เปิดใจ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ ผู้กำกับ ‘หลานม่า’ หนังที่ชวนให้นึกถึงตัวเองและครอบครัว

LAHNMAH-GDH

“หลานม่า” เปิดตัวแรง เข้าฉายวันแรกทำรายได้ 21 ล้านบาททั่วประเทศ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ “พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์” ผู้กำกับและร่วมเขียนบท ชวนอ่านเรื่องราวและรู้จักหลานม่าให้มากขึ้น ภาพยนตร์ที่ดูแล้วอาจทำให้ใครหลายคนย้อนนึกถึง “ตัวเอง” และ “ครอบครัว” 

“หลานม่า” เป็นภาพยนตร์ไทยแนวแฟมิลี่ดราม่าจากค่าย “GDH” ผลงานกำกับเรื่องแรกของ “พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์” และเขียนบทโดย “เป็ด-ทศพล ทิพย์ทินกร” นำแสดงโดย บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล, แต๋ว-อุษา เสมคำ, ดู๋-สัญญา คุณากร, เผือก-พงศธร จงวิลาส, เจีย-สฤญรัตน์ โทมัส และตู-ตะวัน ตันติเวชกุล

เรื่องราวของหลานม่าว่าด้วย “เอ็ม” (บิวกิ้น) ที่ตัดสินใจดรอปเรียนตอนปีสี่และจะหันมาเป็นนักแคสต์เกม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เอ็มที่อยากรวยจึงอาสาไปดูแล “อาม่า” (แต๋ว อุษา) ที่เป็นมะเร็งและอาจมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เพื่อหวังจะได้มรดกหลักล้าน

สาเหตุที่เอ็มเลือกวิธีนี้ เพราะเห็นว่า “มุ่ย” (ตู ต้นตะวัน) ลูกพี่ลูกน้องซึ่งอาสาดูแลอากงที่ป่วยระยะสุดท้ายกลายเป็นทายาทที่ได้รับมรดกเป็นบ้านราคากว่าสิบล้านเพียงคนเดียว เอ็มจึงเห็นว่าเส้นทางของการเป็นเศรษฐีรออยู่ตรงหน้า

แต่ช่วงเวลาที่เอ็มมาอยู่ด้วย กลับทำให้อาม่าหายเหงา เพราะปกติอาม่าต่างเฝ้ารอครอบครัว ทั้งลูกชายคนโต “กู๋เคี้ยง” (ดู๋ สัญญา), แม่ของเอ็มที่เป็นลูกสาวคนกลาง (เจีย สฤญรัตน์) และ “กู๋โส่ย” (เผือก พงศธร) ลูกชายคนเล็ก ที่จะมาหาพร้อมหน้ากันตามเทศกาลเท่านั้น

เมื่อหลานกับอาม่าที่อายุห่างกันถึง 50 ปี มาอยู่ร่วมกัน จึงมีโมเมนต์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย และสุดท้ายไม่น่าเชื่อว่างานที่เอ็มเริ่มต้นทำเพราะหวังรวย จะทำให้ได้รู้ว่าจักคำว่า “ครอบครัว” ที่มีค่ามากกว่าเงิน

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์” ผู้กำกับ หลานม่า ภาพยนตร์แสนเรียบง่ายที่ถ่ายทอดเรื่องราวของชีวิตจริง และอาจทำให้ทุกคนได้ย้อนกลับมานึกถึงชีวิตจริงของตัวเองและครอบครัวมากขึ้น

LAHNMAH-GDH
พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

กำกับเรื่องแรก ความสัมพันธ์ “หลาน-อาม่า”

“หนังเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เศร้าหรือหดหู่ เราเองก็ไม่สามารถดูหนังที่หดหู่ได้เหมือนกัน เราเคยทำหนังที่หดหู่และไม่อยากทำมันอีกเเล้ว ทุกคนที่ทำหลานม่ามีคีย์เวิร์ดหนึ่ง คือ คำว่า “ฮีลลิ่ง” ให้คนที่เข้าไปดูได้รู้สึกรับการเยียวยา พัฒน์ เริ่มบทสนทนากับประชาชาติธุรกิจ

จุดเริ่มต้นของหลานม่าเกิดจากบทที่เขียนขึ้นโดย “เป็ด-ทศพล ทิพย์ทินกร” ซึ่งมาจากความทรงจำเมื่อครั้งที่เขาเคยดูแลอาม่า จึงอยากบันทึกเรื่องราวนี้ให้กลายเป็นภาพยนตร์ แต่ไม่ได้เหมือนในภาพยนตร์ที่ฉายทั้งหมด เมื่อโปรดิวเซอร์เห็นว่าสามารถทำเป็นภาพยนตร์ได้ ไอเดียนั้นจึงถูกส่งมาให้พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ กำกับเป็นเรื่องแรก

