รมว.แรงงาน วอนผู้ประกอบการไม่ขึ้นราคาสินค้า ช่วยแบ่งเบาภาระประชาชน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

รมว.แรงงาน วอนผู้ประกอบการอย่าขึ้นราคาสินค้า กระทรวงแรงงานลดส่งเงินสมทบให้ ช่วยลดต้นทุนนายจ้าง เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนกว่าแสนล้านบาท

วันที่ 25 เมษายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งโรคระบาดและภัยสงคราม ซึ่งรัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวต่อพี่น้องประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงาน อย่างต่อเนื่อง

กระทรวงแรงงานจึงได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือเยียวยาและลดผลกระทบ โดยได้ดำเนินการลดรายจ่ายของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้นและลดต้นทุนการผลิตแก่นายจ้าง ทั้งในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนทุกมาตรา
(มาตรา 33, 39 และ 40) เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 โดยพี่น้องประชาชนจะได้รับการช่วยเหลือจากกระทรวงแรงงานประมาณ 24.2 ล้านคน เป็นเม็ดเงินประมาณ 34,540 ล้านบาท เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 100,000 ล้านบาท

นายสุชาติอธิบายต่อว่า มาตรการลดเงินสมทบในครั้งนี้ทำให้มีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน ได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 ยกตัวอย่างหากคิดบนฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสมทบ 750 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 150 บาท ทำให้สามารถลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 600 บาทต่อคนต่อเดือน

ขณะที่ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 คือจากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท จะลดลงเหลือส่งเงินสมทบ 91 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 341 บาทต่อคนต่อเดือน

และผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.6 ล้านคน จะได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลงร้อยละ 40 คือ ทางเลือกที่ 1 ลดการส่งเงินสมทบจากเดิม 70 บาท ลดลงเหลือ 42 บาท ทางเลือกที่ 2 ลดการส่งเงินทบจากเดิม 100 บาท ลดลงเหลือ 60 บาท ทางเลือกที่ 3 ลดการส่งเงินสมทบจากเดิม 300 บาท ลดลงเหลือ 180 บาท หรือลดภาระค่าครองชีพไปได้ประมาณ 84-360 บาทต่อคนต่อเดือน

ส่วนนายจ้าง จำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตของนายจ้างลงด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากนายจ้างจ่ายค่าจ้างบนฐานเงินเดือน 15,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน หากนายจ้างมีลูกจ้าง 1,000 คน จะสามารถลดต้นทุนการผลิตของนายจ้างต่อเดือนลง 600,000 บาท รวมระยะเวลา 3 เดือน เป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท

“ผมจึงวิงวอนและขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อย่าเพิ่งขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแก่พี่น้องประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนแก่นายจ้างจากวิกฤตซ้อนวิกฤตเช่นนี้ เพื่อให้เราทุกคนก้าวข้ามสถานการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายสุชาติกล่าว