วศินบุรี พา “ไอ้จุด” บุกกรุง ประติมากรรมลูกหมากว่า 100 ตัว ที่ไอคอนสยาม

วศินบุรี ไอ้จุด ไอคอนสยาม

“วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์” ศิลปินชื่อดังจากเมืองราชบุรี เจ้าของรางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบ ประจำปี 2553 ทายาท “เถ้า ฮง ไถ่” โรงงานผลิตเครื่องปั้นดินเผาแห่งราชบุรีที่ก่อตั้งมานานกว่า 80 ปี ได้นำ “ไอ้จุด” ประติมากรรมลูกหมาพันธุ์ไทยกว่า 100 ตัว มาจัดแสดงนิทรรศกาล “ICONCRAFT x วศินบุรี” ในชื่อ “ไอ้จุดไม่จบ” ส่วนหนึ่งของงาน “Bangkok Design Week 2024” ณ ไอคอนคราฟต์ ชั้น 4 ไอคอนสยาม จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567

เจ้าของผลงาน “ไอ้จุด” กล่าวว่า ไอ้จุดเป็นผลงานรูปปั้นสุนัขที่ถือเป็นซิกเนเจอร์ เป็นประติมากรรมลูกหมาพันธุ์ทางจากราชบุรี ตัวแทนความฉลาดแสนรู้ของหมาบ้าน ๆ “ซื่อ-ซ่า-ซน” ที่รักบ้าน รักชุมชน และชอบงานศิลปะ เพราะคลุกคลีอยู่ในโรงงานเซรามิกกับพี่ ๆ ช่างฝีมือ มีหน้าที่ส่งต่อความรัก ความซื่อสัตย์ กำลังใจ และพลังงานบวกให้แก่ผู้พบเห็น

วันนี้ไอ้จุดเดินทางมาจากราชบุรีเพื่อเข้ากรุงอีกครั้ง มาแบบยกฝูงกว่า 100 ตัว วิ่งเล่นที่ไอคอนคราฟต์ ตอกย้ำการเป็นพื้นที่เพื่อสนับสนุนผลงานสร้างสรรค์ งานคราฟต์จากช่างฝีมือไทยทั่วประเทศ

วศินบุรี ไอ้จุด ไอคอนสยาม

จุดเริ่มต้นของไอ้จุดแต่เดิมทำจากเซรามิกขนาดเท่าลูกสุนัข เป็นส่วนหนึ่งของงานชุด “Coming Closer” ที่วศินบุรี นำไปจัดแสดงยังประเทศเยอรมนีในปี 2550 และนำกลับมาแสดงอีกครั้งในนิทรรศการ “รอยยิ้มสยาม” เมื่อครั้งเปิดหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในปี 2551

ทำให้ไอ้จุดเพิ่มบริบทให้กับคำว่า “ศิลปะร่วมสมัย” เข้ามาอยู่ในสังคมไทยมากขึ้น และเริ่มขยายออกสู่คนในวงกว้าง กลายเป็นตัวแทนของความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นและรอยยิ้ม และเป็นสัญลักษณ์ว่าไม่ใช่เฉพาะที่เมืองหลวงเท่านั้น แต่ทุก ๆ ที่ในประเทศไทยจำเป็นต้องมีศิลปะเข้ามาอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน

“ประติมากรรมไอ้จุด ดูง่าย ไม่ซับช้อน เข้าถึงได้ง่าย ทำให้เกิดการเชื่อมโยงโดยใช้งานศิลปะร่วมสมัย ดึงดูดผู้ชมให้เข้าไปเรียนรู้กับงานที่เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำของชุมชนที่สะสมอยู่ในพิพิธภัณฑ์ พร้อมกันนี้ ด้วยความน่ารักของประติมากรรมไอ้จุด สร้างความสนใจและดึงดูดผู้ชมทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมากมาย”

วศินบุรี ไอ้จุด ไอคอนสยาม

อยากเห็นไอ้จุดร้อยตัว

การร่วมสร้างสรรค์กับไอคอนสยาม และ Bangkok Design Week 2024 ในครั้งนี้เกิดจากความอยากเสนออะไรใหม่ ๆ ให้ผู้คนรับรู้ รวมทั้งอยากเห็นภาพที่คิดเอาไว้ว่าการรวมตัวกันของไอ้จุดจำนวนมากจะเป็นอย่างไร อีกทั้งไอคอนสยามก็สนับสนุนเรื่องงานคราฟต์อยู่แล้ว