พัฒน์เผยว่า เมื่ออ่านบทก็พบว่าเป็นความสัมพันธ์เล็ก ๆ ของหลานกับอาม่า แม้ตัวบทตอนแรกไม่ได้เป็นเหมือนในภาพยนตร์ 100% แต่เคมีและความสัมพันธ์ของทั้ง 2 คน ทำให้รู้สึกประทับใจ

ด้วยความที่เป็นการกำกับภาพยนตร์เรื่องเเรก หลังจากเคยผ่านงานซีรีส์มา พัฒน์ยอมรับว่านึกภาพไม่ออกว่าการทำหนังที่ต้องลงทุนมหาศาล ใช้ทีมงาน เวลา และทรัพยากรเป็นจำนวนมากจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญหนังที่คนส่วนใหญ่คิดว่าขายได้ ต้องเป็นหนังผี หนังตลก แต่ได้รับไฟเขียวให้ทำหนังแบบหลานม่าขึ้นมา จึงแปลกใจค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่รีรอ รีบคว้าโปรเจ็กต์นี้ทันที

การทำซีรีส์มาก่อนเป็นการปูพื้นฐานการทำภาพยนตร์ ทั้งการเล่าเรื่อง วิธีการถ่ายทำ วิธีการกำกับนักแสดง วิธีการใช้เพลง วิธีเลือกโลเกชั่น และการทำงานกับทีมงานคุณภาพ แต่อย่างไรก็ตามซีรีส์และภาพยนตร์ก็ยังมีความต่างกันมากอยู่ดี

กว่าจะมาเป็นภาพยนตร์หลานม่านั้นยากมาก ๆ แต่ก็เลือกทำเพราะความยากเช่นกัน จากแต่ก่อนทำซีรีส์ที่โฉบเฉี่ยววัยรุ่น ก็ไม่คิดว่าจะมีคนดึงมาทำหนังสไตล์นี้

หลานม่าใช้ระยะเวลาเขียนบทประมาณ 2 ปี เตรียมงานอีก 3-4 เดือน และถ่ายทำประมาณ 2 เดือน หรือ 25 คิว โพสต์โปรดักชั่นอีก 6 เดือน รวมแล้วร่วม 3 ปี เริ่มถ่ายตอนอาม่าอายุ 75 ปี ตอนนี้อายุ 78 ปีแล้ว

“ตัวเราจริง ๆ ชอบดูหนังแบบหลานม่า แต่ก็คิดว่าเกิดขึ้นยาก จึงทำให้ไม่เคยทำหนังแบบนี้ มันมีส่วนของชีวิตจริง ไม่ได้ดูเหนือจริงและไม่ได้ดูประดิษฐ์ขนาดนั้น แต่สุดท้ายในการทำหนังมันต้องดีไซน์ แต่เป็นการดีไซน์ให้มันดูสมจริง ดูเหมือนว่าไม่ดีไซน์ ซึ่งเป็นอะไรที่ยากที่สุด”

LAHNMAH-GDH

ความเป็นไปได้จากนักแสดงทุกคน

พัฒน์เผยว่าการเลือกนักแสดงหลานม่ามี 2 วิธี คือ เลือกเอง และผ่านการแคสติ้ง เช่น บทกู๋เคี้ยง ดู๋ สัญญา คือนักแสดงคนแรกที่นึกถึง ส่วนอีกหลาย ๆ บทก็จะแคสติ้งเข้ามาเพราะไม่แน่ใจว่าเมื่อแต่ละคนมาอยู่ในบทบาทนี้จะเป็นอย่างไร เช่น บิวกิ้น, เผือก-พงศธร และบทอาม่า โดย แต๋ว อุษา ด้วยเป็นต้น

เมื่อนักแสดงทุกคนมารวมกันในวันแรก นั่งอ่านบทและดูรีแอ็กชั่นที่มีต่อกัน วันนั้นทำให้พัฒน์เห็นว่าหลานม่าคือความเป็นไปได้ แม้จะยังไม่เหมือนที่คิดไว้ทั้งหมด ซึ่งก็ค่อย ๆ ปรับจูนกันมา

“ต้องขอบคุณทุกคนที่ยอมมาแคสต์กับเรา ทุกคนที่มาแคสต์เก่งทุกคน แค่ใช่ หรือไม่ใช่ กับภาพที่เราเห็นแค่นั้นเอง”

LAHNMAH-GDH
บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล (เอ็ม), แต๋ว-อุษา เสมคำ (อาม่า)

