ส่องเล่มไฮไลต์สำนักพิมพ์มติชน ใน ‘เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม’ 16-18 ก.พ.นี้ ที่มิวเซียมสยาม

สำนักพิมพ์มติชน

เปิดเล่มไฮไลต์ของสำนักพิมพ์มติชน ใน “Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” พบความรู้คู่ความสนุก ทั้งหนังสือ ฟังทอล์ก วอล์กทัวร์ เวิร์กช็อป ชมคอลเล็กชั่นพิเศษ ฟังดนตรีในสวน และอาหารอร่อยตามรอยเส้นทางเศรษฐี วันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 12.00-21.00 ที่มิวเซียมสยาม เช็กตารางกิจกรรมทั้งหมดที่นี่

วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 “Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม” กลับมาอีกครั้ง บุ๊กแฟร์ที่ไม่ได้เป็นแค่งานหนังสือ แต่รวบรวมความรู้คู่ความสนุกไว้มากมาย ฟังทอล์ก วอล์กทัวร์ เวิร์กช็อป ชมคอลเล็กชั่นพิเศษ และฟังดนตรีในสวน พร้อมกับร้านอาหารดังระดับตำนานตามรอยเส้นทางเศรษฐีที่ยกทัพมาเสิร์ฟทุกคน

สำนักพิมพ์มติชนและพันธมิตรชั้นนำ ตระหนักถึงความสำคัญ “ความรู้” ที่สอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน และสิ่งรอบตัว การเรียนรู้จึงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกแห่ง ทั้งยังแตกแขนงไปได้หลากหลายสาระ ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรม สารคดี วรรณกรรม สุขภาพ และแรงบันดาลใจ ที่สำคัญคือความรู้ไม่ใช่เรื่องเคร่งเครียดเสมอไป Knowledge Book Fair 2024 จึงเป็นเทศกาลหนังสือเพื่อการเรียนรู้ที่ดีที่สุด สนุกที่สุด และเต็มอิ่มที่สุด

ขึ้นชื่อว่าบุ๊กแฟร์ นอกจากจะมีความสนุกจากกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว แน่นอนว่าต้องมีหนังสือคุณภาพที่รอทุกคนอยู่ “ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปส่องเล่มไฮไลต์ เล่มเด็ด ของสำนักพิมพ์มติชน ในงาน Knowledge Book Fair 2024 กัน ซึ่งทุกเล่มจะมีกิจกรรมบุ๊กทอล์กด้วย

สำนักพิมพ์มติชน

“The Lost Forest : ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร” ผู้เขียน “วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์” 

  • วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14.30-15.30 น. มีกิจกรรม “BookLaunch: The Lost Forest ป่าที่สูญหาย-อากาศที่ถูกทําลาย” พบกับ “วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์” ดําเนินรายการโดย “ทรงกลด ณ บางยี่ขัน” ที่โซน Book Talk 1

สำหรับเล่มแรก ต้นฉบับนี้เล่าถึงประวัติศาสตร์ของการทำลายสิ่งแวดล้อมตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในแง่มุมที่ผู้เขียนสนใจ โดยผสมผสานระหว่างการเล่าเรื่องแบบสารคดีที่ผู้เขียนเคยลงไปสัมผัสปัญหาในพื้นที่มากับข้อมูลจากงานศึกษาต่าง ๆ รวมทั้งบทสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญและคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม

เนื้อหาแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นใหญ่ เริ่มจากการทำลายธรรมชาติที่เกิดขึ้นมายาวนานนับแต่อดีต การแย่งชิงทรัพยากร ปัญหาจากการเติบโตของระบบอุตสาหกรรม มาจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมยุคใหม่ที่เป็นความท้าทายสำคัญที่มนุษย์ต้องรับมือในอนาคต

ข้อเสนอมีอยู่ว่า ความเจริญทางเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง และเกิดการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ทั่วถึง ผู้มีอำนาจหรือผู้ที่ได้เปรียบจะมีโอกาสตักตวงและเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติมากกว่าคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างไม่เป็นธรรม นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำของผู้คนที่นับวันยิ่งีช่องว่างมากขึ้น

สำนักพิมพ์มติชน

“ศรีเทพ สถาปัตย์-ปฏิมาเมืองมรดกโลก” ผู้เขียน “ศิวพงศ์ สีเสียดงาม”  

  • วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14.30-15.30 มีกิจกรรม “BookTalk: มรดกไทยจะไปมรดกโลก (อีกไหม?)” วิทยากรโดย “เกรียงไกร เกิดศิริ” ดําเนินรายการโดย “สมชาย แซ่จิว” ที่โซน Book Talk 1

เมืองศรีเทพ โบราณสถานที่อยู่นอกความสนใจของประวัติศาสตร์ไทย ไม่ถูกจัดอยู่ในพัฒนาการอันยาวนานต่อเนื่องของ “ชนชาติไทย” และเป็นเรื่องโบราณที่ไม่อยู่ในความสนใจของคนไทยทั่วไป จนกระทั่งการได้รับสถานะ “มรดกโลก”

เมืองศรีเทพเป็นเมืองโบราณ เก่าแก่ระดับที่หายไปจากความทรงจำของผู้คนในสมัยหลังจากนั้นไม่นาน แม้แต่ชื่อยังเป็นชื่อที่ถูกตั้งในสมัยหลังตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ

เนื่องด้วยหลักฐานส่วนใหญ่ของศรีเทพอยู่ในรูปของประติมากรรมและสถาปัตยกรรม การทำความเข้าใจเมืองศรีเทพจึงต้องอาศัยการศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะ เพื่อค้นหาความเป็นมาของศรีเทพที่ซ่อนอยู่ในงานศิลปกรรมเหล่านี้

หลักฐานด้านประติมากรรมและสถาปัตยกรรมในเมืองศรีเทพ พบทั้งสร้างเนื่องในศาสนาพราหมณ์หลายนิกายและพุทธศาสนา ทำให้เห็นพลวัตของศรีเทพที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดสมัย ทั้งการรับวัฒนธรรมจากทวารวดี หรือกลุ่มบ้านเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมไปถึงจากวัฒนธรรมโบราณในกัมพูชา ซึ่งส่งผลต่ออุดมการณ์และความเชื่อในการปกครองของเมืองศรีเทพในอดีต รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนด้วย

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจของศิลปกรรมในเมืองศรีเทพไม่ใช่เพียงแค่ได้เห็นความสัมพันธ์ของเมืองศรีเทพกับบ้านเมืองโบราณอื่น ๆ แต่คือความรุ่งเรืองในฐานะเมืองใหญ่และมีสังคมที่ซับซ้อน เพราะทั้งประติมากรรมและสถาปัตยกรรมที่ค้นพบล้วนพบรูปแบบเฉพาะที่พัฒนาขึ้นเองในพื้นที่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิวัฒนาการและเทคโนโลยีของเมืองศรีเทพ ที่สามารถสร้างรูปแบบศิลปกรรมของตัวเองได้ด้วย

สำนักพิมพ์มติชน

“Self Love, First กอดใจไว้ก่อน” ผู้เขียน “เมริษา ยอดมณฑป”

  • วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00-11.00 น. มีกิจกรรม “BookHealing: Self Love อ้อมกอดใจ” พบกับ “เมริษา ยอดมณฑป” ที่โซน Book Talk 2

เมริษา ยอดมณฑป หรือ ครูเม จากเพจ “ตามใจนักจิตวิทยา” ขอเป็นเพื่อนร่วมทางพาทุกคนกลับมาสำรวจหัวใจ รู้จักตัวตน ตามหาความรัก อ้อมกอด และพื้นที่ปลอดภัยที่อาจจะเผลอทำหล่นหายไประหว่างเส้นทางการเติบโต

ความรักไม่ได้อยู่ในโลกรอบตัวเพียงเท่านั้น ลึกลงไปในมุมเล็ก ๆ ของหัวใจ ความรักที่ใกล้ตัวที่สุดและสำคัญไม่แพ้ความรักจากใคร ๆ คือความรักที่เกิดขึ้นภายในตัวเราเอง

“ก่อนจะมอบความรักให้ใคร อย่าลืมมอบความรักให้ตัวเราเอง”

สำนักพิมพ์มติชน

“อโยธยา ก่อนสุโขทัย ต้นกำเนิดอยุธยา” ผู้เขียน “รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล” คำนำเสนอโดย “สุจิตต์ วงษ์เทศ”

  • วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 – 14.00 มีกิจกรรม “Sujit’s Talk: ไทยๆ เริ่มในอโยธยา (คนไทย, ภาษาไทย, อักษรไทย)” พบกับสุจิตต์ วงษ์เทศ ดําเนินรายการโดย “เอกภัทร์ เชิดธรรมธร” ที่โซน Book Talk 1

ปัญหาของกรอบประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เพิ่งสร้าง กำหนดให้สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรก เป็นเพดานความทรงจำครอบงำสังคมไทย ทำให้ข้อมูลหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีนอกแบบจากประวัติศาสตร์ชาติไทยกำลังถูกลบทำลาย

กรณีของรัฐในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างกรุงศรีอยุธยาซึ่งในพงศาวดารบันทึกไว้ว่ามีการสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1893 ก็เช่นเดียวกัน จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ชนชั้นนำสยามในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เชื่อกันว่า ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาภายหลังการหมดสิ้นอำนาจของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นที่ตั้งของบ้านเมืองขนาดใหญ่อันมีนามว่า “อโยธยา”

ซึ่งเมืองอโยธยาเป็นการรวมกลุ่มของอำนาจของชาวสยามกับชาวขอมละโว้ ชาวสยามใช้ภาษาตระกูลไต – ไทเป็นภาษาราชา ภายหลังศาสนาพุทธแบบเถรวาทเข้ามา จึงเรียกตนเองและมีผู้อื่นเรียกว่า คนไทย และหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีชี้ชัดว่าเก่ากว่าสุโขทัย

นอกจากนี้ ภายในงาน Knowledge Book Fair 2024 เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม ยังมีดนตรีในสวนจากวง Roberto Uno ให้ได้ฟังเพลงกันชิล ๆ ยามเย็น พร้อมกับร้านอาหารมากมาย การันตีความอร่อยจากเส้นทางเศรษฐี แล้วพบกันวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์นี้ ที่มิวเซียมสยาม

ตารางกิจกรรม

เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม