“เอาใจเขามาใส่ใจเรา” บริหารแบบไม่บริหาร สไตล์ “อนุพงษ์ อัศวโภคิน”

อนุพงษ์ อัศวโภคิน

ด้วยยุคสมัยที่แปรผันเร็ว อารมณ์คนเป็นใหญ่ การฝึกใจตัวเองจึงต้องเพียรทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้เท่าทันจิตตัวเราเอง ถ้าไปเร็วก็ไปคนเดียว แต่ถ้าให้ถึงจุดหมายเดียวกันต้องไปพร้อมกัน

ด้วยหลักคิดและสไตล์การบริหารแบบไม่บริหารของ “คุณตี๋-อนุพงษ์ อัศวโภคิน” CEO บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ระดับท็อปไฟว์อย่าง บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) จึงประสบความสำเร็จ เติบโตต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการยึดหลัก “Outward Mindset : เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เพื่อให้พนักงานทำงานได้อย่างมีความสุข

แน่นอนการใช้ชีวิตของเขาจึงต้องใช้หลักผสมผสานเหมือนการทำงาน โดยเฉพาะงานอดิเรกที่มีใจรักในการอ่านหนังสือ เพราะหนังสือเป็นอาหารสมอง ให้ความสุขสนุกไปในตัว

ก่อนเล่าถึงหนังสือเล่มโปรด คงต้องย้อนไปในปี 2017 ซึ่งช่วงนั้นเอพีกำลังเผชิญปัญหาหนัก ยอดขายไม่โต อีกทั้งหุ้นส่วนที่สร้างบริษัทมาด้วยกันคือ คุณพิเชษฐ วิภวศุภกร ถึงขั้นอยากเลิกธุรกิจ ด้วยความบังเอิญคุณตี๋ได้ไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า “วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก” เมื่ออ่านแล้วก็เกิดความชอบ จึงอ่านเล่มที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน เพียงแต่ขยายความ

หลักของหนังสือ 3 เล่มนี้คือ “Outward Mindset” หนังสือต้องการบอกว่า Mindset ของคนสำคัญ โดยหนังสือเล่มที่ 1 จะแนะนำว่า Outward Mindset คืออะไร ทำไมทุกวันนี้ชีวิตถึงได้ทุกข์นัก พร้อมกับการยกตัวอย่างประกอบ เพื่อให้เห็นภาพว่าเราดำเนินชีวิตมีความสุขหรือไม่มีนั้นอยู่ที่มุมมอง

ถัดมาเล่มที่ 2 เป็นการแนะนำว่า Mindset ของคนที่เป็น Inward หรือในภาษาไทยจะใช้คำว่ามองเอาแต่ตัวนั้นมีกี่ประเภท และเล่มสุดท้ายจะพูดถึงทฤษฎีหลัก ว่าเราจะ Outward กับคนได้อย่างไร

เอพีเติบโตด้วยหลัก Outward Mindset

หนังสือทั้ง 3 เล่มนี้มีประโยชน์กับเอพีอย่างมาก เอพีมาถึงวันนี้ได้ ต้องขอบคุณหนังสือ 3 เล่มนี้ เพราะเมื่อทั้งคุณอนุพงษ์และคุณพิเชษฐอ่านจบ คุณอนุพงษ์ได้เชิญ ดร.เทอรี่ วอร์เนอร์ ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือ และคิดทฤษฎี Outward Mindset ให้มาโค้ชที่เมืองไทย ซึ่ง Personal Coach คือคุณพิเชษฐ ทำให้ ณ เวลานี้ เอพีใช้ Outward Mindset เป็นเสาหลักในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร

นอกจากนี้ คุณอนุพงษ์ได้ให้ผู้บริหารของเอพีไปเทรน เรียกว่า Train the Trainer เรื่องการกระจายวิธีคิดของ Outward Mindset เข้าไปในองค์กร

ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นเจ้าของกิจการ ทำให้ไม่เคยมองเห็นข้อเสียนั่นคือ การกุมอำนาจ การต้องเป็นเซ็นเตอร์ของพนักงาน การต้องมีคำตอบให้พนักงานทุกอย่าง การที่พนักงานอยากจะทำอะไรก็วิ่งมาหาเรา ซึ่งตอนนั้นรู้สึกมีความสุข แต่พอได้อ่าน 3 เล่มนี้ แล้ว Implement เรื่อง Outward Mindset ไปในองค์กร จึงรู้ว่า ความสุขที่แท้จริงคือ “บริหารงานแบบไม่ต้องบริหาร” ไม่ต้องเป็นเซ็นเตอร์ทุกอย่าง ไม่ต้องรอบรู้ทุกเรื่อง

การทำงานที่ดีที่สุดคือ ทำแล้วมีความสุข แล้วสิ่งที่ทำให้เราทำงานไม่มีความสุขที่สุดไม่ใช่ตัวงาน สิ่งที่ทำให้คนต้องลาออกจากงาน ร้อยละ 80-90 คือ คน ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของคนในที่ทำงานคือสิ่งที่ทำให้คนลาออกจากงานมากที่สุด

เพราะฉะนั้นเราจะทำงานให้มีความสุขที่สุดได้ต้องบริหารจัดการเรื่องคน เราไม่มีทางที่จะทำให้คนอื่นเป็นอย่างที่เราต้องการได้ แต่เราต้องทำ Mindset ของเราในการมองคนอื่นแล้วเรามีความสุขให้ได้ ทั้งนี้ การให้พนักงานฝึกฝนเรื่อง Outward Mindset เป้าหมายคือเพื่อพนักงานมีความสุขเวลามาทำงาน แล้วเมื่อมีความสุข บริษัทก็สามารถเติบโตได้

