สัมผัสผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าส่งตรงจากชุมชน ในงาน SX 2023 ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์

ฐาปน สิริวัฒนภักดี
ฐาปน สิริวัฒนภักดี

สัมผัสผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือส่งตรงจากชุมชน ในงาน “ผ้าขาวม้าวิถีไทย ทอใจอย่างยั่งยืน” โครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ปีที่ 7” ภายใต้แนวคิด “Nature’s Diversity” เกาะติดเทรนด์แฟชั่น สวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ในงาน “Sustainability Expo 2023” ถึง 8 ตุลาคมนี้ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด ผสานความร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เครือข่ายบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม ทั่วประเทศ ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน จัดงาน “ผ้าขาวม้าวิถีไทย ทอใจอย่างยั่งยืน” จากโครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ปีที่ 7”

โดยในปี 2566 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Nature’s Diversity” ภายในงาน “Sustainability Expo 2023” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 29 กันยายน-8 ตุลาคม 2566

เพื่อสื่อให้เห็นว่าผ้าขาวม้าสามารถใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย และเป็นการนำเสนอความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขาวม้าทอมือของชุมชนให้มีพื้นที่จัดแสดงโชว์ผลงาน แลกเปลี่ยนแนวความคิด และสร้างเครือข่ายการดำเนินงานร่วมกันของชุมชน

ปีที่ 7 ต่อยอดหัตถกรรมพื้นบ้านสู่ความยั่งยืน

จากจุดเริ่มต้นของโครงการในปี 2559 โดยบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยมี “นายฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และประธานคณะกรรมการ โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักเพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าขาวม้าทอมือ และช่วยเพิ่มรายได้ตลอดจนพัฒนาทักษะอาชีพให้กับชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทั่วประเทศ

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และประธานคณะกรรมการโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย กล่าวว่า งานผ้าขาวม้าวิถีไทย ทอใจอย่างยั่งยืน ครั้งนี้นับเป็นการจัดงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 แล้ว

ในปีนี้มีความพิเศษกว่าปีก่อน ๆ โดยกิจกรรมของเราได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงาน “Sustainability Expo 2023” (SX 2023) ซึ่งเป็นมหกรรมด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก”

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของโครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย และผ้าขาวม้าวิถีไทย ทอใจอย่างยั่งยืน คือการสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของผ้าขาวม้าในเชิงศิลปวัฒนธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เฟ้นหาอัตลักษณ์ของผ้าขาวม้าจากชุมชนต่าง ๆ และเสริมสร้างผ้าขาวม้าทอมือให้มีความโดดเด่น พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผ้าขาวม้าให้มีความหลากหลายและตรงต่อความต้องการของตลาด

เพื่อสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ที่มีคุณค่าจากฝีมือของมนุษย์ อาทิ การนำเส้นใยและสีธรรมชาติมาใช้กับการย้อมผ้าขาวม้า

นอกจากนี้ยังเป็นการรวมพลังคนรุ่นใหม่ของ “Creative Young Designer” ในการสร้างสรรค์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือกับกลุ่มนักศึกษา เพื่อร่วมกันออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า ของใช้ ของที่ระลึก ของชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าทอมือให้มีความทันสมัยแล้ว

พร้อมทั้งพัฒนาด้านการตลาด ช่องทางการจัดจำหน่าย และเพิ่มศักยภาพการผลิต รวมทั้งต่อยอดทางธุรกิจให้แก่ชุมชนผ้าขาวม้า ซึ่งชุมชนจะได้รับผลิตภัณฑ์ต้นแบบนำไปต่อยอดด้านการตลาด ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจในชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้

คนรุ่นใหม่เชื่อมโยงชุมชน ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น

นายฐาปนกล่าวอีกว่า รู้สึกยินดีและตื่นเต้นที่ได้เห็นนิสิตนักศึกษาซึ่งได้สร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการที่ทอผ้าขาวม้าในระดับชุมชน ได้ช่วยกันค้นคิดให้เกิดความแตกต่าง แต่ยังคงอัตลักษณ์ผ้าขาวม้าของแต่ละท้องถิ่นไว้

นิสิตนักศึกษาหลายคนอาจเคยเห็นถึงอัตลักษณ์ ความเป็นมา และคุ้นเคยกับภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาตั้งแต่เด็ก แต่อาจจะไม่ได้รับความสนใจ ไม่ได้มีโอกาสนำมาประยุกต์หรือพัฒนาให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายที่มีความแตกต่างกันไป

“ผ้าขาวม้าทอใจ จึงเป็นการถักทอใจของนิสิตนักศึกษาทุกคนในการเข้าไปอยู่ร่วม และสรรค์สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องในชุมชน”