สมัยนี้ทุกคนกำลังเห็นความสำคัญของงานคราฟต์ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่มองข้ามหัตถกรรมไป สมัยนี้ที่ทุกคนอยู่กับความเปอร์เฟ็กต์ ความง่ายของเทคโนโลยี แต่เรากลับโหยหาความเป็นคราฟต์ ความเป็นมนุษย์มากขึ้นใน

“เราอาจใช้งานคราฟต์เป็นตัวขับเคลื่อนรูปแบบของเศรษฐกิจที่คนกำลังพูดถึงในเวลานี้ก็ได้”

นิทรรศกาลนี้จึงเป็นสิ่งที่เราอยากรู้อยากเห็นเหมือนกัน เพราะก็อยากเห้นไอ้จุดถูกนำมาจัดแสดงจำนวนมาก ๆ ซึ่งถ้าไม่มีเหตุการณ์ที่พิเศษจริง ๆ คงไม่สามารถทำได้ แต่ครั้งนี้มีโอกาสได้ทำ วศินบุรี กล่าว

วศินบุรี ไอ้จุด ไอคอนสยาม

ความจริง เท่ากับ สิ่งที่หายไป

วศินบุรี ตอบคำถามที่ว่า “ทำไมไอ้จุดต้องมีรู” เมื่อก่อนตอนเรียนอยู่ที่เยอรมนี มีการถกเถียงกันเยอะว่าเซาริกใช่ศิลปะหรือไม่ หรือเป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น แน่นอนวศินบุรีมองว่ามันคือศิลปะ แต่คนยุโรปมองว่าดินเป็นวัสดุที่ใช้ทำโมเดลสำหรับงานศิลปะ หรือปั้นเพื่อเตรียมสลักขึ้นรูปเท่านั้น

“ถ้าคุณมองว่าเซรามิกเป็น Functional Art ถ้าเจาะรูมันจะเป็น Sculpture หรือยัง ประกอบกับตอนนั้นกำลังอินเรื่อง “ความจริง” และ “สมมุติ” ถ้าเซรามิกหมาหนัก 12 กิโลกรัม เอามาเจาะรูตามตัวจนน้ำหนักเหลือ 6 กิโลกรัม จะมองออกว่ามันยังเป็นหมาอยู่มั้ย ดังนั้น ความจริงกับสิ่งที่หายไปจึงเท่ากัน”

ไอคอนสยามร่วมสร้างสรรค์

“ปารีสา จาตนิลพันธุ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจค้าปลีก Concept Shop บริษัท สยามพิวรรธน์ รีเทล โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ในปีนี้ ไอคอนสยาม และศูนย์การค้าในครือของกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ได้ร่วมเป็นหนึ่งในพื้นที่การจัดงาน Bangkok Design Week 2024 ในธีม “Livable Scape” คนยิ่งทำ เมืองยิ่งดี โดยร่วมจัดนิทรรศการย่อย ICONCRAFT x วศินบุรี นำเสนอผลงานการสร้างสรรค์ของ ศิลปินผู้คร่ำหวอดในแวดวงศิลปะและเซรามิกไทย

การเปิดพื้นที่ไอคอนคราฟต์จัดนิทรรศการในครั้งนี้ แสดงถึงความมุ่งมั่นของสยามพิวรรธน์ ในการเป็นแพลตฟอร์มที่ร่วมรังสรรค์ผลงานสร้างสรรค์ด้วยการผนึกกำลังกับศิลปินมากมาย เปิดอากาสให้ได้โชว์เคสผลงานและนำเสนอประสบการณ์พิเศษ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตที่ดีและมีประสิทธิภาพของทุกภาคส่วน ส่งเสริมการพัฒนาเมืองในมิติต่าง ๆ สร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนให้กับผู้คน ชุมชน และสังคม

วศินบุรี ไอ้จุด ไอคอนสยาม วศินบุรี ไอ้จุด ไอคอนสยาม