ธุรกิจปรับโมเดลรับโลกเสี่ยง “ไฮบริด” เทรนด์ทำงานยุคใหม่

 

“ไฮบริดเวิร์กเพลซ” เทรนด์ทำงานยุคโพสต์โควิด บริษัทแห่ปรับรูปแบบ เน้น “ยืดหยุ่น-ลดเสี่ยง” รับวิถีการทำงานใหม่ “สลิงชอท” ชี้ธุรกิจเร่งทรานส์ฟอร์มเข้มบริหารกำลังคนรับโลกเปลี่ยน “จีเอเบิล” ลดพื้นที่สำนักงาน 40% ปรับเป็น “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” กระจายจุดทำงานทั่วกรุง รับ “เทคทาเลนต์” ฟาก “ไปรษณีย์ไทย” ปรับทีมขนส่งแบ่งกลุ่มย่อยลดเสี่ยง “เอไอเอส” ชู “โมบายออฟฟิศ” เพิ่มความคล่องตัว “SCG” เปิดสูตรการทำงานแบบไฮบริด

นายอภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา กรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า หลังจากนี้ ธุรกิจที่ยังเดินหน้าต่อต้องเตรียมแผนองค์กร โดยโฟกัสไปที่การบริหารจัดการ “กำลังคน” ซึ่งเป็นกระบวนการที่ยากที่สุดในการเปลี่ยนแปลงองค์กร (tranformation) นอกจากลดคนจากการเกษียณปกติ และเกษียณก่อนกำหนด ซึ่งหลายองค์กรมักทำไม่ได้ตามเป้าแล้ว ยังเสี่ยงจากพนักงานที่ไม่ต้องการให้ออก แต่ยื่นใช้สิทธิ์จึงใช้วิธีเสริมด้วยโครงการ “จากลากันด้วยดี” ทำให้องค์กรเลือกคนทำงานได้ และเจรจาต่อรองกันเป็นรายบุคคลในเงื่อนไขที่ทั้งคู่ยอมรับ รวมถึงเกลี่ยคนไปในบริษัทในเครือ

อย่างไรก็ตาม เมื่อองค์กรต้องการลดคน ในแง่พนักงานก็ต้องปรับตัวเตรียมความพร้อมเรื่องทักษะ และความสามารถที่สอดรับกับองค์กร และการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไป เพราะองค์กรมองหาธุรกิจใหม่ที่ไม่มีความรู้มาก่อน แต่มีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น ยิ่งกว่านั้นหลายองค์กรจะลงทุนในสตาร์ตอัพ โดยไม่ได้มุ่งหวังเพียงแค่ “รายได้” แต่ต้องการความรู้มาต่อยอดในอนาคต

“ธุรกิจแปลงกายตามคอนเซ็ปต์ tranformation แตกไลน์สู่ธุรกิจใหม่ ๆ องค์กรมีขนาดเล็กลง เช่น ไทยพาณิชย์ เปิดตัว SCB-X ทำให้มีบริษัทในเครือถึง 18-19 บริษัท และยังขยายธุรกิจใหม่ได้อีกมากในอนาคต ขณะที่ภาพความเป็นทางการในการทำธุรกิจจะน้อยลง”

องค์กรแห่ปรับโหมดสู่ “ไฮบริด”

ด้านนางนัฐติยา ซอล ผู้อำนวยการฝ่ายขาย และการตลาดฝ่ายซัพลายเชน และวิศวกรรม บริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส บริษัทจัดหาพนักงานระดับบริหาร มองว่ารูปแบบการทำงานจากนี้ไป ไม่ว่าจะในต่างประเทศหรือในไทยจะมุ่งไปสู่การทำงานแบบ hybrid working เป็นวิถีปกติใหม่ในปี 2565 แบ่งได้ 3 รูปแบบ

