พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง
ช่วงนี้ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนเป็นอันต้องสะดุดตากับโคมไฟสีแดงที่ประดับประดาอยู่ตามห้างร้านหรือริมถนนหนทาง เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงเทศกาลแห่งความสุขของชาวไทยเชื้อสายจีนที่กำลังจะมาถึง นั่นก็คือ “วันตรุษจีน” และไม่เพียงแต่เทศกาลตรุษจีนเท่านั้น เทศกาลอื่น ๆ ของชาวจีนอย่างวันสารทจีน เทศกาลกินเจ หรือเทศกาลไหว้พระจันทร์ต่างก็ได้รับความนิยมกันอย่างคึกคักเช่นกัน ทำให้เรารู้ได้ว่า ประชากรชาวจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีนในไทยมีจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว และเนื่องในวันตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง
“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงขอถือโอกาสพาท่านผู้อ่านไปสำรวจถึงที่มาที่ไปของเรื่องนี้กัน
จากจีนโพ้นทะเลสู่คนไทยเชื้อสายจีน
กว่า 14% หรือประมาณ 9 ล้านคนของสัดส่วนประชากรไทย คือจำนวนของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก ด้วยจำนวนที่มากขนาดนี้จึงส่งให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีประชากรเชื้อสายจีนมากที่สุดในโลก ชาวจีนที่เข้ามาล้วนผสมกลมกลืนไปกับความเป็นไทยด้วยการแต่งงานกับชาวไทย ทำให้ลูกหลานคนจีนตั้งแต่เจเนอเรชั่นที่ 2-3 สามารถพูดภาษาไทยได้อย่างคล่องแคล่ว และพูดภาษาจีนได้น้อยมากหรือไม่สามารถพูดได้เลย
คนจีนจำนวนมากเหล่านี้เข้ามาที่ไทยได้อย่างไร ? คนจีนที่อพยพเข้ามาในไทยส่วนใหญ่เป็นชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยน, ไหหลำ, แต้จิ๋ว, กวางตุ้ง, จีนแคะ และยังมีจีนหุยซึ่งเป็นชาวจีนเชื้อสายมุสลิมที่อพยพมาจากทางตอนเหนือของประเทศไทยในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้ชาวจีนส่วนใหญ่อพยพออกจากประเทศต้นทางก็คือ ความยากจน
ขณะนั้นประเทศจีนถูกปกครองโดยราชวงศ์ชิงซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์แมนจู ชาวจีนถือว่าจีนแมนจูเป็นกษัตริย์ต่างชาติไม่ใช่ราชวงศ์จีนแท้อย่างราชวงศ์ฮั่นที่เคยปกครองจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณ การปกครองในยุคนี้จึงเต็มไปด้วยการกดขี่ข่มเหงทั้งจากระบบเศรษฐกิจที่ยังเป็นระบอบศักดินา ทำให้คนจนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ มีก็แต่ชนชั้นปกครองและเหล่าขุนนางที่ได้รับประโยชน์จากการปกครองลักษณะนี้
ในเวลาเดียวกันนั้นเองจีนก็เต็มไปด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงภัยสงครามที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่สู้ดีอยู่แล้วยิ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นไปอีก ชาวจีนหลายคนโดยเฉพาะผู้ชายที่เป็นเสาหลักของครอบครัวจึงตัดสินใจละทิ้งแผ่นดินเกิดไปแสวงโชคในประเทศอื่นแทน และแน่นอนว่าประเทศไทยหรือสยามในขณะนั้นก็เป็นอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญของชาวจีนเช่นเดียวกัน
ชาวจีนกับการค้าเป็นของคู่กัน
ในสมัยอยุธยาชาวจีนส่วนใหญ่จะนำของจากประเทศตนเข้ามาขายในไทย และนำสินค้าจากไทยกลับไปขายยังประเทศจีนอีกทอดหนึ่ง ยาวมาจนถึงปลายรัตนโกสินทร์ อาชีพที่คนจีนนิยมอย่างมากคือ กุลีแบกหาม ด้วยนิสัยขยัน อดทน ประหยัด และไม่เกี่ยงงาน ไม่ว่าจะเป็นอาชีพที่เหนื่อย ลำบาก หรือสกปรกขนาดไหนชาวจีนไม่เคยเกี่ยง ขอเพียงได้เงินและสุจริตเป็นพอ
ภาพของชาวจีนแบกกระสอบข้าวสารและขนของลงเรือสินค้า จึงกลายเป็นภาพที่คุ้นชินในยุคนั้น หรือการประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่งานรับจ้างเบ็ดเตล็ดชาวจีนก็มักจะเลือกประกอบธุรกิจที่ชาวไทยแท้ไม่นิยมทำกัน อาทิ กิจการบริษัทรับทิ้งอุจจาระ
อีกหนึ่งอาชีพที่นิยมทำอย่างมากจนกลายเป็นซิกเนเจอร์ของชาวจีนไปแล้วก็คือ หาบเร่ค้าขาย ในช่วงแรกคนจีนทำการค้าขาย ด้วยการหาบเร่แบกหาม ทั้งก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ กระเพาะปลา เย็นตาโฟ ตือฮวน เรียกว่า อาหารจีนประเภทไหนที่มีฝีมือพอจะขายได้คนจีนทำขายหมด ด้วยนิสัยเก็บออมมัธยัสถ์หาบเร่ขายได้ไม่นานก็มีเงินเก็บมากพอที่จะเปิดหน้าร้านอย่างถาวรได้ นอกจากอาหารสำเร็จรูปเหล่านี้แล้ว ชาวจีนยังนำเข้าอาหารสดจำพวกปลาสด ปูสด หมูสด ไก่สด ผักสด และยังมีอาหารแปรรูปไม่ว่าจะเป็นหมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง เป็ดย่าง เต้าหู้นานาชนิดก็นำมาขายด้วยการบรรจุใส่ไหมาจากเมืองจีนนั่นเอง
