มอริส ลาครัวซ์ ลุยภูเก็ต เก็บขยะสร้างความยั่งยืนทะเลไทย

มอริส ลาครัวซ์ แบรนด์นาฬิกาหรูเก็บขยะภูเก็ต

หลังจากที่ “มอริส ลาครัวซ์” (Maurice Lacroix) แบรนด์นาฬิกาหรูจากสวิตเซอร์แลนด์เปิดตัวคอลเล็กชั่นไอคอน #ไทด์ (AIKON #tide) เมื่อไม่นานผ่านมา ซึ่งเป็นคอลเล็กชั่นพิเศษที่มาจากวัสดุอัพไซเคิลจากพลาสติก โดยทำงานร่วมกับองค์กร #tide ซึ่งเป็นองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทั้งยังเป็นผู้นำในการนำขยะพลาสติกจากมหาสมุทรทั่วโลกมาอัพไซคลิ่งเป็นวัสดุใหม่ที่มีมูลค่าสำหรับออกแบบผลิตภัณฑ์ จนได้รับกระแสตอบรับจากกลุ่มคนรักนาฬิกาอย่างล้นหลาม

โดยล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมผ่านมา “มอริส ลาครัวซ์” จัดกิจกรรมพิเศษ “Maurice Lacroix #tide Event in Phuket 2022” นำทีมโดยผู้บริหารระดับสูงจากสวิตเซอร์แลนด์ อาทิ สเตฟาน วาเซอร์ กรรมการผู้จัดการ มอริส ลาครัวซ์, มาแซล กู้ด ผู้อำนวยการฝ่ายขาย มอริส ลาครัวซ์ ระดับโกลบอล, ทีโบว์ เบ้นซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ และการตลาดระดับสากล,

ฮิวโก้ ดาซิลวา ผู้จัดการด้านสปอนเซอร์และอีเวนต์ แบรนด์ มอริส ลาครัวซ์, รวิศ เหตานุรักษ์ ผู้จัดการแบรนด์ มอริสลาครัวซ์ ประเทศไทย และ โทมัส สกอรี่ ผู้ก่อตั้งองค์กร #tide และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม จ.ระนอง พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชนจากทั่วภูมิภาคเอเชีย และลูกค้าพิเศษมาร่วมทำกิจกรรมอนุรักษ์ท้องทะเล เก็บขยะพลาสติกณ บริเวณหาดลายัน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

สำหรับเป้าหมายของกิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจเพื่อสังคมของแบรนด์ที่ต้องการสร้างความตระหนักรู้แก่กลุ่มลูกค้า และคนทั่วไปถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งท้องทะเล เพราะประเทศไทยถือเป็นประเทศลำดับต้น ๆ ของโลกที่มักจะติดท็อป 10 ที่มีปริมาณขยะในท้องทะเลสูง

โทมัส สกอรี่-สเตฟาน วาเซอร์

“สเตฟาน วาเซอร์” กรรมการผู้จัดการมอริส ลาครัวซ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามอริส ลาครัวซ์ พยายามสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เพื่อหวังขยายฐานกลุ่มลูกค้า ผ่านการเพิ่มความทันสมัยให้กับนาฬิกาแต่ละรุ่น และการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัยที่คนเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น

และผลลัพธ์จากความพยายามทำให้มอริส ลาครัวซ์ได้รับการตอบรับที่ดีในปี 2021 เพราะสามารถทำยอดขายในประเทศไทยเกินจากเป้าหมายที่วางไว้ถึง 20% จึงทำให้เราต้องวางแผนขยายฐานกลุ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

“หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงออกคอลเล็กชั่นไอคอน เราพบกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือมิลเลนเนียลมากขึ้น โดยพบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ให้ความสนใจกับประเด็นเรื่องธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก รวมถึงการเคารพกฎกติกาสังคม สนับสนุนเรื่องความเท่าเทียม

และอีกหลายเรื่องซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ดี เราจึงเกิดไอเดียว่าควรจะตอบสนองความต้องการกลุ่มลูกค้าให้มากที่สุด ซึ่งไม่ใช่แค่ทำกิจกรรมซีเอสอาร์เพื่อสังคม แต่ต้องมองและทำให้ลึกไปจนถึงตัวคอร์โปรดักต์ของเราด้วย”

เพราะอย่าลืมว่าเทรนด์ผู้บริโภคขณะนี้ เขาไม่ดูแค่โปรดักต์สินค้าอย่างเดียว แต่จะดูไปถึงแพ็กเกจจิ้ง ดูจนถึงเบื้องหลังกระบวนการผลิต ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นแบรนด์แฟชั่นหันมาทำกลยุทธ์ใหม่ ๆ ใส่ใจประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์นาฬิกา

ถือเป็นมิติใหม่ จึงเป็นเหตุผลที่เราร่วมกับองค์กร #tide ผู้เชี่ยวชาญแห่งสวิตเซอร์แลนด์ในการนำขยะพลาสติกจากมหาสมุทรมาเปลี่ยนเป็นวัสดุมีค่า ซึ่งองค์กรเขาเพิ่งได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติแห่งสวิส เอธิคส์ อวอร์ด 2022 (Swiss Ethics Award 2022) มาก่อนด้วย