กฎกติกาที่ล้าสมัยต้องเปลี่ยน

Vision Mission ของเอพีคือ “EMPOWER LIVING” ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เกิดได้ มาจากกลยุทธ์ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ต้องให้พนักงานทุกคนเป็น “Independent Responsible Leaders” คือ เป็นผู้นำที่สามารถตัดสินใจได้อย่างอิสระพร้อมกับมีความรับผิดชอบ 2.ต้องการสร้าง Innovation Culture ในองค์กร เพราะจะสร้าง “EMPOWER LIVING” ให้ลูกค้าได้ ต้องมีของใหม่ ๆ โลกวันนี้ต้อง Innovate โดยเอพีสอน Design Thinking ให้พนักงาน และ 3.Everything Digital ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับ Innovation และสร้างให้คนเป็น Independent Responsible Leaders

ทั้งนี้ การจะเป็น Independent Responsible Leaders ได้ ต้องมี Outward Mindset เพราะเมื่อมี Outward Mindset เราจะแคร์คนรอบตัว ด้วยเหตุนี้คุณอนุพงษ์กับคุณพิเชษฐจึงเปลี่ยนบทบาทตนเอง

ดร.เทอรี่เคยพูดว่า “There is no independent without boundary.” มันไม่มีความอิสระอย่างไม่มีขอบเขต ทุกที่ล้วนมีกฎหมาย เพราะฉะนั้นกฎกติกาไม่ได้เป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่เป็นสิ่งที่กำหนดขอบเขต เพื่อให้คนสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้

ดังนั้น สิ่งที่คุณอนุพงษ์และคุณพิเชษฐต้องทำคือการถอยหลังกลับไปกำหนดกฎกติกาในการทำงาน เนื่องจากกฎบางอย่างทำให้พนักงานไม่สามารถทำงานนั้นได้ แต่การจะเปลี่ยนกฎกติกาบริษัทได้ต้องมีเงื่อนไข 3 ข้อ ประกอบด้วย

1.เมื่อเปลี่ยนแล้วจะทำให้องค์กรเสียหายหรือไม่ 2.ต้องไม่สร้างปัญหาให้คนอื่น ๆ รวมทั้งคู่ค้าและหุ้นส่วน และ 3.ต้องเป็นไปตาม Vision Mission องค์กร หนึ่งในปัญหาที่พบวันนี้คือ ในช่วงเริ่มต้นกฎกติกาส่งผลดี แต่เมื่อเวลาผ่านไปกฎกติกากลับเป็นตัวทำลายองค์กร เพราะความล้าสมัย

บริหารแบบไม่บริหาร

นอกจากนี้ ดร.เทอรี่ยังได้บอกอีกว่า เจ้านายคนไหนที่ชอบตัดสินใจให้ลูกน้อง เจ้านายต้องรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาครึ่งหนึ่ง หากล้มเหลวจะทำให้รู้สึกกังวล เพราะพนักงานทำตามในสิ่งที่เจ้านายเป็นคนตัดสินใจ

แต่อย่าลืมว่าพนักงานทุกคนมี KPI เพราะฉะนั้นเขาจะทำได้หรือไม่ได้ ต้องให้พนักงานเป็นคนตัดสินใจเอง

ปัจจุบันเมื่อใดก็ตามที่พนักงานเข้ามาขอความคิดเห็นจากคุณอนุพงษ์ เขาก็จะให้ความเห็นตามปกติ แต่จะบอกกับพนักงานอยู่เสมอว่า จะทำหรือไม่ทำไม่ว่าเลย หากไม่ทำยิ่งแฮปปี้ เพราะผลลัพธ์ที่ได้อยู่ใน KPI ของพนักงาน ซึ่งช่วงแรกที่ทำแบบนี้ทุกคนต้องใช้เวลาปรับตัว

แต่เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง ที่พนักงานไม่ได้ทำตามความคิดของเขา แล้วผลลัพธ์ที่ได้ออกมาดี แน่นอนว่าต้องมีผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อให้กับพนักงาน ที่เขาสามารถทำให้บริษัทเติบโต ซึ่งนี่ก็คือวิธีการบริหารงานแบบไม่บริหารนั่นเอง โดยฝึกให้พนักงานเป็น Independent Responsible Leaders

หนังสือธรรมะชี้ทางสว่าง

หนังสืออีกหนึ่งประเภทที่คุณตี๋ชอบอ่านคือหนังสือธรรมะ ซึ่งเขาได้เจอหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนโดย หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ใจความว่า

“เวลาเราไม่ชอบใครสักคน ถ้าเราเป็นเขา อยู่ในเงื่อนไขเดียวกับเขา เราว่าเขาทำไม่ถูก ทำไมเขาทำอย่างนี้ ลองเอาใจเขา มาใส่ใจเรา ถ้าเราเป็นเขา อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน เราก็ตัดสินใจอย่างที่เขาตัดสินใจนั่นแหละ พอเราเข้าใจตรงนี้ ความโกรธความเกลียดจะหายไปเลย หายทันทีด้วยปัญญา แล้วจะรู้สึกว่า เราเป็นเพื่อนกันได้ ถ้าจำเป็นขึ้นมาก็เลวเท่า ๆ กัน เห็นอกเห็นใจ ถ้ารู้สึกได้อย่างงี้ จะเป็นมิตรขึ้นมาโดยที่ไม่ได้เจตนา ไม่ต้องแกล้งทำ”

ข้อความข้างต้นทำให้เขาพบว่า Outward Mindset ในพระพุทธศาสนา คือสอนให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา แต่เวลาเราปฏิบัติจริง ๆ คือ เราเอาใจเราไปประเมินสิ่งที่เขาทำ เราไม่ได้เอาใจเขามาใส่ใจเรา

เราต้องรู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ ต้องรู้ใจตัวเอง