คือ 1.remote first เน้นทำงานจากที่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นองค์กรในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และโทรคมนาคม 2.occasional office เข้าสำนักงานบางครั้งผสมกับทำงานจากที่บ้าน แบ่งสัดส่วนทำงานที่บ้าน และที่สำนักงาน 3/5 วันต่อสัปดาห์ และ 3.office first ทุกคนต้องเข้าสำนักงาน แต่ทำงานจากที่บ้านได้ทันที เมื่อการแพร่ระบาดโควิดพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง หรือมีเหตุจำเป็นอื่น ๆ

สิ่งที่องค์กรต้องเตรียม คือ 1.มีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะใช้โมเดล hybrid แบบไหน และกำหนดวันทำงานที่บ้าน และที่สำนักงานให้ชัดเจน 2.กำหนดตัวชี้วัดสำคัญในการวัดผลงาน 3.เตรียมพื้นที่ทำงานในสำนักงานให้ไม่แออัดเพื่อลดความเสี่ยง 4.เพิ่มกระบวนการทำงานที่เป็นดิจิทัล เช่น การส่งเอกสาร การเบิกจ่าย และ 5.หาวิธีการให้ฟีดแบ็กจากระยะไกลที่ชัดเจน ในช่วงที่ไม่ได้เจอกันระหว่างหัวหน้างานและลูกน้อง

นางนัฐติยากล่าวว่า บริษัทต่าง ๆ จะหาคนที่เป็น “ทาเลนต์” ง่ายขึ้น เพราะทำเลที่ตั้งสำนักงานไม่ใช่ปัจจัยหลักอีกต่อไป เพราะทำงานที่ไหนก็ได้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนภาคการผลิตแม้ไม่สามารถทำงานแบบไฮบริดได้ แต่มีการนำระบบ automation มาใช้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง

เช่น หากจำกัดเรื่องการเดินทางอีกก็ผลิตต่อได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์ และทำงานแบบไฮบริดในบางฝ่าย เช่น ทรัพยากรบุคคล และซัพพลายเชน เป็นต้น ส่วนเทรนด์ที่เห็นลดลง คือความต้องการพนักงานต่างชาติ เพื่อประหยัดต้นทุนระยะยาว และหากระบาดอีก การเคลื่อนย้ายพนักงานคนไทยสะดวกกว่า

“จีเอเบิล” ปรับใหญ่

ดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล (G-Able) ผู้ให้บริการติดตั้งระบบไอที และดิจิทัลโซลูชั่น เปิดเผยว่า บริษัทให้พนักงานทำงานจากบ้าน (WFH) 100% ตั้งแต่ พ.ค.ปีที่แล้ว และจะดำเนินการต่อไป คงไม่กลับไปทำงานในสำนักงานทั้งหมดแบบเดิมอีก ซึ่งโดยภาพรวมการทำงานจากที่บ้านมีประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 70-80% เทียบการทำงานในสำนักงาน และบางฟังก์ชั่นมีประสิทธิภาพสูงกว่าด้วย โดยในปี 2565 จะมุ่งไปสู่การเป็น hybrid workplace ซึ่งน่าจะเป็นเทรนด์ทั่วประเทศ เห็นได้จากองค์กรใหญ่ ๆ บางแห่งเริ่มยกเลิกพื้นที่สำนักงานบางแผนก

นอกจากนี้ บริษัทกำลังพิจารณาถึงการบริหารจัดการโลกการทำงานหลังโควิด-19 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้พนักงานมีความสุข โดยอาจสลับทีม และให้ทุกวันศุกร์แต่ละทีมมาสังสรรค์กันในสำนักงาน เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน และปรับลดพื้นที่สำนักงานลง 40% เพื่อบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพขึ้น นำเงินไปช่วยเหลือพนักงาน เช่น มีแล็ปทอป หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการทำงานที่บ้าน รวมถึงปรับให้มีจุดทำงานย่อย ๆ กระจายทั่วกรุงเทพฯที่ใกล้รถไฟฟ้า และปรับพื้นที่ในสำนักงานเป็น coworking space เน้นให้พนักงานใช้พื้นที่ส่วนกลางมากขึ้น

