ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้ปิดทองหลังพระ ภารกิจนำศาสตร์พระราชาสู่ SDGs

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล
ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

ต้องยอมรับว่ามูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริคือหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสืบสานพระราชปณิธาน, รักษาแนวพระราชดำริ และต่อยอดศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) จนทำให้นานาประเทศประจักษ์ชัดในพระปรีชาสามารถ

โดยผู้ที่ทำหน้าที่ “ผู้ปิดทองหลังพระ” ทั้งยังทำงานเบื้องหลังความสำเร็จในการทรงงานของพระองค์ตลอดเวลาผ่านมาหลายปี หาใช่ใครที่ไหนไม่ หากกลับเป็น “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริรวมอยู่ด้วย

ยิ่งเฉพาะในเรื่องการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)

ซึ่งครั้งหนึ่ง “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” เคยปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาประชาชาติธุรกิจเรื่อง “SDGs ก้าวใหม่ธุรกิจไทย จากทุนหมู่บ้าน ถึงกระดานหุ้นโลก” บอกว่า ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) อันเป็นเป้าหมายที่ลงนามตกลงร่วมกันเมื่อปี 2015 และตั้งเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จภายในปี 2030 ซึ่งการขับเคลื่อน SDGs ให้ได้ผลสัมฤทธิ์ ปัจจัยสำคัญคือฮาวทูที่ต้องมาคิดว่าหลายคนมีความเข้าใจเรื่องนี้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน และชุมชน

“ที่สำคัญ ต้องมองว่าเมื่อมีความเข้าใจแล้วจะทำอย่างไรต่อไป และจะนำไปบูรณาการอย่างไร เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญมาก ภาษาผมคือกัดไม่ปล่อย หรือการทำอย่างต่อเนื่อง และต้องพร้อมสร้างความเข้าใจอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่สร้างความเข้าใจแล้วจบ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง”

“เพราะ SDGs ถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต่อเนื่องมาจากเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals : MDGs) ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2000 ว่าจะขจัดความยากจนให้หมดไปในปี 2015 แต่ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคม ความเจริญที่กระจุกตัว การกดขี่ กีดกัน มือใครยาวสาวได้สาวเอา ยังคงเป็นปัญหาหลักทั่วทุกมุมโลก ทั้งยังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น”

“ยกตัวอย่างในประเทศไทย บัญชีเงินฝากของทุกธนาคารรวมกันแล้วมีประมาณ 80 ล้านบัญชี มีบัญชีที่มีเงินเกิน 5 แสนบาท เพียง 3% ส่วนบัญชีที่มีเงินฝากไม่ถึง 5 หมื่นบาท มีถึง 88% หรืออย่างจำนวนแพทย์ที่อยู่ใน กทม.มีอยู่กว่า 25,142 คน แต่ในขณะที่แพทย์ที่อยู่ในจังหวัดอื่น ๆ มีเพียง 25,152 คน ตรงนี้ทำให้เห็นว่า 70 กว่าจังหวัดมีแพทย์มากกว่ากรุงเทพมหานครจังหวัดเดียวแค่ 10 คนเท่านั้น”

“ความเหลื่อมล้ำนี้ทำให้คนในระดับฐานรากที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยากที่จะพัฒนาตัวเองได้ จึงทำให้นโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ได้รับความนิยม ทั้ง ๆ ที่ใช้งบประมาณสูง แต่เกิดความไม่ยั่งยืนในระยะยาว ทั้งยังสร้างภาระให้รุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย”

“ผมคิดว่าหากเปิดใจให้กว้าง ประเทศไทยมีแนวทางที่จะตอบโจทย์ SDGs และไม่ต้องไปเรียนรู้จากใคร เพราะ SDGs ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเรา ซึ่งประเทศไทยทำมานานแล้ว โดยจะเห็นได้จากการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงทำมาตลอดระยะเวลา 70 ปี ตั้งแต่ทรงครองราชย์ พระองค์เสด็จลงไปพบชาวบ้าน นั่งกับพื้นรับฟังปัญหาจากชาวบ้านจริง ๆ”

“ตรงนี้เป็น bottom up จากล่างขึ้นบน ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วโลกที่มักจะทำจากบนลงล่าง พระองค์อยากฟังว่าชาวบ้านต้องการอะไร ซึ่งเป็นการเกาถูกที่คัน ทั้งยังถือเป็นการตรวจสอบปัญหา และความต้องการของชุมชนโดยตรง เมื่อทราบปัญหาแล้ว พระองค์ทรงลงมือศึกษาและนำสิ่งที่ค้นพบกลับคืนไปสู่ประชาชนอีกครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชนจริง ๆ”