“สเตฟาน วาเซอร์” กล่าวต่อว่า หลักการของ #tide จะช่วยนำพลาสติกที่เก็บได้จากมหาสมุทรมาเปลี่ยนเป็นวัสดุทำเรือนนาฬิกา เมื่อได้ขยะขวดพลาสติกที่เก็บรวบรวมจากท้องทะเลมาแล้ว ขยะเหล่านี้จะถูกคัดแยก และตัดฝอยเป็นเศษเล็ก ๆ จากนั้นจึงล้างและกดอัด

ภายในบริเวณพื้นที่ใกล้กับจุดที่เก็บรวบรวม ก่อนจะขนส่งไปยังโรงงานอัพไซเคิลของ #tide ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเมื่อถึงที่ #tide พลาสติกชิ้นเล็ก ๆ นี้จะถูกผสม และผลิตเป็นเม็ดพลาสติกที่เล็กลง จากนั้นจึงผสานเข้ากันด้วยสูตรลับเฉพาะ กระทั่งมาเป็นพลาสติกอัพไซเคิล

ในท้ายที่สุดวัสดุนี้จะถูกนำไปใช้สำหรับผลิต และสร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบที่มีสีสันสดใส และสวยงาม เพราะนาฬิกา 1 เรือน จะใช้ขยะขวดพลาสติกถึง 17 ขวด นอกจากนั้น ยังใช้ทำเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน โดยพลาสติกที่ใช้อาจเริ่มจากตัวเรือนก่อน ส่วนสายนาฬิกายังคงใช้วัสดุหลักของแบรนด์ ที่ไม่ใช่พลาสติก ซึ่งเราออกแบบให้มีความดูดี

ที่สำคัญ ยังออกแบบให้กันน้ำได้ ทั้งยังมีบริการซ่อมแซมสำหรับลูกค้า ไม่ใช่เสียแล้วทิ้งเลย เพราะเราอยากให้ใช้งานได้นานหลายปีคืออย่างน้อย 5 ปี ส่วนคู่มือการใช้งานก็ไม่ได้ใช้กระดาษ แต่จะมีคิวอาร์โค้ดอยู่ในกล่องบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ลูกค้าสแกน ตรงนี้นับเป็นการช่วยโลกอีกทางหนึ่งด้วย

“โทมัส สกอรี่” ผู้ก่อตั้งองค์กร #tide กล่าวเสริมว่า #tide เป็นองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภารกิจหลักคือการนำขยะพลาสติกมาอัพไซเคิล เพื่อเปลี่ยนให้เป็นวัตถุดิบพรีเมี่ยมในการส่งต่อให้กับแบรนด์ต่าง ๆ นำไปใช้ออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น นาฬิกา นอกจากนั้น พลาสติกที่ได้หลังจากผ่านกระบวนอัพไซเคิลแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกเช่น ไปสร้างเรือ สร้างอาคารเรียน ฯลฯ

สำหรับประเทศไทยมีการร่วมงานกับวิสาหกิจชุมชนเรือหางยาวท้องถิ่นช่วยหาขยะ กลุ่มคนเหล่านี้จะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคัดแยกขยะพลาสติกเป็นอย่างดีว่าพลาสติกประเภทใดสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ประเภทใดนำไปเป็นวัตถุดิบก่อสร้างได้

ตรงนี้ถือว่าเป็นต้นน้ำของการบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างดี ซึ่งองค์กรของเรามีเครือข่ายหลายประเทศ ทั้งฟิลิปปินส์, มาเลเซีย ล่าสุดกำลังจะไปเปิดตัวที่เม็กซิโก ซึ่งเราก็จะนำตัวอย่างการทำงานของประเทศไทยไปใช้ที่เม็กซิโกด้วย

“ส่วนการร่วมงานกับมอริส ลาครัวซ์ ผมมองว่ามีความท้าทายมาก เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่มีมาตรฐานสูง การจะใช้วัสดุที่มาจากพลาสติก ต้องทำให้มีคุณภาพ ไม่ลดลงจากมาตรฐานเดิม ๆ ซึ่งเราได้ผ่านกระบวนการคิดร่วมกันมายาวนานมาก มีการทดลองแล้วทดลองอีกว่าวัสดุจะทำออกมาเป็นนาฬิกาได้จริงหรือไม่ จนที่สุดก็ออกเป็นคอลเล็กชั่นนี้สำเร็จ”

เพราะเป้าหมายของเราคือการเก็บขยะพลาสติก 10 ล้านขวด โดย 20% จากการขายจะมอบให้กับองค์กร #tide เพื่อนำไปปฏิบัติภารกิจต่อ และนอกจากนี้ มอริส ลาครัวซ์ ยังมอบทุนสำหรับเรือหางยาวของท้องถิ่นซึ่งเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกับ #tide ในการเก็บรวบรวมขยะพลาสติก และจ่ายเงินเดือนให้กับผู้เก็บรวบรวมขยะ

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนทุนอุปกรณ์ต่าง ๆ อาทิ เครื่องกดอัด และรถยก ที่จะใช้ในโกดังบนเกาะช้าง ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมขยะภายใต้ความร่วมมือของวิสาหกิจชุมชนรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม จ.ระนองอีกด้วย

นับเป็นการแปรรูปขยะพลาสติกจากทะเลให้กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจและโลกไปพร้อม ๆ กัน