“ดร.ชัยยุทธ” กล่าวด้วยว่า โควิด-19 ผลักดันให้เกิดการแย่งตัวพนักงานสายเทคโนโลยี โดยเฉพาะเมื่อการทำงานมุ่งสู่ WFH และ hybrid บริษัทจึงสร้างโครงการเติมเต็มกำลังคน เช่น โครงการ G Beyond Limits Career เฟ้นหาผู้ร่วมงาน 4 กลุุ่มดิจิทัล คือ cloud, cyber security, big data และ RPA (rbotic process automation) เป็นต้น

“ปณท.” ปรับทีมขนส่งลดเสี่ยง

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท กล่าวถึงแนวทางการทำงานหลังโควิด-19 ว่า ในส่วนพนักงานขนส่งต้องมีการแบ่งกลุ่มย่อย หรือจัดให้พนักงานทำงานเป็นกลุ่มเล็กที่สุด เพื่อลดการรวมตัวกัน หรือจัดทีมที่ต้องเจอกันให้น้อยที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เนื่องจากหากพนักงานคนใดคนหนึ่งได้รับเชื้อ จะทำให้พนักงานที่ทำงานร่วมกันต้องกักตัวไปด้วย ส่งผลกระทบต่อการจัดส่งสินค้า ดังนั้น แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดจะเริ่มคลี่คลาย แต่ ปณท.ก็จะยังใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป

ด้านนายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของร้านค้าปลีกสินค้าไอที เจ.ไอ.บี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เริ่มให้พนักงานกลับมาทำงานที่สำนักงานแล้ว 70% แต่ยังหลีกเลี่ยงการรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ แบ่งการทำงานเป็นทีมย่อยเพื่อลดความเสี่ยง ขณะที่รูปแบบการประชุมยังเน้นออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมามีประสิทธิภาพช่วยให้บริษัทแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

“เอไอเอส” ลุย “โมบายออฟฟิศ”

สำหรับบรรดาค่ายมือถือต่างยังคงนโยบาย work from home แต่เริ่มเตรียมพร้อมกลับมาทำงานที่สำนักงานบ้างแล้ว เช่น กลุ่มทรู เริ่มให้ระดับบริหารตั้งแต่ผู้อำนวยการ (director) ซึ่งมีราว 20% เข้าออฟฟิศได้แล้ว บนเงื่อนไขว่าต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และมีผลการตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ ขณะที่รูปแบบการทำงานยังผสมผสาน

ส่วน “ดีแทค” ยังให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน ซึ่งที่ผ่านมาแบ่งเป็น 3 ลักษณะงาน คือ 1.พนักงานที่ไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ 2.พนักงานที่ทำงานจากที่บ้านได้บางช่วงเวลา และกลุ่ม 3.พนักงานที่ทำงานจากที่บ้านได้ตลอดเวลา เพื่อควบคุมดูแลความหนาแน่นของพนักงานในพื้นที่สำนักงานให้น้อยกว่า 30% เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อโควิด-19

สำหรับเอไอเอส มีการสำรวจความคิดเห็นพนักงานเกี่ยวกับรูปแบบการทำงานในอนาคต ทั้งเตรียมปรับพื้นที่ในสำนักงานใหม่ให้มีพื้นที่ทำงานร่วมกันได้ หลังให้พนักงานทำงานที่บ้านมาแล้วกว่า 6 เดือน

โดยนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า รูปแบบการทำงานหลังวิกฤตโควิดคงจะเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเน้นคอนเซ็ปต์ “โมบายออฟฟิศ” คือ มีพื้นที่ส่วนกลางให้แชร์ใช้ร่วมกัน ไม่มีโต๊ะประจำตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความยืดหยุ่น และคล่องตัวมากขึ้น หลังมีนโยบายให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้มาหลายเดือน พบว่าประสิทธิภาพในการทำงานไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด

