หัวเว่ยจัด “รถดิจิทัล” เสริมสกิลดิจิทัลคนไทย พื้นที่ห่างไกล 10 จังหวัด

หัวเว่ยนำร่องโครงการ “รถดิจิทัลเพื่อสังคม” เร่งสร้างความเท่าเทียมด้านทักษะดิจิทัลในพื้นที่ห่างไกล ตั้งเป้าเดินหน้าฝึกอบรมอีก 10 จังหวัด ครอบคลุมชุมชนในพื้นที่ห่างไกลกว่า 40 แห่ง

วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด นำร่องโครงการ “รถดิจิทัลเพื่อสังคม” เร่งสร้างความเท่าเทียมด้านทักษะดิจิทัล ยกระดับการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล โดยเริ่มต้นโครงการที่โรงเรียนสิงหพาหุ (ประสานมิตรอุปถัมภ์) จังหวัดสิงห์บุรี เป็นที่แรก

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกับสถานศึกษาในประเทศไทย เพื่อมุ่งเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้แก่เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง มีจุดประสงค์เพื่อตอบรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และมุ่งพัฒนาประเทศไทยให้เป็นดิจิทัลฮับแห่งอาเซียนได้อย่างยั่งยืน

นายเอดิสัน สวี่ คณะกรรมการบริหารบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า หัวเว่ย ประเทศไทย เล็งเห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในการผลักดันนโยบายเพื่อพัฒนาไอซีทีและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากนโยบายประเทศไทย 4.0 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G IOT และคลาวด์

ซึ่งจะผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ถึง 30% ภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ในไทยเพื่อติดตั้งสถานีฐาน 5G ไปแล้วกว่า 20,000 แห่ง ร่วมผลักดันให้มีจำนวนผู้ใช้งาน 5G ในประเทศถึง 4.2 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนถึง 2.6 เท่า

ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยต้องการกำลังคนในสายงานดิจิทัลเป็นจำนวนมาก แต่คนที่มีทักษะในอุตสาหกรรมนี้ยังน้อย ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านทักษะดิจิทัล และการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งนี้หัวเว่ยเชื่อว่าทักษะด้านดิจิทัลจะไม่ได้เป็นเพียงแค่รากฐานสำคัญสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลแต่ยังเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันในยุคดิจิทัล โดยจะเป็นการเปิดโอกาสทางอาชีพการงานใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนและเยาวชนไทยได้อีกด้วย

ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นผู้ผลักดันด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและเป็นผู้ส่งเสริมด้านคุณค่าทางสังคมมาอย่างต่อเนื่อง หัวเว่ยได้ดำเนินการฝึกอบรมเพื่อให้เยาวชนและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการ Huawei ASEAN Academy โครงการ ICT Academy โครงการ Seeds for Future เป็นต้น

โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน หัวเว่ยได้มีส่วนช่วยเสริมสร้างบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศไปแล้วกว่า 40,000 คน ซึ่งโครงการรถดิจิทัลนี้จะช่วยตอบโจทย์ด้านการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีไอซีทีเข้าไปสู่พื้นที่ห่างไกลของประเทศ

“เราหวังว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตด้านดิจิทัลและเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ประชาชนและเยาวชนในพื้นที่ได้ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านทักษะดิจิทัลให้กับประเทศไทย ในการนำรถดิจิทัลมาเพื่อให้ความรู้กับนักเรียนและประชาชนทั่วไป

ซึ่งเป็นช่องทางในการเข้าถึงฐานความรู้พื้นฐานและทักษะด้านไอซีที ทั้งนี้หลักสูตรการเรียนการสอนถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญของหัวเว่ย เพื่อให้หลักสูตรฝึกอบรมสามารถเข้าถึงได้ง่าย และมีองค์ความรู้ที่นำไปใช้งานได้จริง

นอกจากความรู้พื้นฐานของอุตสาหกรรมไอซีทีและหลักสูตรภาคปฏิบัติเพื่อช่วยเสริมความรู้ความเข้าใจในการใช้งานมากยิ่งขึ้นแล้ว หลักสูตรของหัวเว่ยยังได้เน้นย้ำหลักสูตรด้านภัยร้ายจากอินเทอร์เน็ต เสริมสร้างความตระหนักรู้ในการใช้งานอย่างถูกวิธี

ทั้งนี้ในก้าวแรก หัวเว่ยวางแผนจะนำรถดิจิทัลไปฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลในอีก 10 จังหวัดของไทย ซึ่งจะครอบคลุมชุมชนในพื้นที่ห่างไกลกว่า 40 แห่ง โดยเยาวชนและประชาชนในพื้นที่อีกกว่า 1,500 คน จะได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ซึ่งเราจะทำงานร่วมกับภาครัฐและสถานศึกษาต่าง ๆ ในไทยอย่างต่อเนื่อง”

ด้านนายชัยวุฒิ​ ธนาคมานุสรณ์​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม​ (MDES) กล่าวว่า รัฐบาลยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลฮับแห่งภูมิภาคอาเซียน ซึ่งบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลและองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีไอซีทีก็ถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริงขึ้นมาได้

และผมเชื่อว่า การพัฒนาเยาวชนจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ภายใต้กลยุทธ์ที่แข็งแกร่งในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีให้แก่ประเทศไทยของภาครัฐ และการมีส่วนช่วยผลักดันจากภาคเอกชน ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งในระหว่างการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะประสานความร่วมมือกับหัวเว่ยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อการใช้นวัตกรรมดิจิทัลผลักดันภาคการศึกษาและทักษะบุคลากรของประเทศไทยให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด