พระราชินีสุทิดา เคียงคู่จอมราชัน

Photo by REUTERS/Henry Nicholls

เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ในวันที่ 3 มิถุนายน พุทธศักราช 2566 “ประชาชาติธุรกิจ” ร่วมน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2521 และทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อปี พ.ศ. 2543

ทรงเป็นทหารบกหญิง และทรงดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (อัตราพลเอกพิเศษ) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นราชองครักษ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์

ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินี ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ตลอดเวลาที่ผ่านมา พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการ โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ตลอดจนพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ

ส่งเสริมผ้าไทย งานหัตถกรรมไทย สู่สายตาชาวโลก

ด้วยการตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะสืบสานพระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมตลอดจนเผยแพร่เอกลักษณ์และความงดงามของผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทยสู่สายตาชาวโลก

ทรงเป็นแบบอย่างในการฉลองพระองค์ด้วยชุดผ้าไทยร่วมงานพระราชพิธีต่าง ๆ มาโดยตลอด ทรงเลือกใช้ผ้าในการตัดชุดไทยราชนิยมได้ถูกต้องตามดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ว่าด้วยโอกาสการทรงชุดไทยตามช่วงเวลา ในพิธีการได้อย่างเหมาะสมและงดงาม และยังทรงเลือกใช้กระเป๋าผ้าไทยในลายเดียวกันกับฉลองพระองค์ด้วย

ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหราชอาณาจักรของ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา แห่งสหราชอาณาจักร ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ระหว่างวันที่ 4-7 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ตลอดระยะเวลา 2 วันที่เข้าร่วมในพระราชพิธี สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทรงเลือกฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บจากผ้าไทยทั้งสิ้น คือ “ชุดไทยบรมพิมาน” ซึ่งตั้งชื่อตาม “พระที่นั่งบรมพิมาน” ในพระบรมมหาราชวัง มีลักษณะเป็นเสื้อแขนยาว คอกลมมีขอบตั้ง ตัวเสื้อและซิ่นติดกันเป็นชุดเดียว ตัดเย็บด้วยผ้าไหมที่มีทองแกม หรือยกทองทั้งตัว นุ่งจีบแล้วใช้เข็มขัดไทยคาด นิยมใช้ในงานพระราชพิธีและงานพิธีกลางคืน

Photo by REUTERS/Henry Nicholls

โดยวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ทรงฉลองพระองค์ “ชุดไทยบรมพิมานสีฟ้าอ่อน ผ้าไหมยกดอกลำพูน ลายพิกุลถมเกสร” ทรงร่วมงานพระราชทานเลี้ยงรับรอง พระมหากษัตริย์ พระประมุข ประมุข สมาชิกพระราชวงศ์ และผู้แทนของประเทศต่าง ๆ ณ พระราชวังบักกิงแฮม

ฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมานสีฟ้าอ่อน ตัดเย็บขึ้นจากผ้าไหมยกดอกลำพูน ลายพิกุลถมเกสร ทอด้วยวิธีการยกลวดลายให้สูงกว่าผืนผ้า เป็นผ้าที่ทอมืออย่างประณีตและงดงามที่สุดชนิดหนึ่งของภาคเหนือ ซึ่งลายดอกพิกุลเป็นหนึ่งในลวดลายที่ได้รับความนิยมและเป็นเอกลักษณ์มากที่สุด เพราะใช้กันมาตั้งแต่อดีต

ลวดลายส่วนใหญ่ของผ้าไหมยกดอกลำพูนจะมาจากธรรมชาติ แต่ปัจจุบันได้รับการออกแบบให้หลากหลายและร่วมสมัยมากขึ้น โดยจะแตกต่างกันที่ขนาดของดอกพิกุล สีสันของเส้นไหม ดิ้นเงิน และดิ้นทอง เช่น ลายพิกุลเครือ พิกุลมีขอบ พิกุลก้านแย่ง พิกุลเชิงใหญ่ พิกุลเล็ก พิกุลใหญ่ พิกุลสมเด็จ พิกุลกลม และพิกุลถมเกสรที่ทรงฉลองพระองค์ด้วยเช่นกัน

นอกจากฉลองพระองค์แล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ยังทรงเข็มกลัดพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, เครื่องขัตติยราชวราภรณ์ พระสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์, พระปั้นเหน่งดวงตรามหาจักรีประดับเพชร, พระกุณฑลจักรี และสร้อยพระศอเพชร ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ต่อมาวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระจริยวัตรอันงดงามและโดดเด่นท่ามกลางเหล่าพระราชวงศ์และผู้แทนจากนานาประเทศ

สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี ทรงเลือกฉลองพระองค์ “ชุดไทยบรมพิมาน พระภูษาผ้ายกลำพูนสังเวียน ประเภทผ้ายกใหญ่ ลายดอกพิกุลหลวง” ทรงสายสะพายเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์, ทรงพระสังวาลนพรัตน์ ดารานพรัตน์, ทรงพระปั้นเหน่งนพรัตน์, ทรงเข็มกลัดดวงตรามหาจักรีประดับเพชร, ทรงทองพระกรเพชร และทรงสร้อยพระศอและพระกุณฑลไพลินประดับเพชร อันโด่งดัง ซึ่งเป็นพระราชนิยมในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงถือ “กระเป๋าจักสานย่านลิเภา” ซึ่งเป็นงานหัตถศิลป์ฝีมือคนไทยจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง