ห้วยขวางซบเซา ร้านหมาล่าดังหาคนเทกโอเวอร์ เหตุต้องกลับประเทศจีน

ห้วยขวาง

ห้วยขวางซบเซา ร้านหมาล่าจีนทยอยปิดกิจการ ภาครัฐเข้มใบอนุญาต การแข่งขันดุ ร้านดังขึ้นป้ายหาคนเทกโอเวอร์ เหตุต้องกลับประเทศจีน

วันที่ 25 มีนาคม 2567 กลับมาเป็นประเด็นที่สนใจของสาธารณชนอีกครั้งสำหรับ “ห้วยขวาง” ย่านที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไชน่าทาวน์แห่งใหม่” หลังกลุ่มทุนชาวจีนแห่กันมาลงทุนประกอบกิจการ โดยเฉพาะเปิดร้านหมาล่าและชาบูหม้อไฟในช่วงที่เศรษฐกิจบูมก่อนการระบาดของโควิด-19

แม้เวลาผ่านไปได้ไม่นานหลังเป็นที่สนใจของสังคม จนมีทั้งประชาชนชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวจีนที่แห่กันไปกินและจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่เป็นจำนวนมากเมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ทว่าปัจจุบันร้านอาหารจีนในย่านห้วยขวางกลับเปลี่ยนแปลงไปโดยซบเซาลงอย่างรวดเร็ว

“ประชาชาติธุรกิจ” ลงสำรวจพื้นที่ พบว่าล่าสุด “หม่าล่า หอม สดชื่น-หม้อไฟชูดู” ร้านดังบนตึกสีแดงที่ตั้งอยู่ทำเลใกล้สี่แยกห้วยขวาง และรถไฟฟ้า MRT ได้ขึ้นป้ายประกาศว่าบริษัทต้องการกลับไปพัฒนาที่ประเทศจีน โดยมีข้อความ ดังนี้

“บริษัทต้องกลับไปพัฒนาที่ประเทศจีน ประกาศ ตอนนี้บริษัท ซูดู ฮอท พอท จำกัด (สำนักงานใหญ่) หาเจ้าของใหม่หรือเทกโอเวอร์”

ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยังสำนักงานเขตห้วยขวาง พบว่ามีร้านหมาล่า ร้านอาหารจีน และร้านซูเปอร์มาร์เก็ตจีนปิดกิจการลงรวม 12 ร้าน ตลอดสองข้างทางของถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ รวมทั้งพื้นที่อื่นของเขตนอกจากถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญด้วย

“นายประพฤทธ์ หาญกิจจะกุล” สก.เขตห้วยขวาง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บรรยากาศตลอดถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญซบเซาลงอย่างชัดเจน จากการที่ร้านอาหารจีนจำนวนหนึ่งปิดกิจการลง เนื่องจากเมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา สำนักงานเขตห้วยขวางได้ลงไปกวดขันและตรวจสอบการประกอบธุรกิจของชาวจีนในพื้นที่ เพราะมีเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ เช่น คนจีนเข้ามาประกอบอาชีพอะไร ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลงก็มีผลกับบรรยากาศในพื้นที่ เนื่องจากชาวจีนเปลี่ยนเส้นทางท่องเที่ยวไปภูเก็ต สมุย พัทยา เกาะล้านมากกว่า กรุงเทพฯ กลายเป็นทางผ่านแทน ไม่ใช่จุดแวะเหมือนเมื่อก่อน เท่าที่ได้สอบถาม พบว่าชาวจีนเที่ยวในย่านนี้รวมทั้งในกรุงเทพฯ น้อยลง เมื่อมาไทยก็ตรงไปที่อื่นเลย

“เงียบมาประมาณ 3-4 เดือนแล้ว ตั้งแต่ต้นปี บรรดาร้านอาหารจีนบนถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญน่าจะสร้างเม็ดเงินสะพัดรวมกัน 30-40 ล้านบาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันคงลดลงมากว่าครึ่งหนึ่ง ประมาณ 15 ล้านบาทเท่านั้น” ประพฤทธ์กล่าว

ด้าน มติชน รายงานว่า เมื่อเวลาผ่านไป ในบางธุรกิจอย่าง “ร้านหมาล่า” จากเดิมที่กระแสมาแรง แต่เพราะผุดกันจำนวนมาก ท่ามกลางการแข่งขันสูง สวนทางกับดีมานด์ที่ยังมีไม่มากอย่างที่หวัง จึงทำให้ในบางร้านที่สู้ต่อไม่ไหวยอมถอยทัพปิดกิจการไป