มิกกี้เมาส์เวอร์ชั่นแรก หมดอายุลิขสิทธิ์จากดิสนีย์ กลายเป็นสาธารณสมบัติ

มิกกี้ เมาส์
ภาพจาก AFP

“มิกกี้เมาส์” และ “มินนี่เมาส์” เวอร์ชั่นแรก ค.ศ. 1928 จากภาพยนตร์สั้น “สตีมโบต วิลลี” หมดอายุลิขสิทธิ์จาก “ดิสนีย์” กลายเป็นสาธารณสมบัติ ตามกฎหมายสหรัฐ ที่ระบุว่าลิขสิทธิ์ทางปัญญาในงานศิลปะจะสิ้นสุดอายุหลังผ่านไป 95 ปี ส่วนเวอร์ชั่นอื่นยังเป็นของดิสนีย์ตามเดิม

วันที่ 3 ธันวาคม 2567 “มิกกี้เมาส์” และ “มินนี่เมาส์” แจ้งเกิดจากภาพยนตร์สั้น “สตีมโบต วิลลี” (Steamboat Willie) ใน ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2471) กำกับโดย “วอลต์ ดิสนีย์” และคู่หู “อูบ อิเวิร์กส์” เป็นเวอร์ชั่นแรกที่มีลักษณะภาพขาวดำและพูดไม่ได้ ซึ่งได้รับคำชมอย่างล้นหลาม กลายเป็นตัวละครขวัญใจคนทั้งโลก และเปลี่ยนโชคชะตาของดิสนีย์รวมทั้งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไปตลอดกาล

ปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 95 ปีแล้วตั้งแต่ Steamboat Willie ออกฉายครั้งแรก เช่นเดียวกับกฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาที่กำหนดว่า ลิขสิทธิ์ทางปัญญาในงานศิลปะจะสิ้นสุดอายุลงหลังผ่านไป 95 ปี ทุกคนสามารถนำไปดัดแปลง ต่อยอด โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของผลงานต้นฉบับ

เท่ากับว่า มิกกี้เมาส์และมินนี่เมาส์ ในเวอร์ชั่นภาพขาวดำ ได้กลายเป็นสาธารณสมบัติแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2024 ที่ผ่านมา และใครก็ตามสามารถนำมิกกี้เมาส์เวอร์ชั่นดังกล่าวไปใช้ในผลงานของตัวเองได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากดิสนีย์ ทั้งในด้านงานเขียน ศิลปะ ดนตรี และสิ่งประดิษฐ์

อย่างไรก็ตาม มิกกี้เมาส์เวอร์ชั่นอื่น ๆ ที่กำเนิดขึ้นหลัง ค.ศ. 1938 จะยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของดิสนีย์อยู่ จนกว่าผลงานนั้น ๆ จะมีอายุครบ 95 ปี นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้า สิทธิทางการค้า และลักษณ์เฉพาะของมิกกี้เมาส์ เช่น เสื้อผ้าหรือการแต่งตัวของตัวละคร ประโยคดังจากตัวละคร ยังคงเป็นของดิสนีย์อยู่เช่นกัน

ดังนั้น ใครก็ตามที่จะนำมิกกี้เมาส์ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ต้องมั่นใจว่าผลงานใหม่ที่สร้างขึ้นจะไม่สื่อหรือทำให้รู้สึกว่าเชื่อมโยงถึงดิสนีย์ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นการละเมิดเครื่องหมายทางการค้าของดิสนีย์ ซึ่งดิสนีย์ก็มีสิทธิจะฟ้องร้องได้

สำนักข่าว AP รายงานคำแถลงของดิสนีย์ว่า นับตั้งแต่มิกกี้เมาส์ปรากฏตัวครั้งแรกใน Steamboat Willie ผู้คนต่างเชื่อมโยงตัวละครนี้กับเรื่องราว ประสบการณ์ และผลิตภัณฑ์ของดิสนีย์ สิ่งนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อลิขสิทธิ์หมดอายุ

ศิลปินและนักสร้างสรรค์ในปัจจุบันสามารถใช้ประโยชน์จากมิกกี้ได้ แต่มีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ “มีเพียงกัปตันเรือจอมซนที่เหมือนหนูและไม่พูดจาใน Steamboat Willie เท่านั้นที่กลายเป็นที่สาธารณสมบัติ”

มิกกี้เวอร์ชั่นใหม่กว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากลิขสิทธิ์ที่หมดอายุ และมิกกี้จะยังคงมีบทบาทนำในฐานะทูตระดับโลกของบริษัทวอลต์ ดิสนีย์ ในการเล่าเรื่อง สถานที่ท่องเที่ยวในสวนสนุก และสินค้าของเรา แน่นอนว่าเราจะปกป้องสิทธิของเราในมิกกี้เมาส์เวอร์ชั่นที่ทันสมัยกว่า และผลงานอื่น ๆ ที่ยังคงมีลิขสิทธิ์ต่อไป

ดิสนีย์ยังคงถือเครื่องหมายการค้าของมิกกี้อย่างมั่นคง และกฎหมายห้ามมิให้ใช้ตัวละครเพื่อหลอกผู้บริโภคให้คิดว่าผลิตภัณฑ์นั้นมาจากผู้สร้างดั้งเดิม ใครก็ตามที่เริ่มต้นบริษัทภาพยนตร์หรือสวนสนุกจะไม่สามารถทำโลโก้เป็นรูปหูหนูได้ฟรี

ดิสนีย์จะทำงานเพื่อป้องกันความสับสนของผู้บริโภคที่เกิดจากการใช้มิกกี้และตัวละครสัญลักษณ์อื่น ๆ ของเราโดยไม่ได้รับอนุญาต

ค.ศ. 2024 เป็นอีกปีที่ผลงานชื่อก้องโลกหมดอายุลิขสิทธิ์จากเจ้าของเดิม ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง “เดอะ เซอร์คัส” (Circus) ของชาร์ลี แชปลิน, นิยายเรื่อง “ออร์แลนโด” (Orlando) ของเวอร์จิเนีย วูล์ฟ และละครเพลง “เดอะ ทรีเพนนี โอเปร่า” (The Threepenny Opera) ของแบร์ทอลท์ เบรชต์ นักเขียนบทละครชื่อดังชาวเยอรมัน

นอกจากนี้ แคแร็กเตอร์ “ทิกเกอร์” (Tigger) จากเรื่อง “วินนี่ เดอะ พูห์” (Winnie the Pooh) หรือ “หมีพูห์” ก็จะหมดอายุลิขสิทธิ์ลงด้วย จากที่ก่อนหน้านี้ตัวละครหมีพูห์ ได้หมดอายุลิขสิทธิ์ของดิสนีย์ไปเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา

ซึ่งหมีพูห์และ “พิกเลต” ก็ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง “Winnie The Pooh : Blood and Honey” โดยทิกเกอร์ก็เตรียมปรากฏตัวในภาคต่อที่จะฉายในปีนี้ด้วยเช่นกัน