การค้าในไทยโดยชาวจีนรุ่งเรืองถึงขีดสุด เพราะคนไทยส่วนใหญ่นิยมงานรับราชการ ทำให้คนจีนผูกขาดอาชีพการค้าในยุคนั้นแทบทั้งหมด สร้างความกังวลให้กับไทยถึงขนาดมีการออกนโยบายสร้างชาติที่มุ่งเน้นความเป็นชาตินิยม ปลุกใจให้คนไทยรู้สึกภาคภูมิใจในชาติกำเนิด และภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ เพราะเมื่อถึงเทศกาลตรุษจีนคราใดร้านรวงทั้งหลายก็พากันปิดโดยพร้อมเพรียงกันดังที่จอมพล ป.เคยให้สัมภาษณ์ถึงคนจีนไว้ว่า “รู้สึกเจ็บใจที่ถึงตรุษจีนทีไรเจ๊กปิดร้านขายของหมด หมูก็ไม่มีกิน กับข้าวก็ไม่มีขาย เป็นเพราะคนไทยชอบแต่สบาย ทำราชการ ไม่รู้จักหัดทำมาค้าขายกับเขาบ้าง”
จีนไทย : การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม
แน่นอนว่า การผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมและประเพณีหลายประการของชาวจีนผูกติดกับไทยอย่างสนิทแนบแน่นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต อาหารการกิน การแต่งกาย ภาษา สิ่งของเครื่องใช้ วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และศาสนา
ด้านความเชื่อทางศาสนาคนไทยรับมาทั้งการบูชาบรรพบุรุษ การนับถือเจ้า เทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลกินเจที่ไม่เพียงแต่ชาวไทยเชื้อสายจีนเท่านั้น แต่ชาวไทยหลายคนก็นิยมถือศีลกินผักในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมีความเชื่อว่า เป็นการชำระล้างร่างกายและจิตใจ ละเว้นจากการเบียดเบียนสรรพสัตว์ซึ่งก็ตรงกับความเชื่อของชาวไทยพุทธ เพราะถือว่าเป็นการทำบุญและรักษาศีลไปพร้อม ๆ กัน
ส่วนพวกข้าวของเครื่องใช้ไทยได้รับอิทธิพลจากจีนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง ด้วยการค้าแบบรัฐบรรณาการทำให้ไทยได้รู้จักสินค้าจากจีนหลายชนิด เช่น อัญมณี เครื่องเคลือบลายคราม ผ้าไหม ผ้าแพร กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น พัด เครื่องประดับทำด้วยโลหะ หนัง เงิน หมึกจีน ทองแท่ง ผักดอง ผลไม้ตากแห้ง ใบชา และเครื่องยาจีน เมื่อข้าวของพวกนี้ถูกส่งเข้าไปในวัง ของที่เหลือก็จะถูกส่งออกจากวังขายให้สามัญชนต่อไป
วัฒนธรรมอาหารที่เห็นชัดเจน อย่างเช่น บรรดาเมนูอาหารเส้น ทั้งก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ กวยจั๊บที่กลายเป็นอาหารหลักของไทย หรือข้าวต้มกุ๊ย ซาลาเปา ผัดซีอิ๊ว ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน รวมถึงขนมจันอับที่กลายเป็นขนมที่มีบทบาทในวัฒนธรรมไทยและถูกนำมาใช้ในพิธีแต่งงานของคนไทยอย่างแพร่หลาย
จีนกับบทบาทภาคธุรกิจไทยในปัจจุบัน
ธุรกิจจำนวนมากในไทยอยู่ภายใต้การบริหารและการก่อตั้งของคนไทยเชื้อสายจีนทั้งสิ้น เพราะคนไทยส่วนใหญ่เน้นไปที่การทำการเกษตร ในขณะที่จีนมุ่งเน้นกิจกรรมเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ซึ่งในปี พ.ศ. 2513 ร้านค้า ธนาคาร และโรงงานในกรุงเทพฯ ประมาณ 75% เป็นของชาวจีน ปี พ.ศ. 2538 มีคนไทยเชื้อสายจีน 11 คนถูกจัดสถิติ โดยระบุว่า เป็นมหาเศรษฐีเงินดอลลาร์ และในเวลาเดียวกันธนาคารพาณิชย์ 12 จาก 15 แห่งในไทยก็ถือครองโดยครอบครัวชาวจีนทั้งหมด
จนถึงปัจจุบันเราสามารถพบคนจีนได้แทบทุกส่วนในไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือในเมืองอุตสาหกรรมสำคัญทางภาคใต้ที่มีชาวจีนฮากกาอพยพมาพร้อมกับการบุกเบิกพื้นที่ให้กับพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยอย่างยางพารา รวมถึงการทำเหมืองแร่ดีบุก เป็นเหตุให้เราพบเห็นบรรยากาศช่วงเทศกาลกินเจและตรุษจีนทางภาคใต้แถบภูเก็ต พังงา สงขลา นครศรีธรรมราช ชุมพร คึกคักอยู่เสมอ
วัฒนธรรมไทย-จีนผสมผสานกันกลมกล่อม แม้ชาวจีนหลายคนจะมีหน้าตาออกไปทางตี๋-หมวย แต่ก็นับรวมว่าตนเป็นคนไทย ในขณะที่คนไทยหลายคนก็รับเอาวัฒนธรรมจีนมาผสมผสานในชีวิตประจำวันควบคู่ไปกับประเพณีไทยได้อย่างลงตัว