“เรายัง WFH รอดูสถานการณ์ แต่จากการเซอร์เวย์พบว่าพนักงานอายุน้อย ๆ ส่วนใหญ่อยากกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ เพราะอยากเจอเพื่อน แต่โดยรวม ๆ แล้วเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ถ้ากลับมาทำงานได้ก็อยากให้เป็นโมบายออฟฟิศเพื่อความคล่องตัว”

สูตรไฮบริดสไตล์ “SCG”

นายบรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น จำกัด ดูแลธุรกิจ SCG HOME Retail & Distribution Business ธุรกิจซีเมนต์ และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในไตรมาส 4/2564 เอสซีจีโฮมยังมีนโยบายให้พนักงานทำงานที่ออฟฟิศ 30% อีก 70% เป็นไฮบริดเวิร์กเพลซ เน้นรักษาระยะห่างทางภายภาพ มีความยืดหยุ่น ไม่ต้องนั่งประจำที่สำนักงานแบบเดิม แบ่งเป็น 3 แนวทาง

1.WFH-work from home ทำงานที่บ้าน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลติดต่อสื่อสาร 2.WOS-work on site ปฏิบัติงานที่สำนักงาน โรงงาน หรือ coworking space ที่เตรียมไว้ กรณีผู้ที่ไม่สามารถทำงานจากบ้านได้ หรือจำเป็นต้องทำงานจากหน้างาน เช่น ผู้ปฏิบัติงานในสายการผลิต ควบคุมเครื่องจักร เป็นต้น และ 3.WFA-work from anywhere ทำงานผ่านระบบออนไลน์ในสถานที่อื่น ๆ ซึ่งปลอดภัย

ทั้งนี้ไม่อนุญาตให้ทำงานในร้านกาแฟ คอมมิวนิตี้มอลล์ ห้างสรรพสินค้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด และป้องกันข้อมูลรั่วไหล เช่น ผู้แทนขายที่จำเป็นต้องพบลูกค้านอกสถานที่

แหล่งข่าวจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทปรับระบบการทำงานจากเดิม WFH 100% เป็นไฮบริด มีการจัดเป็นทีม A ทีม B เพื่อสลับเวรในการเข้ามาทำงาน พร้อมตรวจ ATK สัปดาห์ละครั้ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย และทำงานผ่านโปรแกรมออนไลน์ระหว่างทีมงานที่เข้ามาทำงานในออฟฟิศ และพนักงานที่ WFH แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ 100% เมื่อไหร่ ต้องประเมินสถานการณ์ก่อน โดยบริษัทจะแจ้งพนักงานแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ในการเตรียมความพร้อม อัพเดตรูปแบบการทำงาน

PwC ให้เลือก WFH-ลดค่าจ้าง

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ฯ (PwC) บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี และที่ปรึกษาระดับโลก ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์สถึงเทรนด์การทำงานหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า บริษัทอนุญาตให้พนักงานฝ่ายบริการลูกค้าในอเมริกากว่า 4 หมื่นคน เลือกทำงานจากที่บ้านแบบถาวรได้ และสนับสนุนให้พนักงานฝ่ายอื่นที่ไม่ต้องพบลูกค้า อาทิ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และฝ่ายกฎหมาย มีทางเลือกในการทำงานผ่านระบบเสมือนจริง แบบเต็มเวลา

โดยพนักงานที่เลือกทำงานผ่านระบบเสมือนจริงจะเข้าทำงานที่สำนักงานสูงสุด 3 วัน/เดือน สำหรับงานที่สำคัญ อาทิ ประชุมทีม, การเข้าอบรม เป็นต้น แต่พนักงานที่เลือกทำงานระบบนี้จะได้ค่าจ้างลดลงตามปัจจัยที่ตั้งของที่อยู่อาศัย เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่า และมองว่าความยืดหยุ่นในการทำงานจะเป็นความปกติในอนาคต