ผู้ชนะโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล

Young OTOP

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ประกาศรางวัลผู้ชนะโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล ณ ไอคอนคราฟต์ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม

วันที่ 13 ธันวาคม 2565 กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดกิจกรรมประกวดในโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล เพื่อรับรางวัล ต้นกล้านารีรัตน รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ ไอคอนคราฟต์ ชั้น 4 ไอคอนสยาม เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เป็นการส่งเสริมการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ต่อยอดพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์เป็นสินค้า OTOP

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทผู้ประกอบการ OTOP หรือเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น มาตั้งแต่ปี 2560 รวม 483 ราย

โดยได้จัดทำโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล เพื่อพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ ให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของตลาด เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีอัตลักษณ์เฉพาะ สร้างสรรค์ และทันสมัย สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล และเพิ่มช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ Young OTOP มุ่งส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาผ้าถิ่นไทย มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า

การจัดกิจกรรมประกวดในโครงการพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาผลิตภัณฑ์ Young OTOP สู่สากล เพื่อรับรางวัล ต้นกล้านารีรัตน รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 4 ด้านหลักคือ อนุรักษ์ภูมิปัญญา ปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่า แก่นสาระ และความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ

Advertisment

พร้อมสร้างจิตสำนึกของความเป็นคนท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งจะสร้างความรู้และความภูมิใจในชุมชนท้องถิ่น พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนำไปสู่การคิดค้นพบสิ่งแปลกใหม่ ด้วยการดัดแปลง ปรุงแต่ง ผสมผสานกันให้เกิดสิ่งใหม่

รวมทั้งการประดิษฐ์คิดค้นทฤษฎีหลักการได้สำเร็จ ทำให้เกิดผลผลิตที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยการยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นให้เป็นที่นิยมในยุคสมัยเข้ากับทุกเพศทุกวัย ทุกโอกาส และสร้างรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน

นำไปสู่ผลงานอันทรงคุณค่าสู่สากล สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคุณค่าของผ้าไทย ใส่เอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น แสดงถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของไทยสู่สายตาของชาวโลกให้เห็นถึงความงดงาม ความประณีต และยังสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยได้

“การประกวดในครั้งนี้ นอกจากเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้เยาวชน YOUNG OTOP ของกรมการพัฒนาชุมชน ที่สำคัญเพื่อพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่ของชาว OTOP ให้พัฒนาฝีมือการทอผ้า การตัดเย็บ เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และเทคนิคการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้เข้ากับยุคสมัย รวมถึงนำไปสู่การสร้างอาชีพ รายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง และชุมชนพึ่งตนเองได้” นายสุทธิพงษ์กล่าว

Advertisment

Young OTOP

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมประกวด

สำหรับคุณสมบัติของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผลิตภัณฑ์ที่สมัครเข้ารับการประกวดในครั้งนี้ จะต้องเป็นเยาวชน OTOP (Young OTOP) หรือทายาทผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผลิตภัณฑ์ผ้าและเครื่องแต่งกาย อายุระหว่าง 15-30 ปี โดยการประกวดใช้หลักเกณฑ์เฉพาะแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ (Specific Criteria) พิจารณาใน 6 ด้าน ได้แก่

  1. ผลิตภัณฑ์มีความเป็นอัตลักษณ์ หรือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
  2. ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นที่ผลิต หรือเป็นฝีมือของคนในพื้นถิ่น
  3. ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ มีความประณีต พิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต
  4. ความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย
  5. มีช่องทางการตลาดออนไลน์อย่างน้อย 3 ช่องทาง
  6. เข้าร่วมกิจกรรมครบทุกครั้ง

รางวัลที่ได้รับ

โดยผู้ชนะการประกวดจะได้รับรางวัลต้นกล้านารีรัตน รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผู้ชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน รางวัลที่ 2 ได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน และรางวัลที่ 3 เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน และรางวัลชมเชย 2 รางวัล รางวัลละ 5,000 บาท พร้อมโล่พระราชทาน

รายชื่อผู้ได้รับรางวัล

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ น.ส.กนกนิภา รัตนศิลา กลุ่มผ้าซิ่นเมืองน่านโบราณ by คำไทด์
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ น.ส.อารียา บุญช่วยแล้ว กลุ่ม INTHAI
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ น.ส.ศิริมา สงพิมพ์ กลุ่มวนิดาไหมไทย
  • รางวัลชมเชย ได้แก่ น.ส.ภูริษา ชัยรัตน์ กลุ่มภูริษาผ้าไทย และนายวัชรพล คำพรหมมา กลุ่มครามพล (KRAMPHON)

Young OTOP

Young OTOP Young OTOP Young OTOP