สำหรับบทอาม่า พัฒน์เล่าว่า แต๋ว อุษา เป็นศิลปินที่มีพรสวรรค์อยู่ในตัวตั้งแต่แรก เพียงแค่ยังไม่เคยเล่นภาพยนตร์เต็มตัว ยังไม่เคยทำงานกับโปรดักต์ชั่นอย่างจริงจังและยาวนาน ซึ่งความสามารถในการแสดงนั้นมีอยู่แล้ว ทีมงานมีหน้าที่แค่เอาตัวตนของ แต๋ว อุษา ออกมารวมกับตัวตนของอาม่า และทำให้มีชีวิตอยู่บนฟิล์ม

“ทุกคนบอกว่าการแสดงที่ยายแต๋วมอบให้เหมือนเวทมนตร์ ซึ่งไม่ได้สมจริงเพราะเขาแสดงให้เหมือนจริง แต่มันจริงเพราะยายแต๋วรู้สึกแบบนั้นจริง ๆ มันออกมาจากข้างใน เราเเค่เอากล้องไปตั้งและบันทึกสิ่งนั้นไว้เฉย ๆ”

สำหรับบิวกิ้นก็เช่นกัน เขาเป็นคนที่มีพรสวรรค์ทางด้านการเเสดง ทั้งยังมีความเซนซิทีฟทางอารมณ์สูง ซึ่งสามารถใช้สิ่งนั้นออกสู่หน้ากล้องได้

แน่นอนว่าบิวกิ้นผ่านการแสดงมามากมาย และมีหลายงานที่ต้องการให้เขาเป็นสิ่งต่าง ๆ เมื่อมาเจอกับเรื่องหลานม่า และไม่ได้ทำการแสดงมานานแล้ว ก็อาจจะยังไม่สามารถเชื่อมตัวเองเข้ากับบทเอ็มได้ในช่วงเเรก แต่เมื่อทำความเข้าใจตรงกันถึงปลายทาง และบิวกิ้นแสดงความเป็นตัวเองออกมา ก็เข้าใจบทเอ็มได้แบบไม่ยากเย็น

“การทำงานกับบิวกิ้น ทำให้เรารู้ว่าเขา ‘เก่ง-ดัง-ตั้งใจ-น่ารัก’ ทั้งหมดอยู่ในคนเดียว เรื่องนี้เป็นหนังเรื่องแรกของบิวกิ้นด้วย”

LAHNMAH-GDH
แต๋ว-อุษา เสมคำ (อาม่า), พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

อาม่าผู้กำกับ-อาม่าในภาพยนตร์

พัฒน์เผยว่า อันที่จริงเรื่องราวในภาพยนตร์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเหมือนกัน วันฉายรอบกาล่าก็พาอาม่า อายุ 91 ปี และครอบครัวมาดู พอดูจบแล้วครอบครัวก็ “งง” ไม่รู้ว่าต้องรู้สึกอย่างไร เพราะหนังให้ภาพเหมือนชีวิตจริงมากเกินไป เหมือนมีคนเอาชีวิตพวกเขาไปทำหนัง เขาเอาตัวเองเข้าไปเเทนในบท เหมือนเห็นคนอื่นมาเล่นเป็นตัวเองในไดอะล็อกที่เขาเคยพูดไว้ในชีวิตจริง

“ไม่คิดว่าจะเกิดภาพอย่างนี้ เพราะตอนแรกคิดภาพไว้ว่าต้องสวยงาม ผู้กำกับพาครอบครัวมาดูหนัง ต้องออกมาชื่นมื่น…เขาก็ชอบหนังมากนะ มีน้ำตาซึม แต่เขางง”

พัฒน์เล่าต่อว่า หลังจากดูภาพยนตร์รอบกาล่าจบ อาม่าของเขากลับบอกว่าหนัง “ธรรมดา” อาจเป็นเพราะอาม่าไม่รู้จะอธิบายอย่างไร ปกติอาม่าจะเข้านอนประมาณ 2 ทุ่ม แต่วันนั้นกลับถึงบ้านเกือบเที่ยงคืน อาม่าขอให้แม่ทำกับข้าวให้กินและนั่งอยู่เฉย ๆ พร้อมกับพูดขึ้นมาว่าหนังเรื่องนี้ต้องแก้ไข 2 จุด ซึ่งทุกวันนี้ตัวผู้กำกับเองก็ยังไม่รู้ว่า 2 จัดนั้นคืออะไร

เช้าวันต่อมาพัฒน์ถามอาม่าว่า เมื่อคืนร้องไห้ไหม อาม่าตอบว่าไม่ร้องหรอก ชีวิตจริงของอาม่าเศร้ากว่านี้เยอะ อาม่าเสียน้ำตามาเยอะแล้ว แต่พูดไปพูดมาน้ำตาของอาม่ากลับไหลมาเองโดยที่ไม่รู้ตัวว่าตัวเองร้องไห้

