รู้จักการแข่งขันเรือใบนานาชาติ ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ที่พระราชินีทรงร่วมแข่ง

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า

รู้จักการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” การแข่งขันเรือใบระดับสากลที่มีมาอย่างยาวนาน และมีเรือเข้าร่วมกว่า 100 ลำทุกปี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จะทรงร่วมแข่งขันในวันที่ 9 ธันวาคมนี้

สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน เป็นการส่วนพระองค์ ไปยังโรงแรมบียอนด์ กะตะ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566

โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงร่วมฝึกซ้อมเพื่อจะทรงร่วมการแข่งขันในทีมเรือใบรุ่นไออาร์ซี ซีโร่ (IRC-Zero) ในการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า” ครั้งที่ 35 ประจำปี 2566 ในวันที่ 9 ธันวาคมนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ซึ่งมีมายาวนานร่วม 4 ทศวรรษ และมีเรือใบเข้าร่วมกว่า 100 ลำทุกปี เป็นการเเข่งขันระดับสากล หมุดหมายของนักกีฬาเรือใบชั้นนำจากทั่วโลก

ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า
ภาพจาก www.kingscup.com

จัดครั้งแรกเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9

ต้นกำเนิดของการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า เริ่มขึ้นในปี 2529 โดยสมาชิกของสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยจำนวนหนึ่งได้หารือกันถึงสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา

จนกระทั่งเกิดเป็นการแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2530 จากการผนึกกำลังกันของสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์, นายกสโมสร คริส คิง และ ม.ล.ตรีทศยุทธ เทวกุล (หม่อมตรี) ท่ามกลางท้องทะเลอันดามัน โดยมีโรงแรมภูเก็ต ยอชท์ คลับ เป็นสถานที่จัดงาน

การแข่งขันเริ่มต้นด้วยการผสมผสานระหว่างเรือคีลโบ๊ต (keel boat), เรือคาตามารัน (catamaran), เรือใบเลเซอร์ (Laser) ไปจนถึงวินด์เซิร์ฟ (windsurfer)

ปัจจุบันภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าได้ต้อนรับเรือใบร่วม 100 ลำ พร้อมลูกเรือกว่า 2,000 คนในแต่ละปี เป็นรายการสำคัญของทัวร์นาเมนต์ “Asian Yachting Circuit” ซึ่งประกอบด้วยการแข่งขันเรือใบหลายคลาส ไม่ว่าจะเป็นเรือคีลโบ๊ต เรือคาตามารัน เรือเร็ว Racing Class ไปจนถึงการแล่นเรือทางไกลรุ่น Cruising Class

ด้วยการแข่งขันระดับมาตรฐานสากล ประกอบกับแสงสีเสียงและปาร์ตี้ริมชายหาดที่มีชีวิตชีวาของภูเก็ต ทำให้ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าถูกยกระดับกลายเป็นรายการแข่งขันเรือใบนานาชาติที่โด่งดัง

ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า
ภาพจาก www.kingscup.com

ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 35

การแข่งขันเรือใบนานาชาติชิงถ้วยพระราชทาน ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ประจำปี 2566 ถือเป็นครั้งที่ 35 แล้ว มีกำหนดจัดตั้งแต่วันที่ 2-9 ธันวาคม 2566 ณ หาดกะตะ ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต

โดยปีนี้มีนักกีฬาเรือใบชั้นนำจาก 14 ชาติทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขัน ประกอบด้วย ไทย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เยอรมนี เบลเยียม เอสโตเนีย ฝรั่งเศส ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์

สำหรับรายการแข่งขันประกอบด้วย เรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ๊ตและมัลติฮัลล์ (Keelboats and MultiHulls Race) จัดแข่งขันในวันที่ 4-9 ธันวาคม 2566 ทั้งหมด 7 รุ่น ได้แก่ รุ่นไออาร์ซี ซีโร่ (ที่พระราชินีทรงเข้าร่วม), รุ่นพรีเมียร์, รุ่นไออาร์ซี 1, รุ่นแบร์โบ๊ตชาร์เตอร์, รุ่นโมโนฮัลล์ครูซิ่ง, รุ่นมัลติฮัลล์เรซิ่ง และรุ่นมัลติฮัลล์ครูซิ่ง

นอกจากนี้ยังมีรายการแข่งขันเรือใบเล็ก อินเตอร์เนชันแนล ดิงกี้ คลาส (International Dinghy Classes) ในวันที่ 3-5 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย รุ่นออปติมิสต์, รุ่นไอแอลซีเอ 4, รุ่นโอเพ่นสกิฟฟ์ และรุ่นโมโนฮัลล์ดิงกี้แฮนดี้แคป

ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า
ภาพจาก www.kingscup.com

ข้อมูลจาก ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า และ กรมประชาสัมพันธ์