คุณแม่ คุณป้า หรือคนในชุมชนที่ได้ถักทอเรื่องราวต่าง ๆ ให้ออกมาเป็นผ้าขาวม้าจากรุ่นสู่รุ่น สิ่งที่สำคัญคือเมื่อลูกหลานหรือเด็กเล็กในชุมชนเห็นว่ามีคนเข้ามาสนใจเรื่องราวจากพื้นที่ของเขา เขาจะเติบโตขึ้นมาอย่างเห็นคุณค่าในสิ่งเหล่านั้น

สำหรับเรื่องแฟชั่น ลายผ้าขาวม้าก็ไม่ได้มีแค่คนไทยเท่านั้น แต่ในสังคมโลกยังมีประเทศและแบรนด์อื่น ๆ อีกมากมายที่เลือกใช้ลายเช่นนี้ เพียงแต่ไม่ได้เรียกว่าผ้าขาวม้าเท่านั้น อย่างที่สกอตแลนด์ถึงกับระบุลายและสีผ้าให้เป็นไปตามหมู่บ้านเพื่อสื่อถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น

ผ้าขาวม้า 1 ผืนแม้มีทั้งสีสังเคราะห์และสีจากธรรมชาติ แต่สีธรรมชาติสามารถสร้างอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากชุมชนได้ เช่น ต้นไม้ประจำจังหวัดก็ให้สีที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้สีธรรมชาติยังหมายถึงการรณรงค์ให้คนหันมาปลูกพื้นที่สีเขียวมากขึ้น

แม้สีย้อมที่มาจากธรรมชาติจะแตกต่างไปจากผ้าที่มาจากอุตสาหกรรม แต่อุตสาหกรรมก็ยังจำเป็นต้องมีเพื่อการแข่งขัน แต่ฝีมือระดับหัตถกรรมชุมชนก็สำคัญเช่นกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

โครงการนี้จะสำเร็จไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งนิสิตนักศึกษาที่ให้ความสนใจและเห็นถึงโอกาสในการสร้างการรับรู้ การทำมาค้าขาย ที่จะให้ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อที่จะให้ผู้ผลิตจากชุมชนสามารถผลิตสินค้าเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อเลี้ยงชีพของเขาได้อย่างยั่งยืนต่อไป นายฐาปนกล่าว

สร้างรายได้สู่ชุมชนกว่า 235 ล้านบาท

โครงการผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทยมีส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าผ้าขาวม้าทอมือ จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่เข้าร่วมโครงการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 235 ล้านบาท โดยประสบความสำเร็จใน 5 มิติหลัก ดังนี้

  1. การสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ้าขาวม้าทอมือ
  2. การสร้างเครือข่ายภาควิชาการและภาคเอกชนที่พร้อมสนับสนุนชุมชนในการสั่งซื้อ ให้ความรู้เชิงธุรกิจ และการออกแบบ
  3. การสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน
  4. การสานต่องานผลิตและแปรรูปผ้าขาวม้าสู่คนรุ่นใหม่
  5. การสร้างห่วงโซ่การผลิตผ้าขาวม้าทอมือที่เข้มแข็ง มีความเกื้อกูลกันระหว่างชุมชน นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการขยายเครือข่ายความร่วมมือ จากจุดเริ่มต้นเพียง 2 ชุมชน 2 มหาวิทยาลัย ในปี 2562 ไปสู่ 18 ชุมชน 16 สถาบันการศึกษา

ทั้งนี้ภายในงาน Sustainability Expo 2023 ได้มีการแสดงแฟชั่นโชว์ชุดผ้าขาวม้าจากโครงการ Creative Young Designers Season 3 ออกสู่สายตาประชาชน, การจัดแสดงนิทรรศการโซน Cultural Heritage, โซนจัดแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้าของ 16 มหาวิทยาลัย 18 ชุมชน, กิจกรรม Talk หัวข้อ ผ้าขาวม้า มรดกภูมิปัญญาและการพัฒนาอย่างยั่งยืน, โซน Market Place ของ 12 ชุมชน และโซนกิจกรรม Online บอกต่อความประทับใจ ถ่ายภาพและแชร์พร้อมบรรยายเชิญชวนเพื่อนมาเที่ยวงานผ้าขาวม้าวิถีไทย ทอใจอย่างยั่งยืน

สัมผัสผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าทอมือของชุมชนผู้ผลิตผ้าขาวม้าที่ส่งตรงจากร้อยเอ็ด ลำปาง อุบลราชธานี สุโขทัย เชียงใหม่ ปทุมธานี นนทบุรี ราชบุรี หนองบัวลำภู บึงกาฬ ได้ในโซน Sustainable Marketplace ชั้น LG โซน B-Sufficient Living และการจัดแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ในชั้น G โซน Foyer A ถึงวันที่ 8 ตุลาคมนี้ ในงาน Sustainability Expo 2023 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.