถุงหูหิ้วพลาสติกยืด ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ของใช้ที่มีมากในที่พักอาศัย เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการแปรรูปอัพไซเคิลโดย ทีพีบีไอ และเอสซีจี เคมิคอลส์ ให้สามารถหมุนเวียนและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ อาทิ ของตกแต่งบ้าน และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยเหลือด้านโควิด ชุด PPE และเตียงสนาม เป็นต้น

โดยลูกบ้านและทุกคนสามารถนำพลาสติกดังกล่าว มาแยกได้ที่จุด Drop Point บริเวณ Habito Mall ชั้น 1 และลูกบ้านแสนสิริที่เข้าร่วมในกว่า 50 โครงการสามารถนำส่งกับ Recycle Day หรือนิติฯ ในโครงการ ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2564