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” กล่าวต่อว่า ในความคิดของผม พระองค์มีความลึกซึ้งมากกว่าชาวตะวันตก และนั่นทำให้ SDGs มีบริบทของเศรษฐกิจพอเพียงหรือศาสตร์พระราชาอยู่ด้วย ซึ่งผมเชื่อแบบนี้ ดังนั้น โครงการพระราชดำริ หรือแนวพระราชดำริต่าง ๆ ถือว่าครอบคลุมทุกมิติของ SDGs ทั้งเรื่องสุขภาพ ความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การศึกษา น้ำ พลังงานทดแทน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ความสงบสุข ความมั่นคง ความเท่าเทียม ความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น

“ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะเข้าใจว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการพัฒนาชีวิตเกษตรกรและชนบทเท่านั้น แต่ผมกลับมองว่าแนวคิดนี้เป็นระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ที่มี care & share เป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะเป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบ inclusive จากรากฐานที่มั่นคง คำนึงถึงผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม จริยธรรม และทุกคนได้รับประโยชน์ อันเป็นสิ่งที่เป้าหมายที่ SDGs ต้องการ ผมเชื่อว่าศาสตร์พระราชาเป็นศาสตร์แห่งการแก้ไขปัญหา และพัฒนาชีวิตคนอย่างยั่งยืน และหากนำไปปฏิบัติได้จริงจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs อย่างแน่นอน”

“เพราะโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้นมาเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากรัชกาลที่ 9 แล้วนำไปปรับใช้ใน SDGs แม้ว่าก่อนหน้านั้นสหประชาชาติอาจจะทำเรื่องนี้มาก่อนแล้วก็ตาม ซึ่งผมเชื่อว่าเขามาเรียนรู้เพิ่มเติม โดยเฉพาะเศรษฐกิจพอเพียง เพราะรัชกาลที่ 9 ทรงงานด้านความมั่นคง และความยั่งยืนมาตลอด 70 ปี”

นอกจากนั้น ในปี 2563 “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” ยังกล่าวบนเวทีสัมมนาในหัวข้อ “ไม่ท้อ ไม่ถอย พระราชดำริค้ำจุนสังคม” บอกว่า ในเวลาสั้น ๆ เพียง 2 ปี ประเทศของเราถูกกระทบจากสงครามการค้า จากภัยแล้ง น้ำท่วม และจากโควิด-19 ซึ่งยังหาจุดลงตัวไม่เจอ สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนที่ด้อยโอกาสอยู่แล้ว ยิ่งลำบากกว่าเดิม คนไทยทุกคนได้รับผลกระทบอย่างไม่เคยมีมาก่อน

“จากรายงานเบื้องต้นของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำระบุว่า ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าดูคือการที่เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนแรงงานคน และผลจากโควิด-19 กับเทคโนโลยีที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว จะกระทบแรงงานไทยไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคน ถ้าไม่สามารถจะรับมือตามได้ทันท่วงที”

“ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงคาดได้ว่าจะส่งผลรุนแรงและยาวนาน เมื่อเราไปในชนบท สิ่งที่เรามักจะพบสม่ำเสมอคือประชาชนลำบาก ยากแค้น รอความช่วยเหลือ พวกเขาขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง จึงละทิ้งชนบทเข้ามาหางานทำในเมือง แต่ในขณะนี้โอกาสของการทำงานในเมืองก็กำลังลดลง”

“สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้พวกเราเห็นชัดว่าเราจะต้องทำงานให้หนัก เพื่อให้ประเทศไทยของเราผ่านโควิด-19 และ technology disruption ไปให้ได้ เพื่อให้ประเทศไทยดีกว่าเดิม ไม่ใช่แค่กลับไปเหมือนเดิม ดังนั้นในที่นี้ผมจึงอยากเตือนความจำชาวไทยทุกคน เพราะครั้งหนึ่งมีผู้ทูลถามพระองค์ว่า ทำไมต้องทรงงานอย่างหนัก พระองค์จึงมีรับสั่งว่า ที่ต้องทำอย่างนี้ เพราะประชาชนยังยากจนอยู่ เมื่อเขายากจน เขาก็ขาดอิสรภาพ เสรีภาพ เมื่อเขาไม่มีอิสรภาพ เสรีภาพ เขาจะเป็นประชาธิปไตยไปไม่ได้”

ทั้งหมดนี้คือภาพจำ และถ้อยคำของ “ผู้ปิดทองหลังพระ” ผู้ซึ่งยืนอยู่เบื้องหลังการทำงานสนองพระราชดำริตั้งแต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนกระทั่งถึงพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ระเรื่อยมาจนถึงพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10

ฉะนั้นจึงไม่แปลกเลยที่ตลอดชีวิตผ่านมาของ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” จึงมีความสุขใจยิ่งนักที่ได้ถ่ายทอดพระราชปณิธาน, รักษาแนวพระราชดำริ และต่อยอดศาสตร์พระราชาให้กับทุก ๆ คนฟังตามเวทีต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศจนจวบวาระสุดท้ายของชีวิต