“อาม่าผมเป็นคนซับซ้อนมาก แสดงออกไม่เป็น…ก็เลยทำให้อาม่าในเรื่องเป็นคนซับซ้อนด้วย”

LAHNMAH-GDH

กลับมาย้อนดูชีวิตตัวเองและครอบครัว

จากกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม พัฒน์เผยว่า อาจะเป็นเพราะหลานม่าให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันในคนดูแต่ละคน ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงวันแรก ๆ ที่เริ่มคุยกันในทีมว่าภาพยนตร์จะออกมาเป็นแบบไหน และให้เกิดเป็นผลลัพธ์อย่างไรต่อคนดู ในแบบที่ไม่ได้บังคับหรือยัดเยียดคนดู

ทีมงานทำงานกันบนความรู้สึกที่ว่า เรารู้ว่าสิ่งนี้คือหนังคอมเมอร์เชียล แต่ทุกคนสามารถมอบคุณค่าในเชิงศิลปะได้ด้วย ทุกคนไม่ได้ทำเพื่อให้รู้สึกแค่ว่าหนังเป็นงานของตัวเอง แต่ทำให้คนดูรู้สึกไปพร้อมกับที่ทีมงานรู้สึก

“เราไม่ได้ทำหนังเล็ก ๆ แล้วมันบังเอิญออกไปสู่ผู้คนวงกว้าง แต่มันถูกคิดมาแล้วว่าจะต้องออกสู่ผู้คนวงกว้าง ด้วยวิธีการที่อาจจะไม่เคยเห็น เมื่อมันออกมาเป็นแบบนั้นจริง ๆ คนวงกว้างสามารถรู้สึกลึกซึ้ง รู้สึกอินเข้าไปในชีวิตของตัวเอง รู้สึกว่าหนังไม่ถีบเขาออกมา ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ยัดเยียดเขา”

พัฒน์เผยว่า ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยได้ทำงานที่ออกไปสู่สายตาประชาชนในวงกว้างขนาดนี้ หลานม่าถือเป็นงานแรก ในความรู้สึกลึก ๆ เมื่อก่อนมีความกลัวมหาศาลที่จะต้องสื่อสารกับคนหมู่มากขนาดนี้ เพราะกลัวคนมองเราไม่ดี ก็เลยอยู่เงียบ ๆ ของเราดีกว่า

แต่เมื่อหลานม่ากลายเป็นกระแสในวงกว้าง โดยภาพยนตร์ได้ทำหน้าที่ของตัวมันเอง กลายเป็นว่าสัมผัสได้ถึงความรู้สึกอบอุ่นที่เกิดขึ้นในใจของทุกคนที่ดูเรื่องนี้ แม้จะเพิ่งฉาย 4 เมษายน เป็นวันเเรกก็ตาม

หลานม่าถูกทำขึ้นมาจากความรู้สึกที่ครอบครัวมอบให้ และพยายามทำอย่างซื่อตรง ไม่ได้สะท้อนความอบอุ่นและความดีงามเพียงด้านเดียว แต่มีด้านความเป็นครอบครัวในชีวิตจริง

“วันนี้คนได้ดูสิ่งนี้ เหมือนไปเกิดอะไรในใจเขา และเขามอบกลับมาให้เรา ก่อนหน้านี้เราอาจจะกลัวเกินไปที่จะเจอกับคนดู วันนี้ดีใจมาก ๆ ที่หลายคนดูหนังเราและชอบหนังเรา…หลายคนที่ตัดสินใจว่าจะดูมั้ย เราก็ไม่ได้บังคับ แค่อยากให้รู้ว่างานนี้เป็นงานที่เราและทีมทำด้วยจุดประสงค์ที่กล่าวไปทั้งหมด”

เมื่อถามว่าคนดูจะได้อะไรจากภาพยนตร์เรื่องนี้ พัฒน์ตอบเพียงสั้น ๆ ว่า “ทุกคนอาจได้ลองกลับมานึกถึงชีวิตของตัวเองบ้าง”

LAHNMAH-GDH
บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล (เอ็ม), แต๋ว-อุษา เสมคำ (อาม่า)
LAHNMAH-GDH
บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล (เอ็ม), แต๋ว-อุษา เสมคำ (อาม่า)
LAHNMAH-GDH
เจีย-สฤญรัตน์ โทมัส (แม่ของเอ็ม), พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์
LAHNMAH-GDH
ตู-ตะวัน ตันติเวชกุล (มุ่ย)
LAHNMAH-GDH
เผือก-พงศธร จงวิลาส (กู๋โส่ย)
LAHNMAH-GDH
ดู๋-สัญญา คุณากร (กู๋เคี้ยง), เจีย-สฤญรัตน์ โทมัส (แม่ของเอ็ม)